logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: ลงทุน

ผลตอบแทนแค่ไหนเรียกว่าดี

โดย กนกวรรณ แซ่หลิน ที่ปรึกษาการเงิน AFPTTM

 

ลองมาคิดกันเล่นๆ ... ระหว่างนักลงทุน A ที่ทำผลตอบแทนจากการลงทุนได้ 10 ล้านบาทต่อปี กับนักลงทุน B ที่ทำผลตอบแทนจากการลงทุนได้ 1 ล้านบาทต่อปี คุณคิดว่าใครลงทุนได้ดีกว่ากัน?

 

คนส่วนใหญ่คงตอบว่า นักลงทุน A เก่งกว่าเพราะสามารถทำผลตอบแทนได้เป็น 10 เท่าของนักลงทุน B !!!

 

แต่หากมองลึกลงไปพบว่า ... นักลงทุน A ทำได้ 10 ล้านบาทนั้น คิดเป็นผลตอบแทน 1% ส่วนนักลงทุน B ทำได้ 1 ล้านบาท คิดเป็นผลตอบแทน 10% ถ้าแบบนี้คุณจะคิดยังไง?

 

นักลงทุน A ถึงแม้จะทำได้ถึง 10 ล้านบาทแต่เมื่อคิดเทียบกับเงินที่ลงทุนแล้วสามารถทำกำไรได้เพียงแค่ 1% ในขณะที่นักลงทุน B แม้ว่าจะทำได้เพียงแค่ 1 ล้านบาทแต่เมื่อคิดเทียบกับเงินลงทุน สามารถสร้างผลตอบแทนได้ถึง 10% นับว่าสูงเลยทีเดียว การที่ได้ผลตอบแทนสูงนั้นไม่ได้เป็นตัวการันตีว่านักลงทุน B จะประสบความสำเร็จด้านการลงทุนตามที่ตั้งใจไว้ ต้องย้อนกลับมาดูว่าเป้าหมายจริงๆ ที่ต้องการคืออะไร และผลตอบแทนที่ได้มันมากกว่าหรือน้อยกว่าที่วางแผนไว้

 

“ผลตอบแทน” คือสิ่งที่นักลงทุนทุกคนคาดหวังจากการลงทุน ซึ่งการที่จะบอกได้ว่าการลงทุนนั้นผลตอบแทนดีหรือไม่ ไม่ใช่มองแค่จำนวนเงินที่ได้ แต่ต้องมองกลับไปด้วยว่าเงินทุนที่ต้องลงทุนใช้เท่าไหร่ด้วย แล้วใช้อัตราผลตอบแทนเป็นตัววัดความสำเร็จที่จะไปสู่เป้าหมาย หากผลตอบแทนที่ทำได้จริงสูงกว่าผลตอบแทนที่คาดหวังไว้ โอกาสที่จะประสบความสำเร็จด้านการลงทุนก็มีมากขึ้นและเร็วขึ้นด้วย อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนนั้น สามารถคำนวณได้หลายวิธี ขึ้นกับรูปแบบการลงทุนที่ต่างกัน

 

  1. การคำนวณผลตอบแทนสำหรับสินทรัพย์เดียว
    ผลตอบแทนจากการลงทุนสำหรับแต่ละสินทรัพย์ เราเรียกว่า Return on Investment หรือ ROI เป็นการเปรียบเทียบระหว่างกำไรที่ได้จากการลงทุนกับต้นทุนที่ลงทุนไปทั้งหมด ผลลัพธ์ที่ได้แสดงถึงมูลค่าที่เพิ่มขึ้นเป็นเปอร์เซ็นต์ของราคาสินทรัพย์นั้น สามารถคำนวณได้โดย

ROI = (กำไรจากการลงทุน ÷ เงินต้นที่ลงทุนไปทั้งหมด) x 100%

 

ROI สามารถบอกได้คร่าวๆ ว่าการลงทุนในสินทรัพย์นั้นๆ มีประสิทธิภาพแค่ไหน เมื่อเทียบกับการลงทุนในสินทรัพย์อื่น เมื่อเราลงทุนด้วยจำนวนเงินและเวลาที่เท่ากัน สินทรัพย์ที่สามารถให้ผลตอบแทนได้มากกว่า ก็ย่อมเป็นที่นิยมและน่าสนใจกว่า
 

  1. การคำนวณผลตอบแทนสำหรับสินทรัพย์ทั้งหมด
    ความเสี่ยงและความไม่แน่นนอน คือสิ่งที่มากับการลงทุน สภาวะของตลาด และความเชื่อมั่นของนักลงทุน ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการทำกำไรของแต่ละสินทรัพย์ นักลงทุนส่วนใหญ่ไม่ได้ลงทุนแค่ในสินทรัพย์เดียว การลงทุนในหลายสินทรัพย์ เป็นการกระจายความความเสี่ยงการลงทุน (Diversification) หรือใช้วิธีการจัดพอร์ตการลงทุน (Investment Portfolio) สินทรัพย์ที่หลากหลายทำให้มีความซับซ้อนในการคำนวณผลตอบแทน การคำนวณผลตอบแทนของสินทรัพย์ทั้งหมดที่ลงทุนไป หรือผลตอบแทนของพอร์ตลงทุนนั้น เราต้องรู้อัตราผลตอบแทน (ROI) ของสินทรัพย์แต่ละตัวก่อน และต้องรู้สัดส่วนน้ำหนักของสินทรัพย์แต่ละตัวเมื่อเทียบกับน้ำหนักของพอร์ตลงทุนทั้งหมด จากนั้นสามารถคำนวณได้โดย

Portfolio Return = (อัตราผลตอบแทนA x สัดส่วนA) + (อัตราลตอบแทนB x สัดส่วนB) + …


Portfolio Return จะแสดงถึงมูลค่าที่เพิ่มขึ้นเป็นเปอร์เซ็นต์ของพอร์ตลงทุน หรือผลตอบแทนโดยรวมของสินทรัพย์ที่ลงทุนทั้งหมด

 

ตัวอย่างการคำนวณผลตอบแทนของพอร์ตลงทุน


นักลงทุน A ลงทุนในสินทรัพย์หลายตัวเมื่อสิ้นปีมูลค่าสินทรัพย์เพิ่มขึ้น ดังนี้

 

  1. พันธบัตรรัฐบาล 206,500 บาท (ผลตอบแทน 3.25%) --> สัดส่วนน้ำหนัก 0.20 (20%)
  2. กองทุนหุ้น         541,500 บาท (ผลตอบแทน 8.25%) --> สัดส่วนน้ำหนัก 0.51 (51%)
  3. ทองคำ              313,500 บาท (ผลตอบแทน 4.50%) --> สัดส่วนน้ำหนัก 0.29 (29%)

ผลตอบแทนพอร์ตลงทุน

= (ผลตอบแทนพันธบัตร x สัดส่วนพันธบัตร) + (ผลตอบแทนกองทุนหุ้น x สัดส่วนกองทุนหุ้น) + (ผลตอบแทนทองคำ x สัดส่วนทองคำ)
= (3.25% x 0.20) + (8.25% x 0.51) + (4.50% x 0.29)
= 6.1625%

 

จะเห็นได้ว่าสินทรัพย์แต่ละตัวที่ลงทุนไปให้ผลตอบแทนที่ต่างกัน มากบ้างน้อยบ้าง แต่โดยรวมแล้วพอร์ตการลงทุนของนักลงทุน A สามารถทำผลตอบแทนได้ที่ 6.16% ถ้านักลงทุน A ต้องการผลตอบแทนที่มากกว่านี้ ต้องมีการปรับสัดส่วนของน้ำหนักการลงทุน โดยอาจเพิ่มส่วนของกองทุนหุ้น หรือทองคำให้มากขึ้น ทั้งนี้ต้องพิจารณาถึงความเสี่ยงที่จะยอมรับได้ด้วย

 

ทุกครั้งที่คำนวณผลตอบแทน ต้องกำหนดช่วงเวลาที่ต้องการคำนวณด้วย ไม่ว่าจะรายสัปดาห์ รายเดือน รายไตรมาส หรือรายปี ต้องตีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ(NAV) ของสินทรัพย์แต่ละตัวในพอร์ตลงทุน ณ เวลานั้นๆ เพื่อใช้สำหรับคำนวณผลตอบแทนที่ต้องการได้

 

แม้ว่าวิธีข้างต้นจะเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมและเรียบง่ายในการประมาณผลตอบแทนของพอร์ตลงทุน แต่ก็ไม่ได้สะท้อนถึงปัจจัยสำคัญอื่นๆ เช่น ระยะเวลาที่ถือครอง การจ่ายปันผลจากหุ้น หรือดอกเบี้ยที่ได้รับในระหว่างทาง อย่างไรก็ตาม การรับรู้ผลตอบแทนของพอร์ตลงทุนจะทำให้เราสามารถปรับเปลี่ยน และวางแผนลงทุนต่อไปเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th