บทความ: ลงทุน
“สูตรผสม PVD + RMF ลงทุนแบบไหนให้เหมาะกับคุณ”
โดย อรพรรณ บัวประชุม นักวางแผนการเงิน CFP®
ทุกทีเคยได้ยินกันว่า จะลงทุนใน RMF + SSF ยังไง ไม่ให้เกินสิทธิบ้าง หรือจะต้องลงทุนยังไงสัดส่วนเท่าไหร่ให้เหมาะสมบ้าง คราวนี้สำหรับใครที่มีเงินสะสมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) กับบริษัทที่ตัวเองทำงานอยู่ และต้องการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ด้วย จะลงทุนเท่าไหร่ยังไงให้เหมาะสม มีเทคนิคแนะนำค่ะ
1. อยากสะสมเงินไว้ใช้หลังเกษียณมากๆ
แนะนำให้สะสมเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) เต็มสิทธิ 15% แม้ว่าบริษัทจะสมทบให้น้อยกว่าก็ตาม และลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ให้เต็มสิทธิ 30% โดยการลงทุนทั้ง 2 ประเภท (เมื่อรวมการลงทุนในประกันชีวิตแบบบำนาญ และกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF)) รวมกันแล้วสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 500,000 บาท ที่แนะนำให้ลงทุนเต็มสิทธิก็เพื่อให้มีเงินเก็บไว้ใช้หลังเกษียณมากๆ หน่อย แต่อย่าลืมว่าถ้ามีเวลาลงทุนนานเป็น 10-20 ปี แนะนำให้เลือกนโยบายลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากหน่อย อย่างเช่น นโยบายลงทุนในหุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ ส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ อาจมีลงทุนบ้างเป็นส่วนน้อย เพื่อเปิดโอกาสให้เงินเติบโตได้ในระยะยาว
2. ใจอยากสะสมเงินไว้ใช้หลังเกษียณมากๆ แต่สถานการณ์ปัจจุบันไม่เอื้ออำนวย
หลายเสียงเลยที่เป็นแบบนี้ นั่นเป็นเพราะสถานการณ์ในปัจจุบันส่งผลให้เรามีค่าใช้จ่ายที่ต้องดูแลคนในครอบครัวมากขึ้น รายได้น้อยลง หากเกิดเหตุการณ์แบบนี้อย่าเพิ่งตกใจไปค่ะ แนะนำให้ลองปรับเปลี่ยนสัดส่วนการสะสมเงินในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ก่อนค่ะ เพราะปัจจุบันไม่มีกำหนดการลงทุนขั้นต่ำ สามารถลงทุนขั้นต่ำได้ตามที่กองทุนกำหนดเช่น 500 บาท ก็สามารถลงทุนได้แล้ว เพื่อไม่ให้ผิดเงื่อนไขหยุดการลงทุนติดต่อกัน 2 ปี แนะนำให้ลงทุนสม่ำเสมออย่างน้อยปีละครั้งเพื่อกันลืมลงทุน และเมื่อสถานการณ์ดีขึ้นก็สามารถเติมเพิ่มการลงทุนได้ ส่วนการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น โดยทั่วไปแล้วจะให้สิทธิเปลี่ยนแปลงจำนวนเงินสะสมได้ปีละ 2 ครั้ง (ทุกกลางปีและปลายปี โดยขึ้นอยู่กับข้อบังคับกองทุนของแต่ละบริษัท) แนะนำให้แจ้งเปลี่ยนแปลงเงินสะสมลดลงได้ชั่วคราวในช่วงที่เราไม่ไหว แต่ไม่ควรน้อยกว่าเงินสมทบที่บริษัทสมทบให้ เช่น บริษัทสมทบให้ 5% ก็ควรสะสม 5% ขึ้นไป เพื่อให้มีการสะสมเงินไว้ใช้หลังเกษียณไว้บ้าง
3. นโยบายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีอยู่ไม่หลากหลาย
ในกรณีนี้ ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัทเราที่เลือกนโยบายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้กับพนักงานอาจจะไม่หลากหลายมากนัก ทำให้ไม่ตอบโจทย์การลงทุนของบางคน เช่น อายุตัวยังน้อยอยู่ มีเวลาลงทุนได้นาน ต้องการลงทุนในกองทุนที่มีความเสี่ยงสูง แต่ไม่มีให้เลือก หากเป็นแบบนี้ เพื่อให้ตอบโจทย์การลงทุนของเรามากขึ้น การสะสมเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็ยังคงต้องสะสมอยู่แต่อาจจะสะสมในสัดส่วนที่น้อยหน่อย (แต่ไม่ใช่ไม่สมัครเข้าร่วมสะสมเลย) อย่างเช่น บริษัทให้สะสมได้ 15% ในขณะที่บริษัทสมทบให้ 5% และจะสมทบให้เพิ่มขึ้นตามอายุงาน หากเป็นแบบนี้เราก็อาจจะสะสมให้เท่ากับที่บริษัทสมทบให้ก็ได้ และเพิ่มการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ที่สามารถลงทุนได้สูงสุดถึง 30% ของรายได้ทั้งปี ซึ่งเมื่อรวมการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ประกันชีวิตแบบบำนาญ และกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) แล้ว เมื่อนำไปลดหย่อนภาษีต้องไม่เกิน 500,000 บาท เพื่อให้นโยบายการลงทุนเหมาะสม และสอดคล้องกับตัวเราให้มากที่สุด ซึ่งการเลือกวิธีนี้ แนะนำให้ลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เป็นแบบ DCA เพื่อไม่ให้พลาดโอกาสในการลงทุน
ไม่ว่าจะเลือกลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) หรือ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ในสัดส่วนเท่าไหร่ นโยบายการลงทุนเป็นอย่างไร อย่าลืมว่าการลงทุนในกองทุนทั้ง 2 ประเภทนี้ เพื่อช่วยให้เรามีเงินเก็บไว้ใช้หลังเกษียณ ดังนั้น หากดูแล้วเรามีความจำเป็นทางการเงินจริงๆ ก็สามารถปรับสัดส่วนการลงทุนลงได้ และเมื่อสถานการณ์ทางการเงินดีขึ้นก็ปรับการลงทุนเพิ่มขึ้นให้เต็มสิทธิได้ทั้ง 2 กองทุน ส่วนใครที่ไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) ก็ลงทุนด้วยตัวเอง วางแผนจัดการลงทุนเองผ่านกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ได้ เลือกนโยบายกองทุนให้เหมาะสมกับตัวเอง เหมาะสมกับระยะเวลาการลงทุน และความเสี่ยงที่ตัวเองรับได้ เทคนิคการลงทุนที่ดีคือลงทุนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสร้างวินัยให้กับตัวเอง และเพื่อเงินเหลือใช้หลังเกษียณค่ะ