logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: บริหารจัดการเงิน

วิธี 6 ป. สร้างเส้นทางปลดหนี้แบบยั่งยืน

โดย ยงยุทธ ภาคาเพียร ที่ปรึกษาการเงิน AFPTTM

 

หยุดเสียที่เถิด กับการมีชีวิตเป็นหนี้ที่แสนหดหู่บ่งถึงการใช้เข็มทิศชีวิตที่ไม่มีอนาคต ถึงเวลาที่จะต้องมาปรับเปลี่ยนชีวิตกันใหม่ด้วยแนวความคิด  “วิธี 6 ป. สร้างเส้นทางปลดหนี้แบบยั่งยืน” แนวคิดนี้อาจจะเป็นทางออกอีกทางหนึ่ง เพื่อใช้เลือกวางแผนเส้นทางการเงินของชีวิตคุณที่ยังเป็นหนี้สินล้นพ้นตัวอยู่  เอาล่ะ คราวนี้เรามาตั้งต้นพิชิตการเริ่มปลดหนี้ด้วย วิธี 6 ป. กันเลย

 

วิธีการสร้างเส้นทางแต่ละขั้นตอน มีดังนี้

  1. ป.ปรับ: โดยเริ่มต้นจากการปรับความคิด หยุดสร้างหนี้เพิ่มขึ้นอีกทันที แล้วลองกลับมานั่งคิดตั้งสติ ไตร่ตรองว่าเรามีเป้าหมายในการที่จะปลดหนี้ให้หมดด้วยตัวของเราเองหรือไม่ ถ้าใช่ แสดงว่าคุณมีใจที่พร้อมระดับหนึ่งแล้ว เพราะกำลังใจหรือแรงบันดาลใจนั้นถือว่าเป็นสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่จะทำผลักดันให้คุณพิชิตเป้าหมายของการปลดหนี้ในครั้งนี้ได้
  2. ป.เปลี่ยน: สำหรับขั้นตอนนี้คือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เรื่องการใช้จ่ายทางด้านการเงิน ทั้งรายวันรายเดือนที่ชัดเจน เช่น ลำดับความสำคัญของการลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออก หรือการติดตามตัวเลขงบประมาณของการใช้จ่ายด้วยตนเองง่ายๆ โดยหันมาเริ่มวางแผนจัดทำงบประมาณการใช้จ่ายของตัวคุณ เพื่อควบคุมแผนการปลดหนี้ให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลได้อย่างใจหวัง
  3. ป.แปลน: จะหมายถึงการออกแบบแปลนด้วยการวางแผนปลดหนี้ โดยเริ่มตั้งเป้าหมายที่จะปลดหนี้ว่าจะมีมูลค่าเท่าใดแล้วจะเสร็จสิ้นเมื่อใด ตรวจสอบรายการยอดหนี้คงเหลือ วิเคราะห์สถานะของหนี้สินของคุณ แล้วพิจารณาความสำคัญในการชำระหนี้คืน อาจใช้วิธีตรวจดูต้นทุนดอกเบี้ยที่แพงที่สุดหรือมูลหนี้คงเหลือที่มีโอกาสหมดเร็วที่สุดก่อนก็ได้ ถือว่าเป็นวิธีที่ง่ายๆ ในการเริ่มปลดหนี้ด้วยเช่นกัน เพราะจะทำให้เราเห็นภาพของโอกาสความเป็นจริงมากขึ้นว่าจะสำเร็จไหม ในการปลดหนี้ของคุณ
  4. ป.ปลด: ขั้นตอนนี้เป็นการเริ่มปฏิบัติการปลดหนี้จริงด้วยเทคนิควิธีตามความเหมาะสมที่แตกต่างกันไป เช่น หากยอดหนี้ไม่เยอะเราก็อาจจะใช้วิธีการโปะทั้งหมดเลยก็ได้ ถ้าไม่มีผลกระทบอะไรกับสภาพคล่องของเรา แต่ถ้าหากยอดหนี้มากพอสมควร อาจจะเลือกแบ่งสัดส่วนการผ่อนชำระคืนโดยคำนึงถึงต้นทุนดอกเบี้ยที่เสียไปเป็นหลัก หรืออาจเน้นผ่อนก้อนหนี้ที่ปิดได้เร็ว อย่างน้อยก็เป็นการสร้างกำลังใจที่ดีอย่างหนึ่ง แต่ถ้าหากสถานการณ์อยู่ในวิกฤตที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก อาจจะต้องมีการเจรจากับเจ้าหนี้หรือสถาบันการเงินเป็นกรณีไป ทั้งหมดนี้ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของแต่ละคนว่าจะหนักหนาสาหัสแค่ไหน
  5. ป.ปิด: แนวความคิดนี้คือมีเจตนาต้องการปิดโอกาสในการกลับมาสร้างวงจรหนี้เดิม ด้วยคำว่า “มีวินัย” ให้คำนึงอยู่เสมอว่าเป้าหมายการปลดหนี้อยู่แค่เอื้อมด้วยตัวเราเอง มีความสม่ำเสมอในการผ่อนชำระ อย่าเอาตัวเราเข้าไปอยู่ในกิเลสการตลาดสำหรับในการใช้จ่ายชีวิตประจำวัน ความพอเพียงเท่านั้นที่จะให้คุณไม่กลับไปเป็นหนี้แบบเดิมๆอีก
  6. ป.ปลูก: สำหรับขั้นตอนนี้ถือว่าเป็นความต่อเนื่องของชีวิตการเงินของคุณเลยที่เดียว ไม่ว่าจะอยู่ในสภาวะที่กำลังปลดหนี้อยู่หรือหลังจากที่ปลดหนี้สำเร็จแล้ว เราจะต้องค่อยๆ เริ่มปลูกสร้างภูมิคุ้มกันชีวิตใหม่ สร้างเครดิตที่ดีของเราใหม่ สร้างทรัพย์สินให้งอกเงยใหม่ของตัวเราเอง ด้วยการวางแผนการเงินที่เป็นระบบแบบง่ายๆ ตั้งแต่การทำบัญชีรายรับ-จ่าย จัดทำงบประมาณใช้จ่าย  การตรวจสอบยอดหนี้สินคงเหลือ ตรวจดูสภาพคล่องการเงินที่เหมาะสมกับตัวคุณ และควรปกป้องความเสี่ยงทั้งด้านชีวิต ร่างกาย อนามัยและทรัพย์สินของเราและครอบครัว หมั่นเก็บออมลงทุนทีละเล็กทีละน้อยเมื่อมีโอกาส แล้วค่อยทะยานก้าวสู่ความมั่งคั่งและมั่นคงอีกครั้ง หลังจากที่มีการปลดหนี้สำเร็จแล้ว และคำว่า “การเป็นหนี้” จะไม่กลับมาหลอกหลอนคุณอีกเลย

ดังนั้นเพื่อให้เราทุกคนมีชีวิตที่ไม่เป็นทุกข์ของการเป็นหนี้ ที่ครอบงำความสุขมาตลอดชีวิตอีกต่อไป วันนี้เราควรรีบหยุดวิกฤตความทุกข์แห่งการเป็นหนี้นั้นเสีย และเริ่มกันปลดความทุกข์นั้นออกให้หมดสิ้นกันเถอะ ด้วยแนวคิดง่ายๆ “วิธี 6 ป. สร้างเส้นทางปลดหนี้แบบยั่งยืน”  พร้อมกับรีบลงมือทำก่อนที่จะสายเกินไป จากการเป็นหนี้สินล้นพ้นตัว จะคร่าชีวิตเราและครอบครัว ทำให้หาแสงสว่างความสุขที่ไม่มีวันเจอสักครั้งในชีวิตอีกเลย

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th