logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: ประกันภัย

ชำระเบี้ยประกันชีวิตไม่ไหว ทำอย่างไรดี

โดย นิชฌานี ฉันทศาสตร์ นักวางแผนการเงิน CFP®

 

สำหรับผู้ที่ทำประกันชีวิตมาได้ระยะเวลาหนึ่ง แล้วเกิดปัญหาไม่สามารถชำระเบี้ยประกันได้ทันตามกำหนด อย่างช่วงนี้ที่การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้หลายธุรกิจหยุดชะงัก หลายคนตกงานขาดรายได้ หรือบางคนยังมีงานทำ แต่ถูกปรับลดเงินเดือน ทำให้ไม่มีเงินเพียงพอมาชำระเบี้ยประกัน หรือได้กันเงินไว้สำหรับชำระเบี้ยประกันแล้ว แต่มีเหตุฉุกเฉิน เกิดเจ็บป่วย หรือเกิดอุบัติเหตุ ต้องนำเงินออมนั้นมาใช้จ่าย เมื่อประสบเหตุการณ์เช่นนี้ เราสามารถทำอย่างไรได้บ้างนั้น บทความนี้มีคำแนะนำ

 

หากเราทำประกันชีวิตไว้ แต่เมื่อใกล้วันครบกำหนดชำระเบี้ยประกัน ไม่สามารถชำระค่าเบี้ยประกันได้ ทางออกเมื่อชำระเบี้ยประกันไม่ไหว มี 3 แนวทางหลักๆ ด้วยกัน

 

  1. ชำระเบี้ยประกันในช่วงระยะเวลาผ่อนผัน

  2. ขอเปลี่ยนแปลงงวดการชำระเบี้ยประกัน

  3. หยุดจ่ายเบี้ยประกัน

 

 แนวทางแรก “ชำระเบี้ยประกันในช่วงระยะเวลาผ่อนผัน” 

 

เมื่อถึงวันครบกำหนดชำระเบี้ยประกัน แต่ผู้ทำประกันยังไม่ได้ชำระค่าเบี้ยประกัน ยังไม่ต้องเป็นกังวลว่ากรมธรรม์จะหมดความคุ้มครองลง เนื่องจากบริษัทประกันจะมีระยะเวลาผ่อนผันให้ 31 วันนับตั้งแต่วันครบกำหนดชำระเบี้ยประกัน โดยผู้ทำประกันยังคงได้รับความคุ้มครองตามปกติ ซึ่งช่วงระยะเวลาผ่อนผันนี้ ผู้ทำประกันยังพอมีเวลาในการจัดหาเงินให้เพียงพอสำหรับชำระค่าเบี้ยประกัน หรือหากบริษัทประกันให้ชำระเบี้ยประกันด้วยบัตรเครดิตได้ ก็จะทำให้รอบบัญชีในการชำระเงินเลื่อนออกไปอีก ทำให้เกิดความคล่องตัวในการชำระเบี้ยประกันมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ต้องมั่นใจว่า เมื่อถึงกำหนดชำระบัตรเครดิต จะมีเงินเพียงพอ เพื่อไม่ต้องเสียดอกเบี้ยบัตรเครดิต

 

 แนวทางที่สอง “ขอเปลี่ยนแปลงงวดการชำระเบี้ยประกันภัย” 

 

โดยทั่วไปการชำระเบี้ยประกันสามารถชำระเป็นรายปี หรือจ่ายเป็นงวดน้อยกว่า 1 ปี เช่น รายเดือน ราย 3 เดือน หรือ 6 เดือน ขึ้นอยู่กับแบบกรมธรรม์ ซึ่งผู้ทำประกันสามารถสอบถามการเปลี่ยนแปลงงวดการชำระเบี้ยประกันจากบริษัทประกันหรือตัวแทนที่เราติดต่อด้วย การขอเปลี่ยนแปลงงวดการชำระเบี้ยประกัน เช่น จากรายปี เป็นราย 3 เดือน 6 เดือน ช่วยให้ไม่ต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันด้วยเงินก้อนใหญ่ แต่ค่อยๆ ทยอยจ่ายเบี้ยประกัน โดยได้รับความคุ้มครองจากกรมธรรม์ตามเดิม อย่างไรก็ตาม ยิ่งผู้ทำประกันเลือกจ่ายเบี้ยประกันหลายงวดในแต่ละปีกรมธรรม์มากเท่าใด จำนวนเบี้ยที่ต้องจ่ายทั้งหมดใน 1 รอบปีกรมธรรม์ ย่อมเป็นจำนวนเงินที่สูงกว่าการเลือกจ่ายจำนวนงวดที่น้อยกว่า

 

 แนวทางที่สาม “หยุดจ่ายเบี้ยประกัน” 

 

สำหรับแนวทางนี้ การหยุดจ่ายเบี้ยประกัน สามารถทำได้ 3 แบบด้วยกัน

 

  • แบบแรก “ใช้เงินสำเร็จ” คือ เมื่อหยุดจ่ายเบี้ย ประกันยังให้ความคุ้มครองจนครบสัญญาเหมือนเดิม แต่ทุนประกันหรือวงเงินคุ้มครองจะลดลง

  • แบบที่สอง “ขยายระยะเวลา” คือ เมื่อหยุดจ่ายเบี้ย ประกันยังให้ความคุ้มครองตามทุนประกันเดิม แต่ระยะเวลาคุ้มครองจะลดน้อยลงกว่าเดิม

  • แบบที่สาม “เวนคืนกรมธรรม์” คือ การหยุดจ่ายเบี้ย แล้วได้เงินสดก้อนหนึ่งคืนทันที โดยเงินสดที่ได้ อาจจะมากกว่าหรือน้อยกว่าเบี้ยทั้งหมดที่จ่ายไปก็ได้ อย่างไรก็ตาม แนวทางการเวนคืนกรมธรรม์ อยากให้พิจารณาเป็นลำดับสุดท้าย เพราะการเวนคืนกรมธรรม์ คือ การปิด หรือยกเลิกกรมธรรม์ ทำให้สัญญาประกันสิ้นสุด ไม่มีความคุ้มครองอีกต่อไป หากเราไม่ได้ทำประกันฉบับอื่นไว้เลย หากเสียชีวิตลง จะทำให้ไม่เหลือความคุ้มครองไว้ให้ครอบครัวหรือคนข้างหลัง

 

การทำประกันชีวิตเป็นสิ่งจำเป็น เพราะเป็นการวางแผนชีวิตและการเงินไว้ก่อนเพื่อความปลอดภัย ชีวิตไม่มีอะไรแน่นอน ถ้าเราเสียชีวิตก็ยังมีเงินมาช่วยเหลือจุนเจือครอบครัว ทั้งนี้ การชำระเบี้ยประกันชีวิตไม่ไหว อาจเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นได้ เพราะต้องมีเงินเพียงพอ และต่อเนื่องที่จะชำระเบี้ยประกันชีวิตเป็นระยะเวลาหลายปี อย่างไรก็ตาม ถ้าเราชำระเบี้ยประกันชีวิตไม่ไหวจริงๆ ก็มีทางออกให้เราได้เลือกใช้ตามเงื่อนไขของบริษัทที่เราต้องลองสอบถามรายละเอียดอีกครั้ง เพื่อพิจารณาเลือกให้เหมาะสมและได้ประโยชน์กับตัวเราที่สุด

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th