logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: ประกันภัย

เคล็ดลับ 5 ข้อ สร้างภูมิคุ้มกันในการเลือกประกันสุขภาพให้เหมาะสม

โดย ณรงค์ศักดิ์ พิริยะพงศ์ นักวางแผนการเงิน CFP®

 

ความทันสมัยของเทคโนโลยีทำให้การเข้าถึงข้อมูลนั้นง่ายขึ้นในปัจจุบัน แต่ในทางตรงกันข้ามเมื่อเรามีข้อมูลที่มากเกินไป การเลือกใช้ข้อมูลโดยเฉพาะข้อมูลสำคัญอย่างประกันสุขภาพที่หลายบริษัทมีออกมามากมาย โดยเฉพาะช่วงที่มีการระบาดของโรคในวงกว้าง มีการเน้นย้ำ จุดดี จุดเด่น ที่มีความแตกต่างกันไป ทำให้เราในฐานะผู้รับข้อมูลและต้องการเลือกประกันสุขภาพที่ดีและเหมาะสมให้กับตนเอง จำเป็นต้องมีปัจจัยในการพิจารณาให้เกิดความรอบคอบและมั่นใจว่าสิ่งที่เลือกมานั้นเป็นสิ่งที่เหมาะสมกับตนเองจริงๆ ทั้งนี้ผู้เขียนขอเสนอเคล็ดลับสร้างภูมิคุ้มกันในการเลือกประกันสุขภาพให้เหมาะกับตัวเราดังนี้ครับ

 

 1. ความคุ้มครองและสวัสดิการ 

 

ข้อนี้หมายถึงสิ่งที่เรามีอยู่ ในเรื่องของความคุ้มครองด้านสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการจากที่ทำงาน สวัสดิการจากประกันสังคม สิทธิข้าราชการ หรือสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทั้งนี้ถ้าเราทราบวงเงินที่คุ้มครอง รวมไปถึงการได้ลองใช้บริการรักษา เบิกเคลมต่างๆ แล้วนำมาเป็นข้อมูลในการตัดสินใจ ตัวอย่างเช่น ถ้านาย A มีสวัสดิการสุขภาพของบริษัทที่ทำงาน ในวงเงินทั้งปี 300,000 บาท และสามารถเข้าใช้ได้ทุกโรงพยาบาลตามที่บริษัทกำหนด แต่ให้เบิกค่ารักษาสูงสุดครั้งล่ะไม่เกิน 100,000 บาท เป็นต้น ดังนั้นถ้านาย A ต้องเข้ารักษาตัวในวงเงินที่ 150,000 บาท ซึ่งเกินกว่าที่บริษัทกำหนด ภาระค่าใช้จ่ายส่วนเกิน 50,000 บาท นาย A ต้องรับผิดชอบเอง

 

 2. สถานพยาบาลที่ใช้บริการประจำ 

 

ทั้งนี้เราสามารถสอบถามค่ารักษาโดยประมาณ ในโรคต่างๆ ที่พบได้บ่อย เช่น อาหารเป็นพิษ โรคกระเพาะ หรือโรคมะเร็ง จากทางฝ่ายการเงินของโรงพยาบาล ซึ่งแน่นอนว่าทางพยาบาลย่อมยินดีให้ข้อมูลเหล่านี้กับเราในฐานะลูกค้า หลังจากได้ข้อมูลมา ให้เปรียบเทียบในข้อแรก ว่าเรายังมีส่วนที่ขาดและส่วนที่เกินอยู่เท่าไหร่

 

 3. โอกาสและความเสี่ยง 

 

เมื่อเราทราบความคุ้มครองที่เราต้องการจากข้อ 1 และข้อ 2 แล้ว ในส่วนถัดมาให้พิจารณาจากประวัติคนในครอบครัว เช่น บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย และการใช้ชีวิตส่วนตัว โดยเฉพาะการดูแลรักษาสุขภาพ เพราะโรคส่วนใหญ่มาจากปัจจัยสำคัญ คือ พันธุกรรมและลักษณะการใช้ชีวิต ซึ่งถ้าคนในครอบครัวเคยมีประวัติเป็นโรคร้ายแรง และตนเองไม่มีเวลาในการดูแลสุขภาพ โอกาสที่จะเป็นโรคต่างๆ ย่อมมีสูงขึ้น ดังนั้น ถ้าความคุ้มครองที่มียังไม่เพียงพอที่จะครอบคลุมค่ารักษา อาจต้องเลือกประกันสุขภาพ เพิ่มเติมโดยพิจารณาจากหัวข้อถัดไป

 

 4. ข้อจำกัดในเรื่องของงบประมาณ 

 

เมื่อพิจารณาเบื้องต้นแล้วว่าจำเป็นต้องมีประกันสุขภาพเพิ่มเติม แต่ไม่อยากมีภาระในการจ่ายเบี้ยประกันที่สูงเกินไปเช่นกัน ดังนั้น จากข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย “ควรพิจารณาเบี้ยประกันสุขภาพที่เหมาะสม ไม่มากไปหรือน้อยเกินไป โดยพิจารณาศักยภาพของตนเองว่าสามารถจ่ายเบี้ยประกันได้ในระดับใด ซึ่งโดยปกติไม่ควรจะเกิน 10-15% ของรายได้รวมทั้งปี” ซึ่งโดยความเห็นส่วนตัวผู้เขียน เชื่อว่าเป็นอัตราส่วนที่เหมาะสม เพราะเมื่อเราซื้อประกันสุขภาพไว้ แม้ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แต่ถ้าเกิดเจ็บป่วยขึ้น ย่อมช่วยแบ่งเบาภาระ รวมถึงลดผลกระทบเรื่องกระแสเงินสดที่ใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้เช่นกัน

 

 5. ข้อยกเว้นสำคัญในประกันสุขภาพที่เราอาจหลงลืม 

 

เช่น ระยะเวลาการรอคอย ข้อจำกัดเรื่องค่าห้องค่ารักษา เงื่อนไขความคุ้มครอง เช่น การผ่าตัดแบบไม่ต้องนอนค้างคืน หรือค่าตรวจวินิจฉัยโดยเครื่องทางการแพทย์ ซึ่งบางแบบประกันสุขภาพอาจจะไม่คุ้มครอง ดังนั้น ในเคล็ดลับนี้จึงมีความสำคัญไม่น้อยกว่าข้ออื่นๆ ที่ใช้ในการตัดสินใจเลือกซื้อแบบประกันสุขภาพให้เหมาะสม

 

จากที่กล่าวมา ถ้าผู้อ่านนำเคล็ดลับทั้ง 5 ข้อ ไปปรับใช้กับตนเองในการเลือกประกันสุขภาพ ที่มีหลายบริษัทแข่งกันนำเสนอแบบประกันในทุกช่องทางสื่อที่มาถึงตัวผู้บริโภค ผู้เขียนเชื่อว่าการเลือกจะทำได้ง่ายขึ้น รวมถึงมีความเหมาะสมกับตัวผู้อ่านเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้ ขอให้ทุกคนรักษาสุขภาพ ปลอดภัย สุภาพกายใจ แข็งแรงปราศจากโรคภัยนะครับ

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th