บทความ: เกษียณ
4 ขั้นตอน ปรับพอร์ตวัยเกษียณรับดอกเบี้ยขาลง
โดย อรพรรณ ชัยศิริ ที่ปรึกษาการเงิน AFPTTM
ปี 2021 ภาวะสถานการณ์ทั่วโลกมีความไม่แน่นอนสูงขึ้นจากวิกฤตการณ์ COVID-19 เร่งความเร็วให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่กระทบต่อความเป็นอยู่ของประชากรทั่วโลก ไม่ใช่แค่เรื่องสุขภาพแต่สะเทือนไปถึงเศรษฐกิจและตลาดการเงินการลงทุน เช่น สังคมไร้เงินสดที่แพร่หลายอย่างรวดเร็ว ตลาดสกุลเงินดิจิทัลที่เข้ามามีบทบาทในตลาดการเงินอย่างมีนัยสำคัญ เงินเฟ้อที่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ รัฐบาลในหลายประเทศต่างเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขับเคลื่อน ควบคู่กับนโยบายในการลดวงเงินความคุ้มครองเงินฝาก แนวโน้มดอกเบี้ยขาลง การกีดกันทางด้านการค้า ส่งผลให้ความเสี่ยงในสินทรัพย์ทุกชนิดเพิ่มมากขึ้น สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำผลตอบแทนก็ถูกกดให้ต่ำลงจนน้อยกว่าเงินเฟ้อ ทำให้การสร้างผลตอบแทนในการลงทุนไม่ง่ายอีกต่อไป
จากภาพจะเห็นเทรนของดอกเบี้ยดิ่งเหวชัดเจน บางประเทศก็ดอกเบี้ยติดลบมานานแล้ว แต่ราคาสินค้ากลับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล่าปัจจัย 4 ที่ราคาพุ่งกระโจนไม่ลืมหูลืมตา นำโดยค่าบริการทางการแพทย์มาเป็นอันดับแรก ซึ่งเป็นความเสี่ยงสำคัญที่จะส่งผลต่อกองทุนการเกษียณทั่วโลกเริ่มระส่ำระสาย
ภาพ 1 เทรนดอกเบี้ยทั่วโลกลดลงอย่างต่อเนื่อง
ภาพ 2 ดอกเบี้ยขาลง แต่ราคาสินค้าเพิ่มต่อเนื่อง
สำหรับวัยเกษียณหรือใกล้เกษียณมักได้รับคำแนะนำให้ “ปกป้องเงินต้นและลดความเสี่ยง” โดยมุ่งเน้นการลงทุนในเงินฝากและตราสารหนี้ แต่จากเหตุผลข้างต้นก็แสดงให้เห็นว่าผลตอบแทนนั้นมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ อาจส่งผลให้กองทุนการเกษียณที่เตรียมไว้ไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตในอนาคต ซึ่งจะเห็นได้จากเทรนของสินทรัพย์เสี่ยงต่ำที่ให้ผลตอบแทนคงที่ ทั้งรูปแบบของดอกเบี้ยและเงินคืนรายงวดนั้นเริ่มเปลี่ยนแปลงไป อาทิ
- ดอกเบี้ยเงินฝากลดลง เช่น เงินฝากดิจิทัลจากดอกเบี้ยสูงสุด 2.75% (2557) เหลือ 1.50% (2564)
- กองทุนรวมตลาดเงินผลตอบแทนตกต่ำลงหรือติดลบในบางช่วงเวลา
- ผลตอบแทนหน้าตั๋วของหุ้นกู้ลดลงโดยเฉพาะอย่างยิ่งหุ้นกู้ Rating ดี หลายบริษัทต่างหันมาออกหุ้นกู้ตลอดชีพหรือ Perpetual Bond เพื่อใช้อัตราดอกเบี้ยที่สูงดึงดูดนักลงทุน แต่มีความเสี่ยงในการซื้อคืนได้ระหว่างทางจากบริษัทผู้ออกหุ้นกู้ และขาดสภาพคล่องในการซื้อขายในตลาดรอง
- อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ผลตอบแทนสูง (high yield/ junk bond) ลดลงมาต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 3.89% เมื่อ 12 ก.ค. 2564 ซึ่งต่ำกว่าเงินเฟ้อสหรัฐเดือนมิถุนายน 2564 ที่ 5.4%
- ประกันบำนาญทยอยลดผลตอบแทน โดยจะยกเลิกแบบเก่าที่ให้ IRR สูง
- ประกันสะสมทรัพย์ทยอยยกเลิกหรือเปลี่ยนรูปแบบ ให้ผลตอบแทนในรูปปันผลหรือผลประโยชน์จากการลงทุนในกองทุนรวม (Unit Linked) โดยให้ผู้เอาประกันรับความเสี่ยงจากการลงทุนแลกกับผลตอบแทนจากการลงทุนในกองทุนรวมที่ดีกว่า เนื่องจากบริษัทไม่สามารถหาการลงทุนที่ปลอดภัยและเพียงพอต่อการชำระเงินคืนให้แก่ผู้เอาประกัน
ดังนั้นการจัดสัดส่วนการลงทุนในพอร์ต (Asset Allocation) โดยการเพิ่มสัดส่วนของสินทรัพย์ความเสี่ยงสูงเข้ามา จึงมีความจำเป็นในการเพิ่มโอกาสให้ผลตอบแทนของพอร์ตโดยรวมสามารถชนะเงินเฟ้อได้
“การไม่ลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเลย คือความเสี่ยง”
หลังจากที่เราตระหนักถึงความจำเป็นของการปรับเปลี่ยนพอร์ตเกษียณ แล้ววัยเกษียณหรือใกล้เกษียณควรจะเริ่มลงมือปรับสัดส่วนพอร์ตกันอย่างไร เราขอเสนอ 4 ขั้นตอนง่ายๆ ที่ไม่ยากอย่างที่คิด
1. เงินคุณอยู่ที่ไหน: สำรวจสินทรัพย์ในปัจจุบัน เก็บไว้ในรูปแบบใด มูลค่าเท่าไหร่ คิดเป็นสัดส่วนอย่างละกี่เปอร์เซ็นต์ของพอร์ต ความเสี่ยงอยู่ระดับไหน คาดการณ์อัตราผลตอบแทนในอนาคตเป็นอย่างไร พร้อมหมายเหตุเงื่อนไขในการถือหรือการสับเปลี่ยน วันครบกำหนดขายออก เป็นต้น
ตารางที่ 1 ตัวอย่างสำรวจสินทรัพย์เพื่อการเกษียณ
2. ต้องการใช้เท่าไหร่: จัดทำรายจ่ายทุกรายการที่คาดว่าจะมีขึ้นหลังเกษียณ (ไม่ปรับอัตราเงินเฟ้อ) โดยแบ่งตามวัตถุประสงค์ในการใช้เงินและระยะเวลาที่จะใช้เงินนั้นๆ เพื่อหาผลตอบแทนที่เหมาะสมของแผนการเกษียณ
ตารางที่ 2 ตัวอย่างสำรวจค่าใช้จ่ายเพื่อการเกษียณ
3. เอาไปไว้ไหน: หลังจากทราบจำนวนเงินที่ต้องมีในช่วงระยะเวลาต่างๆ จัดแบ่งประเภทสินทรัพย์ตามวัตถุประสงค์ในการใช้เงินและระยะเวลาที่จะใช้เงินจำนวนนั้น ได้แก่
ตารางที่ 3 ตัวอย่างการจัดพอร์ตเพื่อการเกษียณ
4. จดไว้อย่าให้ลืม: จัดทำรายการสินทรัพย์และ/หรือพินัยกรรม เพื่อง่ายต่อการจัดการและติดตามผลการลงทุน และป้องกันการสูญหายของสินทรัพย์ ในกรณีลงทุนในหลายหลายรูปแบบ
ตารางที่ 4 ตัวอย่างรายการสินทรัพย์เพื่อการเกษียณ
นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงความเสี่ยงที่จะทำให้สูญเงินก้อนใหญ่โดยไม่ได้เกิดจากลงทุน อาทิ ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่ไม่คาดคิด การล่อลวงไปลงทุนที่ผลตอบแทนสูงเกินจริง (เช่น แชร์ลูกโซ่) การขอยืมเงิน การค้ำประกัน และการดูแลคนรอบตัวยามเดือดร้อนที่ไม่คาดคิด อย่าลืมจัดการความเสี่ยงเหล่านี้อย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการหลีกเลี่ยงความเสี่ยง การถ่ายโอนความเสี่ยง การควบคุมเพื่อลดความเสี่ยง และวางแผนการเงินเพื่อรองรับความเสี่ยงนั้นๆ ทั้งนี้เพื่อให้กระทบต่อเงินเกษียณของเราน้อยที่สุด
”สร้างสุขภาพการเงิน” ที่ดี ต้องเริ่มจากสร้างเป้าหมายและลงมือทำ