logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: ภาษีและมรดก

สินทรัพย์ที่ถูกลืม

โดย ผุสดี พรเกษมศาสตร์ นักวางแผนการเงิน CFP®

 

“บางสิ่งที่อยากจำ เรากลับลืม บางสิ่งที่อยากลืม เรากลับจำ คนเรานี้คิดให้ดีก็น่าขำ อยากจำ กลับลืม อยากลืม กลับจำ” เมื่อเพลง อยากจำกลับลืม ดังขึ้น ก็เกิดคำถามว่า ที่ผ่านมาเราเคยลืมอะไรที่อยากจำเกี่ยวกับเรื่องเงินทองบ้างไหม ถ้าให้เวลาลองนึกคงมีหลายอย่างจนขำไม่ออก เพราะเรามักปล่อยปะละเลยให้เรื่องเงินทองเป็นเรื่องของอนาคตเสมอ

 

ถือฤกษ์งามยามดี ณ ตอนนี้ ในการเริ่มต้นทำ บัญชีสินทรัพย์ ที่จะช่วยเสริมสร้างความสบายใจทางการเงิน ด้วยการนึกว่ามีสินทรัพย์อะไร จำนวนเท่าไหร่ และอยู่ที่ไหน โดยแจกแจงสินทรัพย์ทั้งหมดลงในกระดาษ A4 หรือ โปรแกรม Excel ตามความถนัด แล้วต่อจากนี้จะไม่มีสินทรัพย์ใดที่โดนทิ้งไว้ข้างหลังอย่างโดดเดี่ยว

 

สินทรัพย์แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ สินทรัพย์สภาพคล่อง สินทรัพย์เพื่อการลงทุน และสินทรัพย์ส่วนตัว เริ่มที่ สินทรัพย์สภาพคล่อง คือ สินทรัพย์ที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้เร็ว มีความคล่องตัวสูง สามารถนำออกมาใช้ได้ทันที เช่น เงินสด เงินฝากออมทรัพย์ ซึ่งควรมีสินทรัพย์สภาพคล่องอย่างน้อย 3 – 6 เท่าของรายจ่ายต่อเดือน ไว้รองรับเหตุการณ์ฉุกเฉินที่ไม่คาดฝัน

 

ต่อมาที่ สินทรัพย์เพื่อการลงทุน คือ สินทรัพย์ที่หวังผลตอบแทนในอนาคตหรือหวังว่าสินทรัพย์นี้จะมีมูลค่าสูงขึ้น ยิ่งสะสมเร็วยิ่งดี เช่น เงินฝากประจำ สลากออมทรัพย์ พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ หุ้น กองทุนรวม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ มูลค่าเงินสดในกรมธรรม์ประกันชีวิต

 

สุดท้ายที่ สินทรัพย์ส่วนตัว คือ สินทรัพย์ที่มีไว้ใช้งานหรือใช้ในชีวิตประจำวัน มีใช้อย่างพอดี ไม่มากหรือน้อยเกินไป เช่น บ้านสำหรับอยู่อาศัย รถยนต์ เครื่องประดับ

 

การทำบัญชีสินทรัพย์ให้บันทึกมูลค่าสินทรัพย์ที่มูลค่าที่สามารถขายได้ในปัจจุบัน โดยไม่สนใจราคาทุนที่ซื้อมา เช่น ซื้อบ้านเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมาในราคา 3 ล้านบาท ตอนนี้ขายบ้านได้ในราคา 4 ล้านบาท ให้บันทึกราคาตลาด 4 ล้านบาท หลังจากนั้นก็ระบุรายละเอียดของสินทรัพย์ เช่น เลขที่บัญชีเงินฝาก ชื่อและสาขาของสถาบันการเงิน จำนวนหน่วยของกองทุนรวม หมายเลขกรมธรรม์ประกันภัย ผู้รับผลประโยชน์ เลขที่โฉนด รวมถึงสถานที่ที่จัดเก็บสินทรัพย์นั้นด้วย เมื่อถึงวันที่เราลาจากโลกนี้ไป คนข้างหลังสามารถใช้บัญชีสินทรัพย์ที่เราทำไว้เป็นเอกสารในการจัดการกับสินทรัพย์ทั้งหมดได้อย่างถูกต้องและครบถ้วน

 

ถึงเวลาลงมือลิสต์สินทรัพย์ของตัวเองตั้งแต่วันนี้ จากนั้นจัดเก็บเอกสารทางการเงินทั้งหมดรวมกันไว้ในที่ปลอดภัยอย่างเป็นระเบียบ บอกคนใกล้ชิดว่าเราเก็บบัญชีสินทรัพย์ไว้ที่ใด และปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมออย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อไม่ให้มีสินทรัพย์ใดถูกลืมไว้เมื่อเวลาล่วงเลยไป

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th