logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: ภาษีและมรดก

ภาษีเงินได้นิติบุคคลกับ 5 จุดอ่อนบนงบการเงิน

โดย ธัญญพัทธ์ วรวงษ์สถิตย์ นักวางแผนการเงิน CFP®

 

สิ่งหนึ่งที่ผู้ประกอบการรายย่อยหลายๆ คนรู้สึกกังวลคือเรื่องภาษีที่ต้องจ่ายในการทำธุรกิจ ซึ่งก็มีภาษีที่เกี่ยวข้องหลายประเภทไม่ว่าจะเป็นภาษีเงินได้นิติบุคคล (Corporate Income Tax : CIT) ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax : VAT) ภาษีธุรกิจเฉพาะ (Specific Business Tax : SBT) ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (Withholding Tax :  WHT) อากรแสตมป์ ที่อยู่ภายใต้ประมวลรัษฎากร และยังมีภาษีตามกฎหมายอื่น เช่น ภาษีสรรพสามิต ภาษีศุลกากร เป็นต้น บทความนี้จะขอกล่าวถึงจุดอ่อนบนงบการเงินที่มักนำมาสู่ประเด็นที่ชวนให้สงสัยว่าผู้ประกอบการอาจจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลไม่ถูกต้อง

 

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าโดยทั่วๆ ไปภาษีเงินได้นิติบุคคลมักคำนวณจากฐานภาษี ซึ่งก็คือกำไรสุทธิที่คำนวณตามเงื่อนไขของประมวลรัษฎากร ซึ่งเรามักเรียกกันเป็นภาษาที่เข้าใจง่ายๆ ว่า “กำไรสุทธิทางภาษี” โดยกำไรสุทธิทางภาษีที่ว่านั้นจะตั้งต้นจากกำไรสุทธิทางบัญชี (กำไรสุทธิตามงบการเงิน ซึ่งคำนวณจากรายได้ลบด้วยค่าใช้จ่าย) แล้วจึงปรับปรุงตามเงื่อนไขในประมวลรัษฎากรเพื่อสะท้อนถึงความแตกต่างระหว่างการคำนวณรายได้และค่าใช้จ่ายตามมาตรฐานการบัญชีและตามประมวลรัษฎากร เช่น บวกกลับค่าใช้จ่ายบางอย่างที่บันทึกบัญชีไว้แต่ไม่สามารถนำมาถือเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิทางภาษีได้ ฯลฯ ดังนั้นการที่ธุรกิจถูกสงสัยว่ามีการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลน้อยเกินไปจึงมักมีสาเหตุเบื้องต้นจากการที่งบการเงินมีแนวโน้มที่จะแสดงรายได้ที่ต่ำเกินไปหรือแสดงรายจ่ายที่สูงเกินไป หรือในบางกรณีอาจร้ายแรงถึงขั้นงบการเงินดูไม่น่าเชื่อถือเลย ซึ่ง 5 ประเด็นสำคัญที่อาจนำมาซึ่งความสงสัยดังกล่าว ได้แก่

 

  1. งบดุลแสดงยอดสินค้าคงเหลือ (inventory หรือที่เรียกกันติดปากว่า stock) สูงผิดปกติ ไม่สัมพันธ์กับยอดขาย สาเหตุหนึ่งของการมีสินค้าคงเหลือสูงผิดปกติอาจเนื่องมาจากธุรกิจต้องตุน stock สินค้าไว้นานกว่าจะขายได้ มี inventory turnover ที่ต่ำ สินค้าขายยาก แต่ในอีกมุมหนึ่งก็ชวนให้สงสัยได้ว่าสินค้าคงเหลือดังกล่าวอาจไม่มีอยู่จริง เป็นเพียงตัวเลขบนงบการเงิน เนื่องจากธุรกิจอาจมีการขายสินค้าแต่ไม่บันทึกเป็นรายได้ในงบกำไรขาดทุน ส่งผลให้ไม่สามารถบันทึกบัญชีการตัด stock ได้แม้ว่าของนั้นอาจจะส่งมอบให้ลูกค้าไปแล้วก็ตาม ประเด็นนี้จึงชวนให้สงสัยว่างบการเงินแสดงรายได้ที่ต่ำเกินไป
  2. งบกำไรขาดทุนแสดงกำไรขั้นต้น (gross profit margin) ต่ำผิดปกติ อาจจะต่ำผิดปกติเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนๆ หรือเปรียบเทียบกับบริษัทอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน ซึ่งอาจจะเกิดจากการลดราคาสินค้าลงมากเพื่อกระตุ้นยอดขายหรือในบางกรณีก็อาจจะเกิดจากต้นทุนสินค้าที่มีราคาผันผวน แต่กำไรขั้นต้นที่ต่ำผิดปกติก็อาจชวนให้สงสัยได้ว่าธุรกิจอาจมีการขายสินค้าที่ไม่บันทึกเป็นรายได้ในงบกำไรขาดทุนคล้ายกับประเด็นที่ 1 แต่แทนที่จะไม่ตัด stock ออกและแสดงยอดสินค้าคงเหลือสูงผิดปกติ กลับลงบัญชีตัด stock และบันทึกเป็นต้นทุนเพราะของได้ถูกส่งมอบให้ลูกค้าไปแล้ว จึงทำให้ต้นทุนสูงผิดปกติเมื่อเทียบกับรายได้ กำไรขั้นต้นจึงต่ำผิดปกติ ประเด็นนี้จึงชวนให้สงสัยว่างบการเงินแสดงรายได้ที่ต่ำเกินไป (บันทึกรายได้ไม่ครบถ้วน) หรือแสดงค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไป (บันทึกต้นทุนสินค้าที่ขายสูงเกินไป)
  3. งบดุลแสดงเงินกู้ยืมจากกรรมการสูง (หนี้สิน) ในความเป็นจริงก็มีหลายธุรกิจที่เป็นธุรกิจที่ยิ่งทำยิ่งขาดทุน อาจจะเพราะเป็นธุรกิจตกยุค หรืออาจจะเป็นธุรกิจช่วงเริ่มต้นที่ยังจับทางไม่ได้ หรือเป็นธุรกิจที่มีค่าใช้จ่ายดำเนินงานหรือค่าใช้จ่ายทางการตลาดที่สูงมากในช่วงเริ่มต้น ทำให้ธุรกิจไม่สามารถสร้างกระแสเงินสดที่เพียงพอในการดำเนินงานได้ ต้องกู้ยืมเพื่อเสริมสภาพคล่อง ซึ่งบริษัทก็อาจจะเลือกกู้ยืมจากกรรมการ (ส่วนใหญ่ก็คือเจ้าของ) แทนการกู้จากธนาคาร งบดุลจึงแสดงหนี้สินเงินกู้ยืมจากกรรมการที่สูง แต่ประเด็นดังกล่าวก็อาจจะมองต่างมุมได้ว่าการขาดสภาพคล่องของธุรกิจอาจเกิดจากการที่ธุรกิจมีการขายสินค้าแต่ไม่บันทึกบัญชีและรับเงินค่าขายสินค้าโดยบุคคลอื่น (ซึ่งก็มักจะคือกรรมการ) แทนที่จะรับเงินค่าขายสินค้าโดยบริษัท ดังนั้นจึงทำให้บริษัทมีกระแสเงินสดรับไม่เพียงพอต้องทำการกู้ยืมจากกรรมการนั่นเอง ประเด็นนี้จึงเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ชวนให้สงสัยว่างบการเงินแสดงรายได้ที่ต่ำเกินไป
  4. งบดุลแสดงยอดเงินสดในมือสูง หรือมีการเปลี่ยนแปลงของยอดเงินสดคงเหลือในแต่ละปีอย่างมีสาระสำคัญ ซึ่งโดยปกติแล้วธุรกิจที่มีระบบควบคุมภายในที่ดีจะพยายามลดการถือเงินสดในมือและลดการรับจ่ายด้วยเงินสดเพราะมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดทุจริต แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกธุรกิจจะสามารถลดการใช้เงินสดได้ทั้งหมด เช่น ธุรกิจค้าปลีก ก็จะยังมีรายการรับเงินจากลูกค้าเป็นเงินสด แต่ในธุรกิจหลายๆ ธุรกิจการมียอดเงินสดคงเหลือที่สูงหรือมีการเปลี่ยนแปลงของยอดเงินสดคงเหลือมากๆดูจะเป็นเรื่องผิดปกติของธุรกิจนั้นๆ ถ้าเปรียบเทียบกับรายการในบัญชีเงินฝากธนาคารที่มีข้อมูลจากธนาคารมายืนยันรายการได้ว่ารับเงินจากใครหรือจ่ายเงินให้ใคร รายการเงินสดจะเป็นรายการที่ไม่มีเอกสารจากบุคคลภายนอกที่เชื่อถือได้มายืนยัน ทำให้ชวนสงสัยว่าอาจมีการบันทึกบัญชีผ่านบัญชีเงินสดโดยไม่มีรายการเกิดขึ้นจริงโดยเฉพาะอย่างยิ่งรายการค่าใช้จ่าย ประเด็นนี้จึงอาจก่อให้เกิดความสงสัยว่ามีการบันทึกค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไป หรืออาจจะถึงขั้นสงสัยว่างบการเงินดูไม่น่าเชื่อถือเลย
  5. งบดุลแสดงยอดเงินให้กู้ยืมแก่กรรมการ (ทรัพย์สิน) สูง ในหลายๆ ครั้งการที่บริษัทโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทเล็กๆ จะมีการให้กรรมการยืมเงินนั้นเกิดขึ้นได้จริงโดยสุจริตใจ เพราะกรรมการอาจจะขาดสภาพคล่องในการดำเนินชีวิต จะรอการจ่ายเงินปันผลหรือโบนัสก็ไม่ทันกาล หรือจะขึ้นเงินเดือนตัวเองก็เกรงว่าในระยะยาวบริษัทอาจจะจ่ายเงินเดือนที่สูงต่อไปไม่ไหว ต้องปรับขึ้นปรับลงซึ่งเป็นเรื่องยุ่งยาก จึงต้องอาศัยการกู้ยืมเงินจากบริษัทมาใช้ก่อน ซึ่งในกรณีนี้ก็ควรต้องมีการทำสัญญาเงินกู้และมีการคิดดอกเบี้ย (เป็นรายได้ของบริษัท) อย่างถูกต้อง แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่งบัญชีเงินให้กู้ยืมแก่กรรมการก็เป็นอีกบัญชีที่ชวนให้เกิดข้อสงสัย เพราะก็เป็นบัญชีที่ไม่สามารถยืนยันยอดกับบุคคลภายนอกได้คล้ายกับบัญชีเงินสด ดังนั้นจึงอาจก่อให้เกิดข้อสงสัยว่ามีการบันทึกบัญชีค่าใช้จ่ายพร้อมกับบัญชีเงินให้กู้ยืมแก่กรรมการโดยไม่มีรายการเกิดขึ้นจริงหรืออาจสงสัยว่าเป็นการเล่นแร่แปรธาตุของบัญชีเงินสดก็ได้

 

จะเห็นว่างบการเงินนั้นอาจมีจุดอ่อนให้เกิดความสงสัยในเรื่องการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในหลายประเด็นซึ่งในทางปฏิบัตินั้นมีมากกว่า 5 ประเด็นที่กล่าวถึงข้างต้น ผู้ประกอบการจึงควรให้ความสำคัญกับการจัดทำบัญชีอย่างถูกต้องและมีเอกสารประกอบอย่างครบถ้วนเพื่อให้สามารถชี้แจงประเด็นข้อสงสัยได้อย่างเหมาะสม แล้วเรื่องภาษีเงินได้นิติบุคคลจะไม่เป็นเรื่องน่าหวั่นใจของผู้ประกอบการอย่างที่เคยเป็น

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th