logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: เกษียณ

เกษียณออกแบบได้

โดย ศิริรัตน์ ตานะเศรษฐ นักวางแผนการเงิน CFP®

 

ถ้าอยากรู้ว่าคนไทยคิดอย่างไรกับคำว่า “แก่แล้ว” อยากชวนผู้อ่านเล่นกันดูนะคะ เปิด Google Search ขึ้นมานะคะ แล้วพิมพ์คำว่า “แก่แล้ว” ผู้เขียนคิดว่าผู้อ่านคงตกใจเหมือนกับที่ผู้เขียนตอนที่เคยเล่นครั้งแรกกับลิสต์คำที่ต่อท้ายขึ้นมา 4 อันดับแรกที่ขึ้นมาโดยอัตโนมัติ ซึ่งทุกท่านจะทราบกันดีว่า คำที่ขึ้นมาโดยอัตโนมัติคือคำที่มักจะมีการถูกสืบค้นกับบ่อยมากเป็นอันดับต้นๆ 4 อันดับเหล่านี้คือ ... “แก่แล้วทำอะไรดี” “แก่แล้วใครจะเลี้ยง” “แก่แล้วไปอยู่ไหนดี” “แก่แล้วไม่มีเงินเก็บ” ... คำค้นหาเหล่านี้สะท้อนให้เห็นเลยว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับคนไทยในปัจจุบัน คือมีคนจำนวนมากแก่แล้วแต่ไม่ได้มีการวางแผนเกษียณ และสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่หลายๆ คนกำลังกังวลใจ ไม่เช่นนั้นจะไม่มีการค้นหาคำเหล่านี้จากอากู๋กูเกิ้ลเยอะขนาดนี้

 

การวางแผนเกษียณสำคัญขนาดไหน... เกษียณเป็นช่วงชีวิตที่ยาวนานกว่าที่หลายๆคนคิด จากสถิติอายุเฉลี่ย ณ ปัจจุบันผู้หญิงสามารถมีอายุยืนได้ถึง 83 ปี และผู้ชายอายุเฉลี่ย 77 ปี* คาดว่าในอนาคตคงจะเป็นเรื่องไม่แปลก ถ้าเราจะสามารถมีอายุยืนยาวเฉลี่ยถึง 90 ปี ฉะนั้นเป็นไปได้ว่าระยะเวลาเกษียณของเราจะยาวนานได้ถึง 30 ปีเป็นอย่างน้อย ถ้าเริ่มเกษียณ ณ ตอนอายุ 60 หรืออาจจะยาวนานกว่านั้น ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อถึงเวลาเกษียณจะไม่มีโอกาสแก้ตัว เพราะร่างกายถดถอย ต่อให้ใจสู้ โอกาสในการทำงานจะน้อยกว่าช่วงวัยหนุ่มสาว ไม่ว่าจะเนื่องด้วยพละกำลัง แต่ก็ด้วยความรู้ที่ล้าสมัยไปอย่างรวดเร็ว มีคนเคยพูดว่า กว่าจะเรียนมหาวิทยาลัยจบปีสี่ สิ่งที่เรียนปีหนึ่งก็ล้าสมัยไปแล้ว สิ่งสำคัญครั้นจะให้กู้เงินมาใช้จ่ายเพื่อการเกษียณ คงไม่มีแหล่งเงินกู้ใดที่จะยอมปล่อยกู้ให้ หรือคำตอบสุดท้ายคงไม่มีใครอยากจะเป็นภาระให้กับลูกหลานแน่นอน ผู้เขียนก็เช่นกัน ตอนนี้เราเห็นพ้องต้องกันแล้วนะคะ ว่าการวางแผนเกษียณนี่แสนสำคัญ ฉะนั้น ถ้าเราอยากเริ่มออกแบบเกษียณให้กับตัวเราเองตอนแก่ จะต้องทำอย่างไรบ้างเรามาดูกันดีกว่า

 

  • สร้างเป้าหมายเกษียณ จริงๆ การวางแผนเกษียณ เปรียบเสมือนการสร้างบ้าน ที่เราสามารถออกแบบได้ ว่าอยากได้บ้านรูปแบบไหน หรูไฮโซ หรือเรียบง่ายแบบบ้านชั้นเดียวอยู่เชิงเขา แน่นอนมาตรฐานที่ต่างกันย่อมต้องใช้จำนวนเงินที่ต่างกัน สิ่งสำคัญ เราต้องรู้ว่าเราอยากให้ตัวเองเกษียณในรูปแบบใด เพื่อจะสามารถคำนวณได้ว่าสิ่งที่เราอยากได้นั้น ต้องใช้เงินเท่าไหร่ และจะต้องเตรียมตัวอย่างไร มันคือการสร้างเป้าหมายนั่นเอง โดยเป้าหมายนั้นต้องชัดเจนพอ เช่น อยากเริ่มเกษียณตอนอายุ 60 โดยใช้ชีวิตในเมือง อยู่คอนโดสำหรับคนชราไม่ไกลจากสาธารณูปโภค โดยอยากใช้เงินเดือนละ 30,000 บาท ไว้จับจ่ายใช้สอย และอยากมีเงินไว้เที่ยวปีละอย่างน้อย 1 ครั้ง ไปผ่อนคลายที่ต่างประเทศ ของบประมาณในการเที่ยวปีละ 100,000 บาท และถ้าป่วยไม่สบายจะใช้บริการที่โรงพยาบาลรัฐบาลในคลินิกพิเศษ โดยคิดว่าอายุขัยน่าจะมีอายุถึง 90 โดยสังเกตอายุเฉลี่ยของบุพการีในครอบครัว อันนี้เป็นตัวอย่างการสร้างเป้าหมายเกษียณที่เราต้องเห็นภาพตัวเอง ว่าเราอยากแก่แบบไหน อย่าลืมนะคะ ถ้าเราไม่เคยปักหมุดหาเป้าหมายให้กับตนเอง เราก็จะมัวเสียเวลาวิ่งวนไปมาจนหาเป้าหมายนั้นไม่เจอ แล้วพอวันนั้นมาถึง เราก็จะแก่แบบงงๆ ไม่รู้จะมีเงินเกษียณดูแลตัวเองพอมั้ย
  • คำนวณเป้าหมายออกมาเป็นจำนวนเงิน เมื่อเราทราบไลฟ์สไตล์ของเราว่าอยากได้แบบไหน ลองคำนวณดูนะคะว่าการเกษียณในรูปแบบนั้นจะต้องใช้เงินเท่าไหร่ จากตัวอย่างข้างต้น ใช้เดือนละ 30,000 บาท โดยต้องมีค่าใช้จ่ายเที่ยว 100,000 บาทต่อปี แสดงว่าใช้ปีละ 460,000 บาท เป็นเวลา 31 ปี โดยลองคิดแบบที่ยังไม่รวมเงินเฟ้อก่อนนะคะ ((30,000x12) + 100,000) x 31 ปี จะเป็นจำนวนเงิน 14,260,000 บาท ถ้าคิดรวมเงินเฟ้อที่ 3% จะเป็นเงินที่จะต้องใช้ทั้งหมด 23,000,000 บาท โดยที่เราควรต้องเผื่อค่าซื้อคอนโดสำหรับคนชรา ราคา 3,500,000 บาท และค่ารักษาพยาบาล ซึ่งอาจจะต้องมีค่าใช้จ่ายเบี้ยประกันสุขภาพเพิ่งขึ้นมาด้วย อันนี้ผู้เขียนพยายามทำให้เห็นภาพว่า เงินเกษียณเป็นเงินก้อนใหญ่ ก็อยากให้ผู้อ่านลองไปนั่งคำนวณของตัวเองดูนะคะ อาจจะยังไม่ต้องคำนวณรวมเงินเฟ้อก็ได้ อย่างน้อยจะได้เห็นภาพว่าเป้าหมายเกษียณของตนเองต้องใช้เงินเยอะแค่ไหน
  • สำรวจดูทรัพยากรเกษียณที่เรามีอยู่ หลังจากที่เราพอรู้ว่าเป้าหมายเกษียณของเราต้องใช้เงินมากแค่ไหนแล้ว เราก็ควรจะลิสต์ดูสิ่งที่เราเคยทำเอาไว้เพื่อเป้าหมายเกษียณของเราเอง ว่าเราเคยมีสิ่งใดที่เตรียมไว้แล้วบ้าง ยกตัวอย่าง เช่น เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ประกันสังคม ประกันสะสมทรัพย์ เงินลงทุนต่างๆ ลองดูนะคะว่าสิ่งต่างๆเหล่านี้ ปัจจุบันมีมูลค่าเท่าไหร่ และลองประเมินดูว่าถ้าเราเก็บออมแบบเดิมไปเรื่อยๆ จะเพียงพอหรือไม่สำหรับเป้าหมายเกษียณของเรา ยกตัวอย่างนะคะ ถ้าคำนวณดูแล้ว ปรากฎว่าที่ผ่านมา มีเพียงกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอย่างเดียว ซึ่งมูลค่าปัจจุบันอยู่ที่ 5,000,000 บาท โดยหากมีการออมเพิ่มในแต่ละปี 100,000 บาท อีก 13 ปี ที่ผลตอบแทน 4% คาดว่ากว่าจะครบอายุ 60 ปี เงินก้อนนี้น่าจะโตกลายเป็น 10,000,000 บาท แต่เป้าหมายเกษียณคือ 23,000,000 บาท แสดงว่ายังไม่พอ!!
  • วางแผนออมเงินเพิ่มหากไม่พอ เมื่อเรารู้แล้วว่าเงินเกษียณไม่พอแน่ๆ ลองย้อนกลับมาดูบัญชีรายรับจ่ายของเรา ว่ายังสามารถออมเพิ่มได้อีกหรือไม่ โดยลองคำนวณดูนะคะ ว่าจากจำนวนเวลาที่เรายังเหลืออยู่ และเป้าหมายที่ยังขาดอยู่ เราจะสามารถออมได้หรือไม่ จากตัวอย่างเดิม เงินที่จะต้องออม เป้าหมายขาดอีก 13,000,000 บาท โดยเหลือเวลาออมเงินอีก 13 ปี ถ้าเราเลือกลงทุนที่ผลตอบแทนซัก 6% เราจะต้องออมปีละ 690,000 บาท ย้ำนะคะ เราต้องกลับไปดูที่งบรายรับรายจ่ายของเรานะคะ ว่าเราจะสามารถออมต่อปีได้ที่จำนวนนั้นหรือไม่ ถ้าไม่ได้เราคงต้องย้อนกลับไปปรับลดเป้าหมายเกษียณของเราให้ใช้เงินน้อยลง หรือยืดเวลาเกษียณออกไปอีกเพื่อให้มีระยะเวลาออมมากขึ้น
  • ตรวจดูสวัสดิการคุ้มครองสุขภาพหากเกษียณ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสุขภาพถือเป็นค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงมาก และจะสูงมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเราอายุมากขึ้น ใครหลายๆ คนอาจจะบอกว่าแก่แล้วค่อยว่ากัน แต่ผู้เขียนเห็นว่า ไม่ควรคิดแบบนั้นนะคะ เพราะถ้าแก่แล้วจะแก้ไม่ทัน โดยเฉพาะการวางแผนสวัสดิการสุขภาพ ถ้าหากเราตรวจดูสวัสดิการต่างๆ ที่เราคาดว่าจะได้รับ เช่น สวัสดิการบัตรทอง สวัสดิการประกันสังคม หรือประกันสุขภาพที่เคยทำไว้ ถ้าหากเราคิดว่าไม่เพียงพอ เราควรหาทางสมัครประกันสุขภาพเพิ่ม หรือหาช่องทางเพื่อให้มีสวัสดิการสุขภาพรองรับหลังเกษียณของเราเอง
  • หมั่นทบทวนเป้าหมายและแผนการออมเงินทุกปี ในช่วงที่เรายังหมั่นเก็บออม ในช่วงก่อนเกษียณ เราควรจะหมั่นเช็คเป้าหมายและพอร์ตเงินออมของเรา ว่าเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ เพราะในแต่ละช่วงเวลา จะมีปัจจัยรอบด้านที่อาจมีผลกระทบต่อความสามารถในการออมเงินของเรา หรือสถานการณ์การลงทุนที่ไม่เป็นไปตามที่เราคาดหวัง

เห็นไหมคะว่าการเกษียณออกแบบได้จริงๆ ค่ะ แต่การออกแบบที่ดี จะต้องมีการวางแผนตั้งแต่เนิ่นๆ ยิ่งเริ่มคิดวางแผนเร็วยิ่งดี เพราะการออมเงินจะโต นอกจากผลตอบแทนแล้ว เวลาถือเป็นปัจจัยสำคัญ ยิ่งไปกว่านั้น... จริงๆ แล้ว การวางแผนเกษียณ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะต้องใช้การคำนวณและความรู้ในการวางแผนเฉพาะด้านหลากหลาย หากผู้เขียนแนะนำได้ อยากให้ผู้อ่านที่เห็นความสำคัญของการวางแผนเกษียณ ลองหานักวางแผนการเงินคู่ใจ มาช่วยคิดคำนวณให้ น่าจะดีกว่านะคะ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่สำคัญ และต้องใช้ความชำนาญในการช่วยวางแผน หากเริ่มวางแผนดีตั้งแต่ต้น ก็จะทำให้ทุกอย่างราบรื่นเป็นไปอย่างที่เราคิด เหมือนการติดกระดุมเสื้อ ถ้าเราติดผิดเม็ดแรกมันก็จะผิดทั้งหมด สุดท้ายผู้เขียนมั่นใจว่า ถ้าเราได้เริ่มวางแผนและออมตามแผนที่เราวางไว้ เราคงจะเปลี่ยนคำค้นในกูเกิ้ลใหม่ว่า “แก่แล้ว ไปเที่ยวที่ไหนดี” หรือ “แก่แล้วเงินเยอะสบายใจจัง” อะไรประมาณนี้

 

*อ้างอิง: มหาวิทยาลัยมหิดล

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th