บทความ: เกษียณ
6 แหล่งที่พึ่งยามเกษียณที่พนักงานเอกชนต้องรู้
โดย ศิริรัตน์ ตานะเศรษฐ นักวางแผนการเงิน CFP®
กลุ่มมนุษย์เงินเดือนเป็นกลุ่มที่ถือว่ามีการวางแผนเกษียณโดยระบบมากกว่ากลุ่มวิชาชีพอื่นๆ ไม่นับกลุ่มข้าราชการ เพราะจะมีสวัสดิการจากบริษัท หรือกฎหมายสวัสดิการแรงงานต่างๆ ที่ออกมาโดยภาครัฐ เพื่อช่วยเหลือ จูงใจให้มีการออม หรือรักษาผลประโยชน์ให้เหล่าพนักงานกินเงินเดือนทั้งหลาย แต่ทว่า จะพอกับการเกษียณในบั้นปลายหรือไม่ เป็นคำถามที่ตอบยาก แต่โดยส่วนใหญ่จากประสบการณ์นักวางแผนการเงินกว่า10 ปี ที่ช่วยวางแผนการเงินให้แก่ผู้รับคำปรึกษา ขอตอบเลยว่า “ ไม่พอ” มักต้องมีการแนะนำให้ออมเพิ่มเสมอ ทั้งนี้ ก็จะขึ้นอยู่กับเป้าหมายไลฟ์สไตล์ตอนเกษียณที่คาดหวัง และแหล่งเงินต่างๆ ที่เขามี แต่อย่างน้อยสิ่งที่เหล่ามนุษย์เงินเดือนทั้งหลายควรจะทราบสิทธิ์ของตัวเองว่าในยามที่เราเกษียณ เราพึงจะมีสิทธิ์อะไรบ้าง เพื่อเราจะได้ทราบและวางเป้าหมายในการออมเพิ่มเติมสำหรับเกษียณของตนเอง เรามาดูกันนะคะ
1. เงินชดเชยเลิกจ้าง
ในกรณีที่ลูกจ้างทำงานจนถึงเกษียณ ตามพรบ.คุ้มครองแรงงาน มาตรา 118 วรรค 2 กำหนดว่านายจ้างจะต้องจ่ายเงินชดเชยการเลิกจ้างให้แก่ลูกจ้าง โดยระบุว่า “การเกษียณ” เท่ากับ “การเลิกจ้าง” โดยอายุการเกษียณ ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละองค์กรกำหนด หากแต่ถ้าองค์กรใด กำหนดอายุเกษียณมากกว่าอายุ 60 ปีบริบูรณ์ หรือไม่มีการกำหนด พนักงานมีสิทธิขอเกษียณอายุได้เมื่อมีอายุครบ 60 ปีขึ้นไป และให้มีผลเมื่อครบ 30 วันหลังการแสดงเจตนา ทั้งนี้ จำนวนเงินจะเป็นเท่าไหร่นั้นขึ้นอยู่กับอายุงาน (ตามตาราง) เช่น ถ้าเราเงินเดือนเดือนสุดท้าย 60,000 บาท และเราทำงานมาแล้ว 12 ปี เราก็จะได้ค่าชดเชย 300 วัน คิดเป็นจำนวนเงินประมาณ 10 เดือนของเงินเดือนเดือนสุดท้ายสุดท้าย คือ 600,000 บาท
อายุงานต่อเนื่อง |
อัตราค่าชดเชย |
120 วัน แต่ไม่เกิน 1 ปี |
30 วัน |
1 ปี แต่ไม่เกิน 3 ปี |
90 วัน |
3 ปี แต่ไม่เกิน 6 ปี |
180 วัน |
6 ปี แต่ไม่เกิน 10 ปี |
240 วัน |
10 ปีขึ้นไป |
300 วัน |
20 ปีขึ้นไป |
400 วัน |
2. เงินบำเหน็จบำนาญจากกองทุนประกันสังคม (เงินออมชราภาพ)
ในทุกๆ เดือน เวลาที่เราได้รับเงินเดือน จะมีเงินที่ถูกหักออกไปสำหรับจ่ายกองทุนประกันสังคม นอกจากสวัสดิการสุขภาพต่างๆ ที่ได้รับในยามเกษียณ ผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 เดือน เมื่อครบอายุ 55 ปี และความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลงจะได้รับเงินบำนาญชราภาพ ในอัตรา 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย ตัวอย่างเช่น เงินเดือนเฉลี่ย 15,000 บาท ก็จะได้รับบำนาญเดือนละ 3,000 บาท โดยเงินเดือนสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท หากจำนวนเดือนที่จ่ายเงินสมทบมากกว่า 180 เดือน ก็จะได้ตัวคูณเพิ่มขึ้น 1.5% ต่อปี ยกตัวอย่างเช่น เงินเดือนเฉลี่ย 15,000 บาท จ่ายเงินสมทบมาแล้ว 20 ปี หรือ 240 เดือน ตัวคูณจะเพิ่มอีก 1.5% x 5 ปี = 7.5% เพิ่มจาก 20% กลายเป็น 27.5% แสดงว่า ผู้ประกันตนรายนี้จะได้รับเงินบำนาญเดือนละ 4,125 บาท แต่ทั้งนี้ สำหรับผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบมาน้อยกว่า 12 เดือน ก็จะได้รับเงินสมทบตามจำนวนที่สมทบมาจริง โดยสามารถศึกษาวิธีการคำนวณเพิ่มเติมจาก www.sso.go.th
3. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีตัวกฎหมายบังคับให้ทุกบริษัทต้องมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้พนักงาน แต่ก็มีบริษัทจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่เล็งเห็นความสำคัญในการช่วยเหลือสนับสนุนให้พนักงานมีการออมเงินผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งจะมีการจัดตั้งขึ้นมาเพื่อบริหารเงินออมให้งอกเงยตามนโยบายการลงทุนที่แต่ละบริษัทกำหนด โดยในแต่ละเดือน พนักงานจะถูกหักเงินเข้าไปออมในกองทุน ส่วนบริษัทก็จะมีการสมทบเงินอีกจำนวนตามจำนวนที่พนักงานออม หรือตามที่ตกลงกัน โดยมีเงื่อนไขว่าเงินก้อนนี้จะสามารถนำออกมาได้โดยไม่ต้องนำมาคำนวณภาษีบุคคลธรรมดา ก็ต่อเมื่อมีการถูกดึงออกมาหลังอายุ 55 ปีบริบูรณ์ เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพถือเป็นการออมเงินที่ถูกหักโดยอัตโนมัติทุกเดือนออกจากเงินเดือน และมีความต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวตามอายุการทำงานของแต่ละบุคคล ฉะนั้นเงินก้อนนี้ เมื่อเริ่มเกษียณก็จะถือเป็นแหล่งเงินเกษียณสำคัญก้อนหนึ่งที่เราต้องนำมาคำนวณ เราอาจจะต้องมีการประมาณการล่วงหน้า ว่าหากเราทำงานต่อเนื่องไปจนเกษียณ ด้วยอัตราเงินเดือนที่เพิ่มขึ้นทุกปีแล้ว เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนี้จะมีโอกาสเติบโตไปจนแค่ไหน อย่างไรก็ตาม การกำหนดนโยบายการลงทุนก็จะมีผลสำคัญเช่นกันกับการเติบโตของเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งเราจำเป็นต้องกำหนดนโยบายการลงทุนให้เหมาะสมกับอายุและการรับความเสี่ยงของเรา
4. ค่าชดเชยพิเศษ หรือเงินช่วยเหลืออื่นๆ
อันนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายสวัสดิการของแต่ละบริษัท ตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกัน โดยบางบริษัทอาจมีสวัสดิการอื่นๆ สำหรับพนักงานเกษียณอายุ เช่น การให้หุ้นตามอายุงาน การแบ่งผลกำไร ฯลฯ
5. เบี้ยยังชีพคนชรา
สำหรับผู้ที่มีสัญชาติไทย มีภูมิลำเนาในทะเบียนบ้าน อายุมากกว่า 60 ปีบริบูรณ์ จะมีสิทธิ์ได้รับเบี้ยยังชีพนี้ โดยในทุกๆ ปี จะมีการเปิดให้ผู้สูงอายุรายใหม่ๆ ที่มีสิทธิ เข้ามาลงทะเบียนเพื่อรับเงินในส่วนนี้ โดยการลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุไม่จำเป็นต้องไปลงทะเบียนใหม่ทุกปี ลงเพียงครั้งเดียวก็ได้รับสิทธิไปตลอด หวังว่าในอนาคต ในยามเมื่อเราเกษียณ จะได้รับการช่วยเหลือในรูปแบบนี้จากภาครัฐจะยังคงอยู่ โดยรายได้จะได้ตามอายุตามขั้นบันไดตามนี้
- อายุ 60-69 ปี ได้รับเงิน 600 บาท/เดือน
- อายุ 70-79 ปี ได้รับเงิน 700 บาท/เดือน
- อายุ 80-89 ปี ได้รับเงิน 800 บาท/เดือน
- อายุ 90 ปีขึ้นไป ได้รับเงิน 1,000 บาท/เดือน
6. เงินออมตามภาคสมัครใจ
เงินออมต่างๆ ที่เราเฝ้าเพียรเก็บมาตั้งแต่เริ่มทำงาน มีอยู่หลายรูปแบบ แตกต่างตามความเสี่ยงรูปแบบการลงทุน และลักษณะของผลิตภัณฑ์การลงทุนที่เลือก เช่น
- กองทุนต่างๆ เช่น กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) กองทุนหุ้นระยะยาว (LTF) กองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว (SSF) กองทุนรวมทั่วไป ฯลฯ
- ประกันสะสมทรัพย์ เช่น ประกันสะสมทรัพย์รูปแบบต่างๆ ประกันควบการลงทุน ซึ่งหลายๆ ท่านอาจมองข้ามไปว่าประกันต่างๆ เมื่อสะสมจ่ายไปเป็นระยะเวลายาวๆ ก็จะมีมูลค่าด้วยเช่นกัน ซึ่งเราสามารถนับมูลค่าเงินสดเป็นแหล่งเงินทุนเกษียณของเรา แต่ทั้งนี้ ไม่รวมถึงประกันคุ้มครองสุขภาพโดยส่วนใหญ่จะเป็นประกันในรูปแบบที่ไม่มีการสะสมมูลค่า หรือจ่ายทิ้ง
- การลงทุนในรูปแบบต่างๆ เช่น หุ้น อสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ ทั้งนี้แล้วแต่ประสบการณ์การลงทุนของแต่ละบุคคล
พอเราได้ทราบแหล่งเงินแล้ว ว่าแหล่งเงินเกษียณของมนุษย์เงินเดือนอย่างเรามาจากรูปแบบไหนบ้าง จริงๆ แล้วพอไล่ดู ก็น่าจะเป็นกองเงินที่ค่อนข้างใหญ่พอสมควร ผู้เขียนก็อยากจะชักชวนให้ผู้อ่านลองนั่งสำรวจแหล่งเงินออมของผู้อ่านดู อยากให้ลองคำนวณดูนะคะว่าสิ่งที่มีอยู่และออมอยู่ เมื่อนั่งไทม์แมชชีนไปสู่โลกอนาคตในตอนที่เราเกษียณ มันจะเพียงพอกับเป้าหมายเกษียณของเราหรือไม่ หากไม่พอ หวังว่าคงไม่สายเกินไปนะคะ ที่จะเพิ่มจำนวนการออมให้มากขึ้น เพื่อจะทำให้เราบรรลุเป้าหมายการเกษียณสุขของเรา สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็มาจากการคำนวณ ซึ่งอาจมีความซับซ้อนพอสมควร หรือ ทางลัดที่จะช่วยได้คือลองหานักวางแผนการเงินคู่ใจซักคนมาลองช่วยคำนวณแหล่งเงินเหล่านี้ และช่วยคำนวณเงินที่ต้องออมเพิ่มหากไม่พอ แต่....ที่สำคัญ! อย่าชะล่าใจรอคำนวณตอนที่ใกล้เกษียณนะคะ เพราะถ้าคำนวณแล้วไม่พอ มันอาจทำให้เราเหลือเวลาไม่พอที่จะเตรียมจัดสรรหาเงินออมเพิ่ม แล้วจะกลายเป็นภาวะจำยอมบังคับให้เราต้องก้มหน้าทำงานต่อ หรือไม่มีทางเลือกถูกบังคับต้องเกษียณแบบไม่มีคุณภาพนะคะ