logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: บริหารจัดการเงิน

อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของเงินฝากกับผลกระทบต่อเป้าหมายการเงิน

โดย นรินทร์ เอกวงศ์วิริยะ นักวางแผนการเงิน CFP®

 

การฝากเงินกับธนาคาร อัตราดอกเบี้ยที่ได้รับนั้นเรียกว่า อัตราดอกเบี้ยที่ระบุไว้ (Nominal Interest Rate) ตัวเลขอัตราดอกเบี้ยนี้ไม่ได้สะท้อนถึงผลตอบแทนหรืออัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real Interest Rate) ของเงินที่ออมไว้กับบัญชีเงินฝาก เพราะไม่ได้นำเรื่องมูลค่าที่แท้จริงหรืออำนาจซื้อของเงินที่เปลี่ยนแปลงไปตามอัตราเงินเฟ้อ (Inflation Rate) มาปรับลด หากอัตราดอกเบี้ยที่เราได้รับคือ 1.0% แต่อัตราเงินเฟ้อคือ 1.5% ผลตอบแทนจากเงินฝากน้อยกว่า เป็นผลของเงินเฟ้อ เท่ากับว่ามูลค่าที่แท้จริงของเงินฝากจะลดลงไปเรื่อยๆ ตามเวลา

 

เราจึงควรดูจากอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง ซึ่งก็คือ อัตราดอกเบี้ยที่ปรับลดอัตราเงินเฟ้อแล้วนั่นเอง เช่น บัญชีเงินฝากระบุอัตราดอกเบี้ยปีละ 3% แต่ในปีนั้นมีอัตราเงินเฟ้อ 1.5% อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงที่จะได้รับจากบัญชีนั้น คือ 1.5% (3.0% - 1.5%)

 

นอกจากนี้ ดอกเบี้ยจากบัญชีเงินฝาก ยังมีภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% ที่ธนาคารหักจากดอกเบี้ยที่เราได้รับด้วย อัตราดอกเบี้ย 3% เราจะได้รับเงินเพียง 2.55% เท่านั้น อัตราดอกเบี้ยแท้จริงหลังจากถูกหักภาษีจึงเท่ากับ 1.05% (2.55% - 1.5%)

 

เราลองมาดูอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทฝากประจำระยะเวลา 1 ปี โดยเลือกอัตราดอกเบี้ยจาก 5 ธนาคารใหญ่มาดูว่า อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงที่เราได้รับจากเงินฝากที่ครบกำหนด 1 ปี เท่ากับเท่าไหร่

 

 

เห็นได้ว่าช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อัตราดอกเบี้ยแท้จริงของเงินฝากต่ำกว่า 1% และหากต้องหักภาษี 15% บางปีเราแทบไม่สามารถคงค่าของเงินต้นที่มีอยู่จากการที่มีผลตอบแทนจริงต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ

 

ถ้าบัญชีเงินฝากนั้นไม่ใช่เงินฝากประจำระยะเวลา 1 ปีอัตราดอกเบี้ยก็มีผลตอบแทนที่ต่ำลงไปอีก ลองมาดูอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของบัญชีเงินฝากประเภทต่างๆ ในปี 2563 กันว่าเป็นอย่างไรบ้าง ผลตอบแทนหรืออัตราดอกเบี้ยแท้จริงจากบัญชีออมทรัพย์มีค่าติดลบ บัญชีเงินฝากออมทรัพย์จึงควรเป็นบัญชีที่เรามีไว้เพื่อสภาพคล่องหรือการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเป็นหลัก ไม่ใช่บัญชีเพื่อการออมระยะยาว เงินในบัญชีออมทรัพย์ที่มีสูงเกินกว่าการใช้จ่ายจะทำให้เสียโอกาสในการสร้างผลตอบแทนจากการนำไปลงทุน

 

 

การวางแผนเพื่อเป้าหมายการเงินระยะยาวต้องคำนึงถึงอำนาจซื้อของเงินในระยะยาวด้วย ลองนึกถึงราคาก๋วยเตี๋ยวที่จ่ายในตอนนี้ราคาชามละ 40 บาท เมื่อสิบปีก่อนอาจมีราคาเพียงชามละ 25 บาท ถ้าเมื่อสิบปีก่อนเรากำหนดเป้าหมายการเงินโดยใช้ค่าของเงินในเวลานั้น แม้เราจะมีบรรลุจำนวนเงินที่วางแผนไว้ แต่ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่แท้จริงเพราะค่าของเงินที่ลดลง

 

เมื่ออัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของเงินฝากธนาคารมีผลตอบแทนที่ต่ำ ผลตอบแทนจากการฝากเงินไม่สามารถช่วยให้เราไปถึงเป้าหมายทางการเงินระยะยาวได้ เรายิ่งต้องใช้การออมเพิ่มขึ้นเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายการเงิน และควรเลือกวิธีการกระจายสินทรัพย์การลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงของเรา เพื่อสร้างผลตอบแทนเพิ่มขึ้นเพื่อให้สามารถบรรลุแต่ละเป้าหมายการเงินได้ง่ายขึ้น การกระจายสินทรัพย์การลงทุนเพื่อผลตอบแทนการลงทุนที่สูงขึ้น ซึ่งต้องคำนึงถึงระดับความเสี่ยงของพอร์ตฯ และมีการกระจายสินทรัพย์ให้เหมาะกับ

 

  • ระดับการยอมรับความเสี่ยงของผู้ลงทุน

  • ความสำคัญของแต่ละเป้าหมายการเงิน

  • ระยะเวลาของการลงทุน

การลงทุนผ่านสินทรัพย์การเงินได้มีข้อกำหนดให้เราต้องทำการประเมินระดับความเสี่ยงเพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน กรณีที่เป็นเป้าหมายที่สำคัญมากมักได้รับคำแนะนำให้ลงทุนตามระดับความเสี่ยงที่ประเมินได้ แต่หากเป็นเป้าหมายการเงินที่ไม่สำคัญนักหรือมีระยะเวลาการลงทุนที่ยาว อาจจะเลือกลงทุนในสินทรัพย์การเงินที่มีระดับความเสี่ยงสูงขึ้นบ้าง

 

เมื่อเห็นประโยชน์ของการกระจายสินทรัพย์ลงทุนหรือการสร้างพอร์ตโฟลิโอลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนเพิ่มขึ้นแล้ว เราสามารถเริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการปรับเงินบางส่วนไปลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีการกระจายการลงทุนที่สอดคล้องกับพอร์ตโฟลิโอ เช่น กองทุนรวมประเภทต่างๆ เป็นต้น ควบคู่ไปกับการหาความรู้และความเข้าใจในเรื่องการลงทุนเพื่อให้เราสามารถบรรลุเป้าหมายทางการเงินได้

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th