logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: ประกันภัย

โรคภัยไข้เจ็บในยุคปัจจุบัน กับการวางแผนประกันสุขภาพ

โดย แพรวพิรยา ศิริวัฒนาดิเรก นักวางแผนการเงิน CFP®

 

“การไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ” เชื่อว่าทุกคนคงเคยได้ยินประโยคนี้ และปรารถนาที่จะให้ตัวเรานั้นมีสุขภาพที่แข็งแรงเช่นกัน ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็หันมาใส่ใจและดูแลสุขภาพ เช่น ออกกำลังกาย ตรวจสุขภาพประจำปี ทานอาหารที่มีประโยชน์ แต่โรคภัยไข้เจ็บในปัจจุบันก็มีมากขึ้นเช่นกัน รวมไปถึงโรคแปลกใหม่ที่นับวันยิ่งอาจจะมีความรุนแรง และสิ่งที่ตามมาก็คงไม่พ้นเรื่องของการรักษาพยาบาล ซึ่งค่ารักษาพยาบาลมีอัตราการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี เนื่องจากการรักษามีความทันสมัยของเทคโนโลยี เครื่องมือ และยารักษา หากเราไม่ได้มีการเตรียมค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ไว้ หรือหากเตรียมไว้ไม่เพียงพอ ก็อาจทำให้เงินออมหรือทรัพย์สินที่เราเก็บมาทั้งชีวิตเพื่ออนาคตถูกนำมาใช้เป็นค่ารักษาพยาบาล ทำให้เป้าหมายทางการเงินที่เราคิดไว้ไม่เป็นไปตามฝันของเรา การวางแผนการประกันสุขภาพจึงเป็นส่วนสำคัญของการวางแผนทางการเงิน

 

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ บางท่านอาจยังไม่แน่ใจว่าแล้วเราควรทำประกันสุขภาพหรือไม่ หรือถ้าต้องการทำ ควรทำมากน้อยเพียงใดและประกันสุขภาพแบบไหนที่เหมาะกับเรา จริงอยู่ว่า เราไม่สามารถกำหนดได้เลยว่าค่ารักษาพยาบาลที่อาจเกิดขึ้นนั้นอยู่ที่เท่าไร แต่เราจำเป็นต้องประมาณการค่าใช้จ่ายเพื่อเตรียมตัวไว้ เพราะฉะนั้นเราลองมาสำรวจตัวเราเองเพื่อเป็นแนวทางก่อนตัดสินใจในการทำประกันสุขภาพกัน

 

 1. วิเคราะห์ตัวเองว่าเรามีความเสี่ยงอะไรบ้าง 

 

เราสามารถพิจารณาครอบครัวของเราว่ามีความเสี่ยงจากโรคใดที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้บ้าง (เช่น โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคไทรอยด์) นอกจากนั้นอาจพิจารณาความเสี่ยงจากอาชีพการงานที่เราทำ (เช่น วิศวกรขุดเจาะน้ำมัน นักบิน) และความเสี่ยงในการใช้ชีวิต (เช่น ชอบเล่นกีฬาผาดโผน หรือมีความท้าทาย สูบบุหรี่ ดื่มสุรา ชอบทานอาหารที่มีไขมันสูง) สิ่งเหล่านี้จะเป็นการประเมินในเบื้องต้นถึงความจำเป็นว่า เราควรจะมีประกันสุขภาพให้เหมาะสมกับการใช้ชีวิตของเราอย่างไร

 

 2. ค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลที่เราใช้บริการ 

 

โรงพยาบาลที่เราเลือกส่วนใหญ่อาจเป็นโรงพยาบาลที่ใกล้บ้าน สะดวกต่อการเดินทาง หรือเป็นโรงพยาบาลที่เรามีความมั่นใจในเรื่องของการรักษาพยาบาลและบริการ สิ่งที่เราจะต้องรู้คือ ค่าห้องพักผู้ป่วยใน และค่ารักษาพยาบาล นอกจากนี้ส่วนที่เราควรให้ความสำคัญ คือ ค่ารักษาโรคร้ายแรงต่างๆ โดยเราสามารถหาข้อมูลค่ารักษาพยาบาลได้ เพราะในปัจจุบันโรงพยาบาลได้จัดแพ็กเกจค่ารักษาโรคต่างๆ ไว้ เช่น แพ็กเกจการผ่าตัดหัวใจ การรักษาโรคมะเร็ง เพราะว่าหากเกิดการเจ็บป่วยด้วยโรคทั่วๆ ไป เราอาจจ่ายค่ารักษาได้ แต่หากเกิดเป็นโรคร้ายแรง หรือมีความรุนแรงต่างๆ เช่น STROKE ซึ่งนับวันจะเกิดกับคนที่อายุน้อยลง โรคหัวใจ โรคทางด้านสมอง และอีกมากมาย ค่าใช้จ่ายในการรักษาก็สูงมากขึ้น จนอาจทำให้เราประสบปัญหาทางการเงินได้ ยกตัวอย่าง ผู้ป่วยเส้นเลือดหัวใจตีบ ต้องทำบอลลูนหัวใจ 2 เส้น ค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชน อยู่ที่ประมาณ 320,000 บาท ซึ่งค่าใช้จ่ายในด้านนี้ เราไม่สามารถต่อรองได้ อาจทำได้เพียงเปลี่ยนโรงพยาบาลเพื่อลดค่าใช้จ่าย แต่หากต้องใช้เวลาย้ายโรงพยาบาลนาน อาจทำให้การรักษาไม่ทันการ

 

 3. สำรวจสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลที่เรามีอยู่ 

 

ในส่วนสวัสดิการของทางภาครัฐที่มีให้กับบุคคลที่มีสัญชาติไทย และมีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก และไม่มีสิทธิประกันสังคม หรือสวัสดิการของข้าราชการ / รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐอื่นๆ จะได้รับสวัสดิการ ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีสิทธิในในการเข้ารับบริการโรงพยาบาลของรัฐและโรงพยาบาลเอกชน (บางแห่ง) ที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในส่วนของผู้ที่ทำงานบริษัท หรือมีนายจ้าง จะมีสวัสดิการของภาครัฐ คือ ประกันสังคม ซึ่งผู้ประกันตนจะต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน จะมีสิทธิในการเข้ารับการรักษาที่โรงพยาลตามบัตรรับรองสิทธิ์ ในกรณีที่เจ็บป่วยฉุกเฉินหรืออุบัติเหตุก็สามารถเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด และสำหรับพนักงานบริษัทส่วนใหญ่จะมีสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลสำหรับพนักงาน โดยกำหนดเป็นวงเงินที่สามารถเบิกได้ต่อครั้งและต่อปีไว้ หรือบางบริษัทอาจทำประกันสุขภาพแบบกลุ่ม ที่กำหนดค่ารักษาพยาบาลไว้ เช่น วงเงินค่ารักษาทั้งหมดต่อปี ค่าห้อง ค่าอาหาร ผู้ป่วยนอก ค่าทันตกรรม โดยเราจะได้รับความคุ้มครองในช่วงที่เราเป็นพนักงานบริษัทเท่านั้น หากเราเกษียณอายุออกจากบริษัทไปแล้ว ประกันสุขภาพก็จะหายไปด้วยเช่นกัน

 

 4. งบประมาณของเรา 

 

การทำประกันสุขภาพเราต้องมีการจ่ายเบี้ยประกันในทุกๆ ปีจึงจะได้รับความคุ้มครองในปีนั้นๆ ซึ่งเบี้ยประกัน มักปรับเพิ่มขึ้นตามช่วงอายุของผู้ทำประกัน เราควรพิจารณาถึงความสามารถในการชำระเบี้ยประกัน แนะนำว่าไม่ควรเกิน 10-15% ของรายได้ของเรา เพื่อไม่เป็นภาระที่หนักเกินไป

 

เมื่อประเมินข้อมูลเบื้องต้นทั้ง 4 ข้อแล้ว เราก็จะได้ทราบว่าเรามีความจำเป็นในการซื้อประกันสุขภาพหรือไม่ เพื่อที่เราจะได้มีประกันสุขภาพครอบคลุมและเหมาะสมกับตัวเรา ประกันสุขภาพไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถทำได้ อย่ารอให้สายเกินไป เผื่อไว้ ไม่ใช้ ถือว่ากำไร หากต้องใช้ สบายใจ ทำให้เราไม่ต้องไปขอความช่วยเหลือจากใคร และยังไม่สะเทือนถึงเงินออมของเราด้วย

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th