บทความ: เกษียณ
กับดักของการออมเงินเกษียณ ที่ทำให้ไม่ได้ตามเป้า
โดย วราญาณ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา นักวางแผนการเงิน CFP®
การออมเงินเพื่อให้มีเงินใช้หลังเกษียณ เชื่อว่าหลายๆ คนเริ่มรู้ตัว เริ่มตระหนัก เริ่มวางแผน เริ่มเตรียมการ และเริ่มลงมือทำกันแล้ว ต้องออมมากน้อยขึ้นอยู่กับรูปแบบการดำเนินชีวิตของคนๆ นั้น ท้ายสุดก็ต้องมีเป้าหมายออกมาว่าจำนวนที่ว่าคือเท่าใด ระยะเวลาที่จะหาเงินมาออมได้ถึงอายุใดเพื่อออมให้ได้เงินจำนวนนี้ สิ่งนี้ไม่ใช่สามารถทำให้สำเร็จภายในปีสองปี แต่จำเป็นต้องใช้ระยะเวลาที่ยาวนาน ความมีวินัย มีกลยุทธ์ของตัวเอง เพื่อออมให้ถึงจำนวนเงินที่ต้องการ (ไม่นับคนส่วนน้อยที่โชคดี อาจได้รับเงินมรดก หรือทำธุรกิจประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว จึงมีเงินออมเพียงพอในระยะเวลาอันสั้น) มาดูกันว่า ระหว่างการเดินทางไปให้ถึงเป้าหมายเงินออมที่วางไว้ กับดักที่อาจจะต้องเจอมีอะไรบ้าง หากติดกับดักแล้ว มีวิธีหลุดออกมาจากตรงนั้นได้อย่างไร
กับดักที่ 1 : ของมันต้องมี ของมันต้องได้
ค่านิยมที่คิดว่า “ของมันต้องมี ของมันต้องได้” สิ่งเหล่านี้จะต้องมีเหมือนคนอื่นๆ ในโลกโซเชียล หรือ ใครๆ เขาก็มีกัน ไม่ว่าจะเป็นการโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เสื้อผ้า กระเป๋า นาฬิกาแบรนด์เนม เพราะกลัวตกกระแส หรือด้วยอิทธิพลการโฆษณาสินค้าที่มีแทบทุกช่องทาง การต้องได้ไปเที่ยวต่างประเทศ การต้องบริโภคกาแฟแบรนด์ดัง กินมื้ออาหารที่หรูหรา เพื่อให้มีภาพแสดงถึงความเป็นอยู่ที่ดี
พฤติกรรมเหล่านี้ส่งผลให้มีเงินออมเพื่อเกษียณน้อยกว่าที่ควรจะเป็น แย่กว่านั้นอีกคือไม่มีเงินออมเลย และแย่ที่สุดคือมีหนี้สินล้นพ้นตัว คือสภาพรายรับที่ได้มาไม่เพียงพอจ่ายหนี้สินที่มีอยู่ได้ เพราะเกิดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นมากเกินไป เมื่อเงินออมไม่พอ เคราะห์ซ้ำกรรมซัด เกิดตกงาน หรือมีเรื่องที่ไม่คิดฝันที่ต้องใช้เงินจำนวนมากขึ้นมา ก็จะทำให้มีหนี้สินติดพันกันมากขึ้นไปอีก
ลองคิดดูว่า หากเราติดกับดักตัวนี้นานเกินไป รู้สึกตัวช้าเกินไป กว่าจะเริ่มมีเงินเก็บได้ก็อายุมากแล้ว จะส่งผลต่อเงินที่ใช้ในการออมเพื่อเกษียณมากขึ้น ในขณะที่จำนวนปีที่เหลือให้ออมนั้นน้อยลง
จากรูป จะเห็นได้ว่า เมื่อมีเป้าหมายอยากเก็บเงินให้ได้ 5 ล้านบาทตอนเกษียณอายุ 60 ปี โดยนำเงินไปลงทุนที่ผลตอบแทน 5% หากเริ่มต้นได้เร็วที่อายุ 25 ปี ใช้เงินออมต่อเดือนเพียง 4,400 บาท แต่หากเริ่มต้นที่อายุ 50 ปี ต้องใช้เงินออมถึง 32,200 บาทต่อเดือนเลยทีเดียว
มาสำรวจตัวเองกันว่ากำลังติดกับดักนี้อยู่หรือเปล่า หากพบว่าใช่ แนวทางที่ดีคือ สมมติตัวเองว่าเกษียณ ณ วันนี้เลย เสมือนวันที่ไม่มีรายได้แล้ว สำรวจว่าสิ่งใดที่จำเป็นบ้างในการใช้ชีวิตของเราจริงๆ จะช่วยทำให้ภาพชัดเจนมากขึ้น
หลังจากนั้นให้จดบันทึกรายรับรายจ่ายในแต่ละเดือนว่าใช้จ่ายอะไรไปบ้าง อะไรสำคัญ ไม่สำคัญ อะไรจำเป็นในตอนนี้ ค่อยๆ ลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง ลดการบริโภคในส่วน “ของมันต้องมี” ลงไป
หากพบว่ามีกระแสเงินสดติดลบ หาวิธีที่ทำให้กระแสเงินเป็นบวกแล้วเริ่มออมกันใหม่
หากกระแสเงินสดเป็นบวกอยู่แล้ว ให้ใช้เทคนิคออมก่อนใช้ก็ได้ ตั้งเป้าว่าจะออมเดือนละเท่าไร ให้ตัดเงินนั้นเพื่อออมก่อน เงินที่เหลือให้เป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่จำเป็น เพียงเท่านี้ก็เหลือเงินไปออมเพิ่มขึ้น
น้องพีช สาววัยทำงานอายุ 30 ปี มีไลฟ์สไตล์ชอบท่องเที่ยวต่างประเทศปีละ 2 ครั้ง ชอบกินกาแฟแบรนด์หรูทุกวันเวลาทำงาน เฉลี่ยสัปดาห์ละ 5 แก้ว และเมื่อเหนื่อยจากงานมักสังสรรค์กับเพื่อนตอนเย็นวันเว้นวัน ทำให้ในแต่ละเดือนเธอแทบไม่มีเงินเหลือเก็บเลย
เธอเห็นภาพอนาคตของตนเองหากสถานการณ์ไม่มีเงินเก็บยังเป็นอยู่แบบนี้ แก่ตัวไปไม่มีเงิน และยังต้องทำงานหาเลี้ยงตนเองไปวันๆ เพื่อให้มีเงินพอใช้จ่าย เธอไม่อยากให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น จึงมาทบทวนบันทึกการใช้จ่ายของตนเอง เมื่อเห็นว่าบางอย่างไม่จำเป็นขนาดนั้น เธอจึงปรับพฤติกรรมการใช้เงินของเธอให้ไม่ฟุ่มเฟือยจนเกินไป โดยที่ตั้งใจเที่ยวต่างประเทศเหลือปีละ 1 ครั้ง กาแฟร้านโปรดกินเพื่อให้สุขใจบ้างเหลือสัปดาห์ละ 1 แก้ว และกลับบ้านพักผ่อนให้เร็วขึ้น ลดการสังสรรค์ให้เหลือสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
จากการปรับพฤติกรรมการใช้เงินของเธอ ทำให้เธอประหยัดเงินได้ปีละ 173,600 บาท เงินที่ประหยัดได้ก้อนนี้ไปลงทุนด้วยผลตอบแทนที่ 5% ทำแบบนี้ทุกปีเป็นเวลา 30 ปี จนเกษียณที่อายุ 60 เมื่อเกษียณอายุเธอจะมีเงินถึง 11,533,783 บาทเลยทีเดียว
เห็นแบบนี้แล้ว เริ่มสำรวจตัวเองกันเลยว่า “ของมันต้องมี ของมันต้องได้” ของตนเองเยอะเกินความจำเป็นกันหรือยังนะ
กับดักที่ 2 : แซนด์วิชเจนเนอเรชั่น
แซนด์วิชเจนเนอเรชั่น คือภาวะของคนวัยทำงานที่ต้องดูแลคนถึง 2 รุ่น คือรุ่นลูก และรุ่นพ่อแม่ ส่วนตัวเองอยู่ตรงกลาง ในฐานะของคนเป็นพ่อแม่ของลูก ความรับผิดชอบที่มีต่อลูกก็ไม่พ้นค่าเล่าเรียน ค่าดูแลความเป็นอยู่ของบุตร พร้อมกันนั้นในฐานะที่เป็นลูกของพ่อแม่ บางคนอาจจะต้องดูแลในส่วนของความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน ค่ารักษาพยาบาลของผู้มีพระคุณของเขา คนเจนเนอเรชั่นนี้ส่วนใหญ่เป็นวัยทำงานกำลังสร้างเนื้อสร้างตัว สร้างครอบครัวให้มั่นคง จึงหนีไม่พ้นที่จะมีค่าผ่อนบ้าน ค่าผ่อนรถอีก จากภาระค่าใช้จ่ายที่มากมายเช่นนี้ ทำให้เงินเหลือไม่พอจะออมให้ถึงเป้าหมายที่ต้องมียามเกษียณถ้าเทียบกับเวลาที่เหลืออยู่
จากภาพตัวอย่าง โทมัส อายุ 45 ปี มีเป้าหมายว่าต้องเก็บเงินเกษียณให้ได้ 10 ล้านบาท ที่ทำงานกำหนดอายุเกษียณให้ถึง 60 ปี เขาได้ลงมือคำนวณแล้วว่าสามารถออมได้เดือนละ 15,000 บาทเท่านั้น เขารับความเสี่ยงได้ในการลงทุนที่ผลตอบแทน 8% และไม่สามารถออมได้มากกว่านี้อีกแล้วเนื่องจากต้องดูแลลูก 2 คนที่กำลังอยู่ในวัยเรียนมัธยมและมหาวิทยาลัย ด้วยวัยของพ่อแม่ที่ชรา ทำให้โทมัสต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้พ่อแม่ถี่ขึ้น จากตัวเลขเหล่านี้แม้ว่าเขาจะเลือกออมด้วยผลตอบแทนที่สูงมากแล้วก็ตาม แต่ระยะเวลาอีก 15 ปีที่เหลือก่อนเกษียณที่อายุ 60 ปี ก็ไม่สามารถทำให้เขาบรรลุเป้าหมาย 10 ล้านตามที่ตั้งใจไว้
ใครก็ตามที่ต้องอยู่ในภาวะแซนด์วิชเจนเนอเรชั่นเหมือนกับโทมัส จะให้โดดออกมาจากความรับผิดชอบคงเป็นไปไม่ได้ วิธีออกจากกับดักนี้ จำเป็นที่ต้องยืดระยะเวลางานเกษียณอายุออกไปเพื่อให้มีระยะเวลาออมเงินเพิ่ม ดังตัวอย่างของโทมัส ถ้าเขายืดอายุเกษียณของตัวเองเป็น 67 ปี เป้าหมาย 10 ล้านบาทก็เป็นไปได้
ในกรณีของพนักงานบริษัทอาจจำเป็นต้องศึกษากฎระเบียบบริษัทว่าอนุญาตขยายระยะเวลาเกษียณอายุนี้ออกไปได้ไหม หากทำได้ให้ใช้แผนนี้ แต่หากบริษัทไม่มีนโยบายนี้ ก็ต้องเตรียมตัวฝึกทักษะงานที่สองแต่เนิ่นๆ ไว้เป็นอาชีพหลังเกษียณของงานหลัก ในกรณีของฟรีแลนซ์ ให้หมั่นฝึกทักษะการทำงานหลายด้านเพิ่มเติม เหล่านี้ก็เพื่อสร้างโอกาสรายได้นอกเหนือจากงานหลัก และอาจเป็น passive Income ให้กับตนเองหลังเกษียณอายุก็ได้
กับดักที่ 3 : โรคกลัวการขาดทุน
มีคนจำนวนไม่น้อยที่มีวินัยทางการเงินดีมาก มีเป้าหมายในการเก็บเงินยามเกษียณของตนเองอย่างชัดเจน และเริ่มลงมือเก็บเงินตั้งแต่อายุยังน้อย แต่สิ่งหนึ่งพวกเขาอาจไม่รู้คือผลตอบแทนในสินทรัพย์ที่เอาไปลงทุน มีผลทำให้เงินของพวกเขาโตไม่เท่ากัน
คนทั่วไปมักจะคิดถึงการเอาเงินไปฝากบัญชีธนาคารเท่านั้นคือการออมเงิน เพราะรู้สึกว่าเงินของฉันยังอยู่ครบแถมได้ผลตอบแทนมาเป็นดอกเบี้ย ไม่อยากเอาเงินไปลงทุนทางอื่นเพราะกลัวการขาดทุน ทำให้พลาดโอกาสการได้รับผลตอบแทนดีๆ ของสินทรัพย์ชนิดอื่นที่สามารถใช้เป็นเครื่องมือออมเงินเพื่อยามเกษียณได้ เช่น หุ้นกู้ หุ้นสามัญ กองทุนรวมประเภทต่างๆ
จากตัวอย่างข้างบนเริ่มต้นออมที่อายุ 25 ปี ใช้เวลาออมเงิน 35 ปี โดยออมเดือนละ 5,000 บาท หากเลือกสินทรัพย์ที่ผลตอบแทน 2 % อายุ 60 ปี จะมีเงิน 3,037,738 บาท แต่หากเลือกสินทรัพย์ที่มีผลตอบแทน 8% เงินจะโตไปถึง 11,469,412 บาทเลยทีเดียว จึงเห็นได้ว่า แม้เก็บเงินเท่ากันด้วยระยะเวลาที่เท่ากัน แต่เลือกลงทุนที่ผลตอบแทนต่างกัน เงินโตจึงต่างกัน
เพื่อไม่ให้ติดกับดักโรคกลัวการขาดทุนนี้ ให้เริ่มศึกษาผลตอบแทนเฉลี่ยของสินทรัพย์ต่างๆ ธรรมชาติของสินทรัพย์นั้นๆ มีคาแรคเตอร์อย่างไร ศึกษาวิธีการลงทุนของสินทรัพย์แต่ละประเภท เช่น ลงทุนในหุ้นกู้ กองทุนรวม หุ้นสามัญทำอย่างไร นอกเหนือจากฝากเงินกับธนาคาร
บางทีการยอมรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้นหน่อย ลงมือศึกษาและเลือกวิธีลงทุนที่ให้อัตราผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น จะทำให้เงินงอกเงยมากขึ้น หมายความว่าถ้ายังคงออมเงินด้วยเวลาเท่าเดิม จะทำให้ได้เงินมากกว่าเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ เพื่อใช้ชีวิตที่สุขสบายหลังเกษียณได้มากขึ้นอีกด้วย
ท้ายนี้ เริ่มลงมือตรวจสอบตนเองว่าติดกับดักเหล่านี้ให้แล้วหรือยัง ไม่สำคัญว่ากำลังติดกับดักอยู่กี่แบบ แต่สำคัญว่าเราออกมาจากกับดักได้เร็วแค่ไหน ยิ่งออกได้เร็วเท่าใด เป้าหมายเงินเกษียณที่วางไว้ก็จะถึงได้ไวตามใจปรารถนาแน่นอน