logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: ประกันภัย

เจาะประเด็น 3 แนวความคิด สร้างทุนประกันชีวิตให้ครอบครัว

โดย บุณยนุช ยุทธ์ประทุม นักวางแผนการเงิน CFP®

 

การวางแผนประกันชีวิต เป็นหนึ่งในแผนการเงินที่มีความสำคัญมากสำหรับหัวหน้าครอบครัว การสูญเสียหนึ่งคนสามารถส่งผลกระทบถึงคนทั้งบ้าน หนึ่งความสูญเสีย อย่าให้ทุกอย่างต้องเสียศูนย์ ทั้งทางสภาพด้านจิตใจ สุขภาพทางการเงิน และคุณภาพชีวิตของคนข้างหลัง การเตรียม “ทุนประกันชีวิต” เพื่อดูแลสมาชิกในครอบครัวจึงมีความสำคัญ เสมือนยังคงมีรายได้หลักที่หัวหน้าครอบครัวมอบไว้เมื่อยามมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น วันนี้เราจะมาเทียบ 3 แนวความคิดหลักในการคำนวณทุนประกันชีวิตกันค่ะ เพื่อเป็นแนวทางการเตรียมการ ส่งมอบความห่วงใยให้ครอบครัวได้อย่างเพียงพอในการดำรงชีพต่อไปได้อย่างดี

 

1. แนวความคิดแรก กำหนดทุนประกันชีวิตจากมูลค่าทางเศรษฐกิจของบุคคล (Human Life Value Approach) โดย ดร. โซโลมอน เอส เฮิร์บเนอร์ หลักแนวความคิดนี้ถือว่าชีวิตของมนุษย์ทุกคนมีค่า ถึงแม้ไม่สามารถตีค่าออกมาเป็นตัวเงินได้ จึงประเมินทุนประกันชีวิตจากคุณค่าทางเศรษฐกิจของบุคคลนั้นแทน โดยคิดจากรายได้ที่บุคคลนั้นมีโอกาสได้รับจากปัจจุบันจนถึงอนาคต แล้วนำมาคำนวณกลับเป็นมูลค่าในวันนี้ มูลค่าจำนวนเงินนั้นก็เหมาะสมที่จะเป็นทุนประกันชีวิต ยกตัวอย่างเช่น นายรักดี อายุ 40 ปี คาดว่าจะเกษียณอายุ 60 ปี จำนวนปีที่ทำงานอีก 20 ปี มีรายได้ปัจจุบันปีละ 1,000,000 บาท หักภาษี ประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ค่าใช้จ่ายส่วนตัว เหลือรายได้สุทธิปีละ 600,000 บาท กำหนดให้อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนหลังหักภาษี 5% ต่อปี มูลค่าปัจจุบันของรายได้ในอนาคตตลอด 20 ปีการทำงานหรือทุนประกันของนายรักดีควรมี 7.4 ล้านบาท (วิธีนี้ต้องใช้เครื่องคิดเลขทางการเงินเข้ามาช่วยคำนวณ โดย n=20, i=5%, PMT= 600,000 ได้ผลลัพธ์ PV= 7.4 ล้าน)

 

2. แนวที่สอง คิดจากความจำเป็น (Needs Approach) คำนวณจากหนี้สิน รายได้ให้ครอบครัวช่วงปรับตัว และค่าใช้จ่ายดูแลผู้อยู่ในอุปการะ หักด้วยทรัพย์สินรวม ก็จะเป็นทุนประกันชีวิตที่ควรมี เช่น ครอบครัวนายรักดี มีหนี้สิน 4 ล้านบาท ครอบครัวต้องใช้เวลาปรับตัว 1 ปี (1 ปี x รายได้สุทธิ 600,000 = 600,000 บาท) และต้องการเตรียมเงินดูแลสมาชิกในครอบครัวรวมถึงค่าใช้จ่ายของลูกจนจบปริญญาตรีอีก 5 ปี (5 ปี x 600,000 = 3 ล้านบาท) นายรักดีมีเงินสะสมจากที่ต่างๆ รวม 2 ล้านบาท รวมทุนประกันชีวิตที่นายรักดีควรเตรียมไว้ 4,000,000 + 600,000 + 3,000,000 – 2,000,000 = 5.6 ล้านบาท

 

3. แนวสุดท้าย ใช้เรื่อง Capital Retention Approach โดยแนวความคิดนี้ จะไม่นำทรัพย์สินที่มีอยู่มาคำนวณด้วย เพราะถ้าคนที่ท่านห่วงใยมีความจำเป็นต้องใช้เงินมากกว่าระยะเวลาที่เตรียมไว้ จะทำให้ทรัพย์สินที่มีรวมถึงจำนวนเงินนั้นไม่พอ วิธีการคิดในแนวนี้จะคล้ายกับการคำนวณเงินต้นเพื่อการลงทุน นั่นคือจำนวนเงินต้นที่ต้องการหรือทุนประกัน = รายได้ที่ต้องการต่อปี + (รายได้ที่ต้องการต่อปี / (อัตราผลตอบแทนที่ได้จากเงินต้น – อัตราเงินเฟ้อ)) ถ้ารายได้ที่ครอบครัวนายรักดีต้องการต่อปี 600,000 บาท ผลตอบแทนที่ได้จากเงินต้น 8% อัตราเงินเฟ้อ 3% ดังนั้นทุนประกันชีวิต = 600,000 + (600,000/ (0.08-0.03)) = 12.6 ล้านบาท

 

จากข้างต้น เราจะเห็นได้ว่าแต่ละแนวความคิด มีจุดเด่น จุดด้อยที่แตกต่างกัน แนวคิดแรกไม่ได้คำนึงถึงค่าใช้จ่ายที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงของครอบครัว เช่นการมีบุตร และความสามารถในการหารายได้ที่สูงขึ้นแบบก้าวกระโดดของผู้ทำประกันเมื่อมีประสบการณ์ทำงานที่มากขึ้น ส่วนแนวคิดสุดท้าย ขึ้นอยู่กับความต้องการทางการเงินต่อปีและอัตราผลตอบแทนที่สามารถลงทุนได้เป็นหลัก ยิ่งความต้องการทางการเงินสูงและลงทุนได้อัตราผลตอบแทบต่ำ ทุนประกันก็ยิ่งสูง ผู้ทำประกันในแนวความคิดนี้ จะต้องมีความสามารถในการชำระเบี้ยที่สูงขึ้น

 

ดังนั้น แนวคิดที่สองในเรื่องของความจำเป็นในการทำประกันชีวิต จึงเป็นแนวทางที่นิยมมากที่สุด มีความสอดคล้องกับสถานการณ์จริงของแต่ละครอบครัว ท่านที่เป็นเสาหลักของบ้านสามารถปรับประยุกต์แนวความคิดต่างๆ ให้เหมาะสมกับท่านได้ เพื่อความมั่นคงและความปลอดภัยทางการเงินของครอบครัว ท่านสามารถคิดทุนประกันชีวิตเริ่มต้นจากเจตนาความต้องการให้และลำดับความจำเป็นก่อน และทำทุนประกันเพิ่มเติม เมื่อมีรายได้มากขึ้น นอกจากการทำประกันชีวิตให้คนที่ท่านห่วงใยแล้ว เบี้ยประกันชีวิตที่ท่านชำระ มีการสะสมมูลค่าเงินตามกาลเวลา สามารถนำมาเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนภาษี และเพื่อเกษียณของท่านในอนาคตได้อีกด้วย

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th