logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: ลงทุน

All Season Portfolio กลยุทธ์การลงทุนให้ได้ผลตอบแทนที่ดีในทุกวิกฤติ

โดย กชจุฑา เพียรวนิช ที่ปรึกษาการเงิน AFPTTM

 

เราเคยมีความสงสัยหรือความกังวลกับคำถามเหล่านี้มั้ย

 

  • ตอนนี้เป็นเวลาที่ดีที่เราควรเริ่มลงทุนแล้วรึเปล่า
  • เรากลัวเข้าไปผิดเวลาแล้วตลาดหุ้นปรับลงต่อ
  • ทำไมเราไม่รอให้ตลาดหุ้นเกิดวิกฤติก่อนแล้วค่อยลงทุน
  • เราควรรอให้ตลาดหุ้นผ่านจุดต่ำสุดไปก่อน แล้วค่อยเริ่มลงทุนสิ
  • อยากซื้อหุ้น ณ จุดต่ำสุดของตลาด

คำถามเหล่านี้เป็นเรื่องของความกลัวและความโลภซึ่งเป็นสองอารมณ์หลักของนักลงทุนในตลาดหุ้น ซึ่งนี่เป็นเรื่องปกติและเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ ตลาดหุ้นขึ้นและลงตลอดเวลาเป็นเรื่องธรรมชาติเปรียบได้กับฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลงตลอด ไม่สามารถควบคุมได้ จึงส่งผลให้เรารู้สึกกลัวและกังวลเพราะมีปัจจัยภายนอกมากมายที่ส่งผลกระทบกับตลาดหุ้น ความไม่แน่นอนไม่ว่าจะเป็นโรคระบาด COVID-19 วิกฤติเศรษฐกิจ สงคราม สถานการณ์จะแย่แค่ไหนและนานเท่าไร? สิ่งนี้ทำให้เรารู้สึกไม่มั่นคง ไม่แน่ใจและไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร

 

แต่เราสามารถเตรียมตัวให้พร้อมอยู่เสมอตั้งแต่ตอนนี้ไม่ว่าตลาดหุ้นจะผันผวนแค่ไหน เราสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีและลดความเสี่ยงจากการลงทุน ด้วยการศึกษารูปแบบการขึ้นลงของตลาดหุ้นในระยะยาว ศึกษาวิธีการลงทุนและแนวคิดของนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จ  และตัดสินใจลงทุนอย่างมีเหตุผลภายใต้ความรู้ข้อมูลและการเตรียมตัวที่ดี เช่น จัดสรรเงินมาลงทุนตามเป้าหมาย ติดตามข่าวสารเศรษฐกิจ เป็นต้น

 

ดังคำกล่าวของคุณปู่ Warren Buffett

RISK COMES FROM NOT KNOWING WHAT YOU’RE DOING

(ความเสี่ยงเกิดจากการที่คุณไม่รู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่)

 

กลยุทธ์ที่ผู้เขียนจะแนะนำต่อจากนี้ มาจากประสบการณ์จริงของนักลงทุนระดับโลกที่ให้สัมภาษณ์ในหนังสือ Unshakable เขียนโดย Tony Robbins (Tony เป็นนักพูดสร้างแรงบันดาลใจระดับโลก นักเขียน เจ้าของธุรกิจ และ นักลงทุน) Tony Robbins ใช้เวลา 7 ปี ในการสัมภาษณ์และรวบรวมข้อมูลจากนักลงทุนระดับโลกกว่า 50 คน ไม่ว่าจะเป็น Warren Buffett, Ray Dalio, Jack Bogle, Paul Tudor และคนอื่นๆ เพื่อมาอธิบายหลักการลงทุนที่เข้าใจได้ง่ายให้นักลงทุนทุกคนสามารถทำตามได้

 

ในบทความนี้ผู้เขียนสรุปหลักการสร้างพอร์ตการลงทุนอย่างง่าย 2 ขั้นตอน ที่สามารถช่วยเราควบคุมพอร์ตตัวเองได้ทุกสถานการณ์ เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนได้สูงสุดและบริหารความเสี่ยงให้พร้อมสำหรับทุกช่วงเวลา เราจะได้ไม่ตกใจกลัวเทขายหุ้นหรือหนีออกไปจากตลาดหุ้นเมื่อเกิดวิกฤติ

 

กลยุทธ์การลงทุน 2 ขั้นตอน

  1. การจัดสัดส่วนการลงทุน (Asset Allocation) ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด
  2. ปรับสัดส่วนการลงทุน (Rebalance)

รูป 1 : กลยุทธ์การลงทุนทุกช่วงเวลา

 

1. การจัดสัดส่วนการลงทุน (Asset Allocation)

ถือเป็นพื้นฐานและปัจจัยสำคัญของการจัดพอร์ตการลงทุน ด้วยการกระจายความเสี่ยง (Diversification) ซึ่งประกอบไปด้วย 4 ส่วนสำคัญดังนี้

 

1.1 กระจายการลงทุนในสินทรัพย์ที่แตกต่างกัน: แทนที่เราจะลงทุนในอสังหาฯ หุ้นหรือทองคำเพียงอย่างเดียว เราควรที่จะกระจายการลงทุนหลากหลายสินทรัพย์ เช่น เงินสด หุ้น ตราสารหนี้ อสังหาฯ หรือทองคำ เป็นต้น

 

1.2 กระจายลงทุนในหลายอุตสาหกรรม: อธิบายง่ายๆ คือ การลงทุนในหุ้น เราไม่ควรที่จะถือหุ้นตัวเดียว แต่ควรลงทุนหุ้นหลายตัวในหลายธุรกิจ เช่น ธนาคาร ค้าปลีก โรงแรม เป็นต้น

 

1.3 กระจายข้ามตลาด ประเทศ และค่าเงินทั่วโลก: อย่าลงทุนเพียงแค่ในประเทศไทย ประเทศเดียว (ตลาดหุ้นไทยมีสัดส่วนไม่ถึง 1% ของตลาดหุ้นทั่วโลก) ควรลงทุนในต่างประเทศด้วย ไม่ว่าจะเป็นอเมริกา จีน ญี่ปุ่น ยุโรป เป็นต้น

 

1.4 กระจายช่วงเวลา: เราไม่มีทางรู้ว่า เวลาไหนเป็นเวลาที่ถูกต้องในการซื้อ ดังนั้นเราควรทำให้การลงทุนเป็นเรื่องอัตโนมัติคือ ลงทุนเป็นประจำทุกเดือนหรือทุกปี (วิธี Dollar-cost averaging) การลงทุนที่สม่ำเสมอนี้จะช่วยตัดความกังวลหรือความลังเลใจในการตัดสินใจลงทุน เนื่องจากปัจจัยภายนอกที่มากระทบตลาดหุ้นในระยะสั้นได้

 

ทำไมพอร์ตการลงทุนต้องกระจายความเสี่ยง (Diversification)? นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จระดับโลกหลายคน ไม่ว่าจะเป็น Paul Tudor, Jack Bogle, Warren Buffett, Howard Marks and JPMorgan’s Mary Callahan Erdose กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุดที่นักลงทุนสามารถ เพิ่มผลตอบแทนสูงสุดและลดความเสี่ยงต่ำสุด คือการกระจายพอร์ตการลงทุนของเรา (diversify your portfolio)

 

จัดพอร์ตอย่างไร? มี 2 ปัจจัยที่ต้องนำมาพิจารณาในการจัดพอร์ต คือ ความเสี่ยงที่เรารับได้และระยะเวลาลงทุน

 

รูป 2 : ตัวอย่างพอร์ตการลงทุนตามระยะเวลา

 

สรุปการทำ Asset Allocation เพื่อจัดสัดส่วนสินทรัพย์ให้เหมาะสมกับกับเป้าหมายการเงิน เฉพาะของแต่ละคน ให้ตรงกับผลตอบแทนคาดหวังที่เราต้องการ ความเสี่ยงที่เรารับได้และระยะเวลาในการลงทุน

 

2. ปรับพอร์ตการลงทุน (Rebalance)

คือการทำให้พอร์ตการลงทุนให้กลับมาสู่สัดส่วนการลงทุนเริ่มต้น เราควรทำ Rebalance บ่อยแค่ไหน? อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หรือ เมื่อตลาดปรับตัวลงมากกว่า 20% จากรูปที่ 2 สมมติว่าตอนเริ่มลงทุนเราจัดพอร์ตลงทุนสัดส่วน หุ้น 50% ตราสารหนี้ 50% เมื่อเวลาผ่านไป 1 ปี ตลาดหุ้นตกทำให้สัดส่วนการลงทุนเปลี่ยนเป็น หุ้น 40% ตราสารหนี้ 60% เมื่อครบ 1 ปีให้เราทำ rebalance ด้วยการขายตราสารหนี้ออก 10% และไปซื้อหุ้น 10%

 

ข้อดีของการทำ Rebalance นอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงของพอร์ตและยังช่วยเพิ่มผลตอบแทนด้วย เพราะเราได้ซื้อหุ้นราคาถูก (ตลาดหุ้นลง) และได้ขายราคาแพง (ตลาดหุ้นขึ้น)

 

รูปที่ 3: วิธีการปรับพอร์ตจากพอร์ตเริ่มต้นที่ หุ้น 50% ตราสารหนี้ 50%

 

สรุป

การลงทุนที่ดีที่สุดคือ ลงทุนในสิ่งที่เราเข้าใจมากที่สุด เพราะจะช่วยลดความเสี่ยงได้มากกว่าลงทุนในสิ่งที่เราไม่เข้าใจหรือคนอื่นบอกว่าดี การจัดสรรการลงทุน (Asset Allocation) และปรับพอร์ต (Rebalance) ที่แนะนำช่วยควบคุมพอร์ตการลงทุนของเราได้และไม่ต้องกังวลกับเศรษฐกิจและปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้

 

หนังสืออ้างอิง

  • The Simple Path to Wealth by JL Collins
  • Unshakable by Tony Robbin
ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th