logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: ประกันภัย

เทคนิคเลือกประกันโควิด-19 อย่างไรให้อุ่นใจ เพิ่มความคุ้มครอง

โดย บุณยนุช ยุทธ์ประทุม นักวางแผนการเงิน CFP®

 

ในปีนี้ยังเป็นอีกปีที่เราทุกคนยังมีความกังวลอย่างยิ่งกับเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) เนื่องจากจำนวนคนติดเชื้อไวรัสรายใหม่ที่มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และแบบประกันภัยก็ได้มีการพัฒนาถึงเรื่องความคุ้มครองโควิด-19 และการแพ้วัคซีนโควิด-19 นี้ด้วย แล้วเราจะเลือกประกันโควิด-19 อย่างไรให้อุ่นใจและเพิ่มความคุ้มครองจากสวัสดิการที่เรามี

 

ก่อนที่เราจะเลือกแบบประกัน เรามาทำความรู้จักกับความคุ้มครองของประกันโควิด-19 กันสักนิด โดยในที่นี้จะแบ่งหมวดความคุ้มครองเป็น 3 หมวดหลัก นั่นคือ หมวดความคุ้มครองแบบรับเงินเป็นก้อนเมื่อตรวจพบเชื้อไวรัสโคโรน่าหรือแพ้วัคซีน หมวดความคุ้มครองแบบได้รับเงินชดเชยรายวันเมื่อมีการเข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยใน และหมวดความคุ้มครองแบบค่ารักษาพยาบาล ที่จ่ายตามค่าใช้จ่ายจริงจากโรงพยาบาล ไม่เกินวงเงินสูงสุดที่กรมธรรม์ระบุไว้ โดยวงเงินในกรมธรรม์ของสามหมวดนี้อาจแตกต่างกันไปในแต่ละกรณี (1) กรณีพบเชื้อไวรัสโคโรน่าแบบไม่รุนแรง (2) กรณีแพ้วัคซีนโควิด-19 แบบไม่รุนแรง (3) ผู้ป่วยอยู่ในภาวะโคม่าจากเชื้อไวรัสโคโรน่า และ (4) กรณีผู้ป่วยอยู่ในภาวะโคม่าจากภาวะแทรกซ้อน หรือผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ผู้เอาประกันจึงต้องสำรวจว่าหากผู้เอาประกันเจ็บป่วยจากโรคนี้ จะได้เคลมเงินจากหมวดไหน กรณีใด วงเงินเท่าไหร่บ้าง

 

นอกจากเรื่องความคุ้มครองแล้ว ผู้เอาประกันควรจะต้องพิจารณาเรื่องอายุที่รับประกัน ระยะเวลารอคอย สัญชาติที่ทำประกันได้ การอยู่พักอาศัยในประเทศไทยเท่านั้น ข้อยกเว้นในเรื่องของอาชีพกลุ่มพิเศษ การเจ็บป่วยที่เป็นมาก่อนและยังไม่ได้รักษาให้หายขาด และวัคซีนโควิด-19 ต้องได้รับการขึ้นทะเบียนของสำนักงาน คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และได้รับการฉีดวัคซีนโดยโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลเวชกรรมในประเทศไทยเท่านั้น

 

สำหรับเทคนิคในการเลือกประกันโควิด-19 อย่างไรให้เพิ่มความคุ้มครองจากสวัสดิการที่ท่านมีอยู่แล้วนั้น ท่านสามารถเริ่มต้นจากสำรวจสวัสดิการของตนเองว่าท่านมีสิทธิเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลใดได้บ้าง ความใกล้ไกลของโรงพยาบาลจากสถานที่ที่ท่านอยู่ และความอำนวยสะดวกในด้านต่างๆ หากท่านจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาการเจ็บป่วยด้วยโรคนี้ แม้ว่าการรักษากรณีเจ็บป่วยแบบไม่รุนแรง ผู้ป่วยจะต้องนอนพักรักษาประมาณ 7-14 วัน (https://med.mahidol.ac.th/th/COVID-19/faq/02apr2020-1018) การเข้าพักรักษาในเวลานานกับสถานพยาบาลที่ท่านพึงพอใจอาจมีผลต่อสุขภาพใจที่ดีของท่านด้วย ซึ่งปัจจุบันผู้ป่วยมีทางเลือกที่จะเข้าพักรับการรักษาที่โรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม หรือโรงพยาบาลโรงแรม Hospitel ซึ่งเดิมทีเป็นโรงแรม แต่มาดัดแปลงเป็นที่พักให้กับผู้ป่วยโดยอยู่ภายใต้การดูแลจากโรงพยาบาล เพื่อรองรับผู้ป่วยที่เจ็บป่วยไม่รุนแรงมากนัก

 

นอกจากพิจารณาโรงพยาบาลที่ท่านสามารถเข้ารับการรักษาแล้ว ท่านควรพิจารณาวงเงินค่ารักษาหากเชื้อโรคได้ลุกลามจนอยู่ในระยะวิกฤต ท่านยังคงสามารถเบิกจ่ายตรงกับสวัสดิการของรัฐ หรือเคลมบริษัทประกันได้เต็มจำนวนค่ารักษาทั้งหมดหรือไม่ และสำรวจวงเงินสูงสุดที่สามารถเคลมได้ เนื่องจากรักษาพยาบาลผู้ป่วยระยะวิกฤตมีค่าใช้จ่ายที่สูง หากท่านมีวงเงินค่ารักษาที่จำกัด การเลือกประกันโควิด-19 ที่มีค่ารักษาพยาบาลที่มากพอก็สามารถช่วยแบ่งเบาภาระค่ารักษานี้ได้ ไม่ให้มีส่วนต่างที่ท่านต้องจ่ายเพิ่มเติมเองมากจนเกินไป ตัวอย่าง ค่าใช้จ่ายที่ Hospitel 14 วัน 40,000 บาท ค่าใช้จ่ายผู้ป่วยในที่โรงพยาบาล 14 วันเฉลี่ย 200,000 บาท และค่ารักษาผู้ป่วยในระยะวิกฤตที่โรงพยาบาล ไม่ต่ำกว่า 1 เดือน ค่ารักษาเฉลี่ย 1-1.5 ล้านบาท (https://www.prachachat.net/marketing/news-664963)

 

หากท่านได้พิจารณาว่าสวัสดิการที่มีอยู่ทั้งจากภาครัฐ และ/หรือ จากประกันสุขภาพส่วนตัวของท่าน มีค่ารักษาพยาบาลที่รองรับค่าใช้จ่ายส่วนนี้ที่เพียงพอแล้ว การเพิ่มประกันโควิด-19 ที่ได้รับเงินเป็นก้อนหรือได้รับเงินชดเชยรายวันก็จะเป็นทางเลือกที่ดี สำหรับไว้ใช้จ่ายอื่นๆ ที่นอกเหนือจากค่ารักษาพยาบาล เช่น เงินชดเชยรายได้วันละ 2,000 บาท เข้ารับการรักษา 14 วัน ท่านสามารถเคลมประกัน ได้เงินชดเชย 28,000 บาท ไว้ใช้จ่ายในช่วงพักงานระหว่างรักษาตัวในครั้งนี้

 

แม้การทำประกันจะช่วยให้เราได้คลายกังวลกับค่ารักษาพยาบาลไปได้ส่วนหนึ่ง แต่สุดท้ายเราทุกคนไม่มีใครอยากเจ็บป่วย โดยเฉพาะโรคที่มีการติดต่อได้ง่ายและแพร่ระบาดได้รวดเร็วอย่างเชื้อไวรัสโคโรน่านี้ สิ่งที่ดีที่สุดคือการร่วมมือร่วมใจกันใส่หน้ากากอนามัย หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัด รักษาระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ ให้สะอาด หากมีไข้ ไอ หายใจเหนื่อยหอบควรไปพบแพทย์เพื่อได้รับการรักษาที่ถูกวิธี และฉีดวัคซีนเพื่อลดความรุนแรงของอาการป่วยและลดการเสียชีวิต โดยหากจำนวนผู้ประชากรมีมากกว่า 75% ของประชากรทั้งประเทศได้รับการฉีดวัคซีนที่ครบถ้วนได้เร็ว เราทุกคนก็สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติกันเร็วขึ้นด้วย (https://thestandard.co/coronavirus-vaccine-will-bring-everything-back-in-7-years/, https://www.bloomberg.com/graphics/covid-vaccine-tracker-global-distribution/ )

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th