บทความ: ลงทุน
Sustainable Investment ลงทุนวิถีใหม่เน้นความยั่งยืน
โดย ธีรวัตร์ นรอิงคสิทธิ์ ที่ปรึกษาการเงิน AFPTTM
ในปี 2564 นี้ คิดว่าหลายคนคงต้องเคยผ่านตากันมาบ้างกับ Sustainable Investment หรือการลงทุนอย่างยั่งยืน ที่เป็นแนวคิดการลงทุนที่คำนึงถึงการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล (Environment, Social, Governance: ESG) ของธุรกิจ ในบทความนี้จะอธิบายถึงที่มาที่ไป ทำไมแนวคิดนี้ถึงน่าสนใจ และจะรู้ได้อย่างไรว่าบริษัทไหน หรือกองทุนไหนได้รับ ESG Rating เท่าไร
ปัจจุบันนักลงทุนนำแนวคิดนี้มาประกอบการพิจารณาการลงทุนควบคู่ไปกับการวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงินของธุรกิจ เพื่อสร้างผลตอบแทนในระยะยาวและสร้างผลกระทบเชิงบวก หรือลดผลกระทบเชิงลบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยคำนึงถึงความรับผิดชอบ 3 ด้านนี้เป็นหลัก คือ ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสังคม และด้านการกำกับดูแล
ด้านสิ่งแวดล้อม จะดูหลักเกณฑ์ที่บริษัทคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งในปัจจุบัน สามารถวัดได้จากปริมาณการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ ปริมาณการปล่อยของเสียจากการผลิต ปริมาณกระดาษที่ใช้ และการประหยัดพลังงานและการใช้น้ำของสถานประกอบการ เป็นต้น
ด้านสังคม จะเป็นหลักเกณฑ์ที่ใช้วัดว่าบริษัทมีการจัดการความสัมพันธ์และมีการสื่อสาร ทั้งกับลูกค้า ซัพพลายเออร์ หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างไร ซึ่งสามารถวัดได้ด้วยจำนวนพนักงานที่ได้รับการยกระดับทักษะดิจิทัลภายในองค์กร จำนวนของพนักงานที่ได้รับการฝึกอบรมให้ทราบถึงผลกระทบของ ESG ที่มีต่อการประกอบธุรกิจ กิจกรรมเพื่อสนับสนุนความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน และการเคารพสิทธิมนุษยชนตลอดห่วงโซ่อุปทานขององค์กร เป็นต้น
ด้านการกำกับดูแล เป็นหลักเกณฑ์ที่ใช้วัดว่าบริษัทมีการจัดการบริการความสัมพันธ์ในเชิงกำกับดูแลอย่างไร เพื่อการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ สามารถวัดได้จากความแตกต่างหลากหลายของผู้บริหาร และคณะกรรมการของบริษัท การดำเนินการเพื่อลดการทุจริต การบริหารความเสี่ยงที่ครอบคลุมด้าน ESG ความมั่นคงทางไซเบอร์ และการมีโครงสร้างกำกับดูแลกลยุทธ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น
เมื่อทราบกันแล้วว่าการลงทุนอย่างยั่งยืนหมายความว่าอย่างไร ก็มาดูกันว่าทำไมแนวคิดนี้ถึงน่าสนใจ ข้อมูลจาก Morningstar, 2021, University of Oxford, UOB Asset Management Analysis เผยว่า มีเงินลงทุนเพิ่มขึ้นในกองทุน ESG ทั่วโลกเพิ่มขึ้นจาก 155 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ เป็น 349.8 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นจำนวน 2.3 เท่า และในเอเชียเองก็เพิ่มขึ้นจาก 850 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ เป็น 16.9 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 19.9 เท่า จากตัวเลขทั้งสองนี้ทำให้เห็นว่า นักลงทุนส่วนใหญ่เริ่มให้ความสำคัญกับแนวคิดการลงทุนอย่างยั่งยืน
ในอดีตแนวคิดวิธีการลงทุนใน ESG ถูกเรียกว่า Value-based Exclusion หรือถ้านักลงทุนทราบว่าบริษัท A ทำธุรกิจเกี่ยวกับถ่านหิน อาจจะเลือกไม่ลงทุนในบริษัทนี้เนื่องจากทำลายสิ่งแวดล้อม ต่อมาแนวคิดวิธีการลงทุนได้ถูกพัฒนามากขึ้นเป็น Impact Investing หรือการลงทุนเพื่อให้บริษัทสร้างผลกระทบเชิงบวกในเรื่องของสิ่งแวดล้อม สังคม การกำกับดูแล และในปัจจุบันแนวคิดนี้ก็ถูกพัฒนาไปเป็น ESG Integration (Risk Adjusted Return) เพื่อให้นักลงทุนได้รับผลตอบแทนที่ดีขึ้น โดยนักลงทุนหรือผู้จัดการกองทุนจะนำปัจจัยด้าน ESG เข้ามาประกอบการตัดสินใจลงทุน เช่น ถ้าบริษัทไหนใส่ใจในเรื่อง ESG ก็จะนำเข้ามาเป็นอีกปัจจัยในการพิจารณาลงทุนในบริษัทนั้นๆ
หากต้องการทราบข้อมูลด้าน ESG ของแต่ละบริษัทหรือกองทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีการเผยแพร่ข้อมูลด้านความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนในไทยผ่านเว็บไซต์ https://www.setsustainability.com/ ซึ่งจะมีตั้งแต่ความรู้เกี่ยวกับการลงทุนอย่างยั่งยืน การสัมมนาและอบรมต่างๆเกี่ยวกับการลงทุนอย่างยั่งยืน รวมถึงรายชื่อบริษัท และตัวชี้วัดที่นำมาใช้ นักลงทุนที่สนใจสามารถเข้าไปศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้
นอกจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแล้ว ยังมีเว็บไซต์มอร์นิ่งสตาร์ ที่ทำการให้คะแนน Morningstar Sustainability Rating เป็นการให้คะแนนในรูปแบบของรูปลูกโลก ตั้งแต่ 1-5 ลูกโลก โดยคำนวณคะแนนที่ผ่านการวิเคราะห์โดย Sustainanalytics ซึ่งเป็นบริษัทที่เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ด้าน ESG ครอบคลุมกว่า 10,000 บริษัททั่วโลก และมากกว่า 140 บริษัทในประเทศไทย ผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.morningstarthailand.com/th/topics/172927/theme/esg.aspx
ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าการลงทุนในหุ้นหรือกองทุนที่เน้นความยั่งยืนจะสามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงกว่าการลงทุนในรูปแบบอื่นๆ ซึ่งในอดีตหลายคนอาจมองว่าการพิจารณาปัจจัยด้าน ESG ควบคู่ไปกับปัจจัยทางการเงินอาจส่งผลลบต่อผลตอบแทน แต่ในปัจจุบันมุมมองนี้เริ่มเปลี่ยนไปเป็นการลงทุนในลักษณะของการผสมผสานการวางแผนด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล เพื่อการตัดสินใจทางธุรกิจที่ดีขึ้นกว่าเดิม หรือเรียกได้อีกอย่างว่าเป็นการมองทุกปัจจัยอย่างรอบด้านมากขึ้น
สุดท้ายนี้ ผู้เขียนขอฝากประโยชน์สองข้อที่ได้จากการลงทุนใน ESG ให้กับนักลงทุนทุกท่าน นั่นคือ การที่ได้ร่วมลงทุนไปกับบริษัทที่มีแนวโน้มที่จะโตไปกับเทรนด์ในอนาคต เช่น บริษัทในกลุ่มพลังงานสะอาด รถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น และการลงทุนในหุ้นหรือกองทุนกลุ่ม ESG นั้นทำให้รู้สึกดี เนื่องจากการลงทุนใน ESG นั้น ไม่ใช่เพียงแค่ผู้ลงทุนเองได้รับผลตอบแทน แต่การลงทุนนี้ยังช่วยให้โลกดีขึ้นและน่าอยู่ขึ้นอีกด้วย