logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: บริหารจัดการเงิน

วิชาใช้เงิน (ฉบับมือใหม่หัดใช้)

โดย ฉัตรี ชุติสุนทรากุล นักวางแผนการเงิน CFP®

 

วิชาต่างๆ ที่พวกเราฝึกฝนมาตั้งแต่เล็กจนโต ส่วนใหญ่แล้วเป็นวิชาที่ช่วยให้เราสนุกกับการหาเงิน ทำให้เรากลายเป็นคนที่ขยันทำงานกันมากๆ เพื่อที่จะหาเงินได้เยอะๆ แต่หลายคนกลับพบกับความจริงอันเจ็บปวดที่ว่า ทำงานหนักมีรายได้เยอะ แต่ก็ยังมีเงินไม่พอใช้ แถมบางคนยังต้องทำงานหาเงินเลี้ยงชีพไปจนวันสุดท้ายของชีวิต วันนี้จึงขอเชิญชวนมาสนุกกับอีกวิชาที่ผู้คนมักหลงลืม วิชาที่สำคัญไม่แพ้วิชาหาเงิน ซึ่งก็คือ “วิชาใช้เงิน” ค่ะ

 

เนื้อหาของวิชาใช้เงิน ได้ถูกแบ่งออกเป็น 3 ภาค โดยในแต่ละภาคจะมีเกม (Quest) ให้ลองเล่นสนุกกันด้วยค่ะ

 

 วิชาใช้เงิน ภาคที่ 1 : แบ่งจ่าย 

 

“แบ่งจ่าย” ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึง แนะนำให้ผ่อนชำระนะคะ แต่หมายถึงการให้เราแบ่ง “รายได้ที่ได้มาเป็นก้อน” ในแต่ละครั้ง หรือในแต่ละเดือน แจกจ่ายออกเป็นส่วนๆ ใส่กระปุกต่างๆ ดังต่อไปนี้ค่ะ

 

  1. แบ่งจ่ายใส่ “กระปุกแห่งอนาคต” หรือจะใครจะเรียกว่ากระปุกแห่งความฝันก็ไม่ผิด โดยตั้งชื่อให้เป็น กระปุกฝันไกล (ฝันจะเป็นจริงในอีก 5-10 ปี หรือไกลกว่านั้นก็ได้) และ กระปุกฝันใกล้ (ฝันจะเป็นจริงในอีก 3-5 ปีข้างหน้า)
    • ตัวอย่าง กระปุกฝันไกล เช่น เราฝันไว้ว่าอยากมีเงินใช้ระหว่างอายุ 60-80 ปี เดือนละ 25,000 บาท โดยไม่ต้องทำงานหาเงินแล้วหลังอายุ 60 ปี ​เราจึงต้องมีเงินเต็มกระปุกเป็นจำนวน 6,000,000 บาท ณ วันที่เราอายุ 60 ปี เพื่อใช้ไปอีก 20 ปี (คิดตรงๆ โดยสมมุติว่าโลกนี้ไม่มีเงินเฟ้อ) ระหว่างนี้เราก็ค่อยๆ หยอดเงินเข้ากระปุกนี้ไปเป็นประจำจนเงินเต็มกระปุก
    • ตัวอย่าง กระปุกฝันใกล้ เช่นเราฝันว่าอยากจะมีเงินดาวน์รถใหม่ในอีก 3 ปีข้างหน้า เป็นเงิน 240,000 บาท ระหว่างนี้ทุกเดือนเราก็ต้องแบ่งเงินมาใส่เตรียมไว้ในกระปุกนี้ประมาณ 6,667 บาท ต่อเดือน
  2. แบ่งจ่ายใส่ “กระปุกขาประจำ” เตรียมไว้สำหรับทุบกระปุก นำเงินมาจ่ายจริงเมื่อถึงรอบจ่าย ตัวอย่างเช่น กระปุกค่างวดรถเดือนละ 5,000 บาท, กระปุกค่าผ่อนบ้าน เดือนละ 8,000 บาท, กระปุกเบี้ยประกัน ปีละ 300,000 บาท (หรือเดือนละ 25,000 บาท) หรือกระปุกค่าเทอมลูก ซึ่งกระปุกขาประจำก็คือ เงินที่เราเตรียมไว้สำหรับค่าใช้จ่ายที่มาเป็นประจำเท่าๆ กัน ในแต่ละงวดนั่นเอง
  3. แบ่งจ่ายใส่ “กระปุกขาจร” ตัวอย่างของเงินในกระปุกขาจร ก็คือเงินที่ถูกแบ่งไว้เป็น ค่าใช้จ่ายต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น ค่าน้ำค่าไฟ ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าโทรศัพท์ ค่าเสื้อผ้า ค่าสนุกสนาน เป็นต้น
  4. กระปุกฉุกเฉิน ชื่อก็บอกชัดว่าเราจะทุบกระปุกนี้ได้เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินเท่านั้น ดังนั้นให้นำกระปุกนี้ไปฝังดิน หรือเก็บไว้ห่างๆ อย่างห่วงๆ หากไม่มีเหตุฉุกเฉินเช่นรายได้ลดลงกระทันหัน เราก็เก็บเงินในกระปุกนี้ให้คงเหลือไว้นิ่งๆ เป็นจำนวนเท่ากับ = (เงินในกระปุกขาจร และกระปุกขาประจำ ต่อเดือน) x 6 เดือน **หากมีเหตุฉุกเฉินนำเงินไปใช้ ก็ควรจะรีบนำเงินกลับมาเติมกระปุกนี้ให้เต็มโดยเร็วที่สุด

 

เกมท้ายบทเรียน วิชาใช้เงิน ภาคที่ 1 :

  1. จดชื่อกระปุกต่างๆ ของตนเองลงในกระดาษ พร้อมประเมินว่าเงินเต็มกระปุกของแต่ละกระปุกคือเท่าไร?
  2. ในแต่ละเดือนควรจ่ายเงินเข้าแต่ละกระปุก เป็นจำนวนเงินกระปุกละกี่บาท เพื่อให้เต็มกระปุกภายในกี่ปี?
  3. นำรายได้ในแต่ละเดือน มาแบ่งจ่ายใส่กระปุกต่างๆ ตามจำนวน โดยจ่ายให้หมดห้ามเหลือเงินไว้นอกกระปุก

 

ผู้ชนะในเกมนี้ก็คือผู้ที่สามารถแบ่งเงินที่ได้มาในแต่ละเดือน ไปหยอดได้ครบทุกกระปุก ตามจำนวนที่กำหนดในข้อ 2 และเมื่อสอบผ่านแล้ว เราก็เข้าสู่วิชาใช้เงิน ภาค 2 ได้เลยค่ะ

 

 วิชาใช้เงิน ภาคที่ 2 : ใช้ให้หมด 

 

หาเงินมาทั้งที ก็ต้องใช้เงิน และจะใช้ทั้งทีก็ต้องใช้ให้หมดด้วย! แต่คำว่า “ใช้ให้หมด” ในที่นี้ขอให้หมายถึง “ใช้เงินในทุกกระปุก ทำงานให้หมด” เราทำงานหนักแล้ว ให้เงินช่วยเราทำงานบ้าง แต่ก่อนจะใช้เงินให้ทำงานได้ เราต้องศึกษานิสัยของเงินในแต่ละกระปุกกันก่อนค่ะ

 

กระปุกแห่งอนาคต หรือกระปุกแห่งความฝัน นิสัยของเงินในกระปุกนี้ คือ ขยัน และชอบร้องเพลง “รู้ว่าเสี่ยงแต่คงต้องขอลอง” โดยเฉพาะเงินในกระปุกฝันไกล เราสามารถใช้ให้เขาทำงานแบบเสี่ยงได้มากกว่าเงินในกระปุกอื่นๆ เช่นใช้เงินในกระปุกนี้ไปทำงานเป็นหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ หรือไปเป็นกองทุนต่างๆ ในตลาดหุ้น เป็นต้น ส่วนเงินในกระปุกฝันใกล้ ก็ให้เขาทำงานแบบเสี่ยงต่ำลงมาหน่อย เช่นให้เขาไปทำงานเป็นหุ้นกู้ หรือไปเป็นกองทุนที่ลงทุนในหุ้นกู้ เป็นต้น

 

เมื่อเราให้เงินช่วยทำงาน เงินในกระปุกฝันไกลและฝันใกล้ จึงงอกเงยแตกตัวเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ได้เองระหว่างทำงานให้เรา ผลก็คือเราสามารถมีฝันที่ใหญ่ขึ้น หรือเราสามารถมีจำนวนความฝันที่เยอะขึ้นได้ด้วยเช่นกันค่ะ ทั้งนี้เราต้องศึกษาเพิ่มเติมเรื่องความเสี่ยงในการใช้เงินทำงาน หรือความเสี่ยงในการนำเงินในกระปุกนี้ไปลงทุนนั่นเอง ความรู้ช่วยลดความเสี่ยงได้ เราจึงต้องศึกษาเอกสารการลงทุนด้วยทุกครั้ง หรือมีที่ปรึกษาด้านการลงทุนที่มีความชำนาญเป็นผู้ช่วยเราดูลาดเลาด้วย

 

กระปุกขาประจำ เงินในกระปุกนี้เขามีนิสัย ขี้กลัว เพราะเขาขี้กลัว เราจึงใช้เงินในกระปุกนี้ทำงานเสี่ยงมากไม่ได้ ตัวอย่างการใช้เงินในกระปุกนี้ทำงาน เช่น เอาเงินในกระปุกนี้ไปทำงานในบัญชีฝากประจำ 6 เดือน บัญชีออมทรัพย์ หรือให้เงินไปทำงานในกองทุนตลาดเงิน ที่ความเสี่ยงไม่เกินระดับ 3 ซึ่งเราสามารถซื้อขายได้ทุกวันทำการ และพอจะมั่นใจได้ว่าเงินต้นไม่หดหายไปอย่างน่าตกใจ เพราะเงินในกระปุกนี้คือเงินที่เราต้องเตรียมไว้ทุบกระปุกออกมาใช้ในระยะเวลา 12 เดือน หรือต่ำกว่านั้น

 

กระปุกขาจร เงินในกระปุกนี้เขามีนิสัย ขี้เกียจ เราจึงใช้เงินในกระปุกนี้ให้ทำงานหนักๆ ไม่ได้ แต่เราจะใช้เขาได้ในแง่ของการนำเงินในกระปุกนี้ไปซื้อความสุขในชีวิตประจำวัน เมื่อเราจัดสรรเงินไว้อย่างดีแล้วในแต่ละกระปุกที่กล่าวมาทั้งหมดก่อนหน้านี้ เราก็สามารถใช้เงินขี้เกียจในกระปุกนี้ ซื้อความสุขให้เราได้อย่างเต็มที่ แต่ถ้าตอนเล่นเกม ท้ายบทเรียน วิชาใช้เงิน ภาคที่ 1 เรายังไม่สามารถมีเงินไปหยอดในกระปุกแรกๆ ได้อย่างเพียงพอ เราก็ต้องใช้ใจเราช่วยทำงานแทนเงิน นั่นก็คือ อดทน อดกลั้น ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ลดจำนวนเงินที่ต้องหยอดเข้ากระปุกนี้ให้ได้ เงินขี้เกียจไม่ต้องเลี้ยงไว้เยอะก็ได้ จริงไหมคะ

 

เกมท้ายบทเรียน วิชาใช้เงิน ภาคที่ 2 : ลองคำนวณเล่นๆ ว่าในปีที่ผ่านมาเราเพิ่มเงินเข้ากระปุกเงินขยัน เงินขี้กลัว และเงินขี้เกียจ คิดเป็นสัดส่วนเท่าไร? เรามีแผนเพิ่มเงินขยันอย่างไร และมีแผนปฏิบัติการจู่โจม ลดจำนวนเงินขี้เกียจลงได้อย่างไรบ้าง?

 

 วิชาใช้เงิน ภาคที่ 3 : จดให้ยับ 

 

จดให้ยับ ก็คือการที่เราควรจดบันทึกความเคลื่อนไหวของเงินในทุกกระปุกเอาไว้ทั้งหมด ข่าวดีคือในปัจจุบันมีแอปพลิเคชัน ต่างๆ มากมายเป็นผู้ช่วยเราได้

 

กระปุกฝันใกล้ กระปุกฝันไกล และกระปุกขาประจำ แอปพลิเคชันที่ช่วยเราจดบันทึกความเคลื่อนไหวได้ก็คือ แอปพลิเคชันการลงทุนของสถาบันต่างๆ ที่เราสั่งให้เงินไปประจำการ ทำงานให้เราอยู่นั่นเอง

 

กระปุกขาจร และตอนทุบกระปุกขาประจำ นำเงินออกมาใช้ การจดยับแบบละเอียดยิบ จะช่วยทำให้เราจดจำได้ว่า เรานำเงินไปใช้ซื้อความสุขอะไรบ้าง ซึ่งก็มีแอปพลิเคชันต่างๆ มากมายในมือถือ ที่ช่วยเราจดบันทึกได้อย่างรวดเร็ว และเป็นหมวดหมู่ แนะนำให้จดเมื่อจ่ายในทันทีจะได้ไม่ลืม การจดจะช่วยให้เราคิดหาแผนปฏิบัติการจู่โจม ลดเงินขี้เกียจได้อย่างแม่นยำด้วยค่ะ

 

บทสรุปพร้อมเกมส่งท้าย สนุกกับการหาเงินแล้วต้องสนุกกับการใช้เงินด้วย หวังว่าวิชาใช้เงินจะช่วยให้เราสนุกกับการใช้เงินอย่างถูกวิธี เมื่อเราเพิ่มเงินขยัน ลดเงินขี้เกียจได้ เราก็จะมีเงินใช้เพลินๆ ไปตลอดชีวิตอย่างแน่นอน และสำหรับเกมส่งท้ายก็คือ ขอท้าทายให้ทุกคนลองนำวิชาใช้เงินไปใช้จริง ติดตามการทำงานของเงินแต่ละกระปุก และนำวิชานี้ไปบอกต่อค่ะ

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th