logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: ลงทุน

ลงทุนตราสารหนี้แบบไหนให้เหมาะกับสถานการณ์

โดย อรพรรณ บัวประชุม นักวางแผนการเงิน CFP®

 

ช่วงเวลานี้จะลงทุนอะไรก็แสนยาก ผลตอบแทนกว่าจะได้ก็ดูจะแสนสาหัส จะลงทุนในหุ้นก็ดูน่ากลัวๆ จะฝากเงินก็ได้ดอกเบี้ยน้อยนิด คิดแล้วคิดอีกว่าแล้วเราจะลงทุนอะไรดี มีคนพูดถึงตราสารหนี้ หลายคนยังสงสัยว่าคืออะไร เพราะมีคำว่า “หนี้” ติดมาด้วย เลยให้ความรู้สึกว่า เราเป็นเจ้าหนี้ หรือเป็นลูกหนี้กันแน่ จริงๆ แล้วการลงทุนในตราสารหนี้ เราเป็นผู้ซื้อ ก็เสมือนกับการเป็นเจ้าหนี้ แต่คุณสมบัติของเจ้าหนี้ก็แตกต่างกันขึ้นอยู่กับว่าเราจะได้สิทธิเป็นเจ้าหนี้แบบไหน ซึ่งโดยทั่วๆ ไปการแบ่งตราสารหนี้ มักจะแบ่งตามระยะเวลา เช่น สั้น กลาง และยาว หรือแบ่งตามผู้ออกตราสารหนี้ อย่างเช่นภาครัฐ หรือภาคเอกชน ส่วนของการจ่ายดอกเบี้ยก็มีหลายแบบด้วยกัน ทั้งแบบคงที่ แบบลอยตัว แบบทบต้น รวมถึงแบบที่ไม่จ่ายดอกเบี้ยก็ยังมี ทีนี้เราจะเลือกลงทุนในตราสารหนี้แบบไหนกันดีล่ะ มีให้เลือกเยอะแยะจนงงไปหมด

 

ด้วยสถานการณ์ที่ไม่มีอะไรแน่นอน ความผันผวนสูง ความวิตกกังวลสูง แน่นอนเลยว่าการลงทุนที่เราต้องการก็ต้องอยากได้ตราสารหนี้ที่มีความมั่นคงปลอดภัยสูง หนีไม่พ้นตราสารหนี้ภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นพันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย ตั๋วเงินคลัง ในส่วนของระยะเวลา ยิ่งระยะเวลาการลงทุนนานก็ต้องมีความเสี่ยงที่สูงขึ้นด้วย ดังนั้น หากลดความเสี่ยงลงก็ต้องหาตราสารหนี้ภาครัฐที่มีระยะเวลาลงทุนแบบสั้นๆ มีอายุประมาณ 3 ปี ซึ่งดอกเบี้ยในปัจจุบันนี้ไม่ค่อยจูงใจมากนักเนื่องจากเป็นช่วงดอกเบี้ยขาลง ดังนั้นดอกเบี้ยที่ได้จะอยู่ราวๆ 0.6-0.7% ต่อปีเท่านั้น

 

หากใครที่ต้องการดอกเบี้ยเพิ่ม แต่รับความเสี่ยงได้ต่ำมากๆ ก็ต้องลงทุนในพันธบัตรที่อายุมากขึ้น เช่น 5 ปี หรือ 10 ปี หรือลงทุนในพันธบัตรออมทรัพย์ รุ่นเราชนะซึ่งปัจจุบันนี้มีการจ่ายดอกเบี้ยเป็นขั้นบันได อายุ 5 ปี จะจ่ายดอกเบี้ยปีที่ 1-2 ในอัตรา 1.50% จ่ายดอกเบี้ยปีที่ 3-4 ในอัตรา 2.00% ปีที่ 5 จ่ายดอกเบี้ย ในอัตรา 3% แน่นอนว่ายิ่งถือนานยิ่งได้ดอกเบี้ยเพิ่ม แต่ก็ต้องยอมแลกมากับการรอคอยเงินต้นคืนที่นานขึ้นด้วย !!!

 

ส่วนใครที่ชอบความหวือหวาหน่อย แต่ใจไม่ถึงขั้นที่จะลงทุนในหุ้นโดยตรง ยังอยากได้อะไรที่ค่อนข้างมั่นคง อาจเลือกลงทุนในหุ้นกู้ ซึ่งออกโดยภาคเอกชน ถ้าเลือกลงทุนภาคเอกชน สิ่งหนึ่งที่ต้องรู้จักก็คือการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ เพราะจะมีผลต่ออัตราดอกเบี้ยที่ได้รับ รวมถึงโอกาสที่บริษัทจะผิดนัดชำระคืนเงินต้นมากน้อยระดับไหน ก็ต้องเลือกกันให้ดีๆ ค่ะ

 

สำหรับหุ้นกู้ที่สามารถลงทุนได้ (Investment Grade) จะเริ่มลงทุนได้ตั้งแต่ BBB- ขึ้นไป จนถึง AAA ในขณะที่ หากเป็นหุ้นกู้ในระดับ BB+ ลงมาจนถึงระดับ D จะเป็นกลุ่มที่ต่ำกว่าระดับลงทุน (Non-Investment Grade) เป็นหุ้นกู้ที่มีคุณภาพปานกลางจนถึงคุณภาพต่ำ จึงให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า แน่นอนว่าย่อมมีความเสี่ยงที่สูงกว่าด้วย อาจถึงขนาดไม่ได้เงินต้นคืนก็ได้ ดังนั้นก่อนลงทุนต้องเลือกให้ดีว่า หุ้นกู้ที่เราจะตัดสินใจลงทุนมีการจัดอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับเท่าไหร่ เพื่อใช้ประกอบในการตัดสินใจ แต่ก็ยังมีหุ้นกู้ที่ไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือด้วยเช่นกัน (Unrated Bond) ซึ่งหุ้นกู้ประเภทนี้ อาจจะเป็นบริษัทเล็กๆ ที่ไม่ได้จัดอันดับ หรืออาจจะเป็นบริษัทที่ส่งไปจัดอันดับแล้วแต่ไม่มีอันดับ ดังนั้น การลงทุนในหุ้นกู้ประเภทนี้ จะยิ่งมีความเสี่ยงที่สูงขึ้นไปอีก ทำให้บุคคลธรรมดาไม่สามารถซื้อได้หากมีสินทรัพย์ไม่ถึง 50 ล้านบาท (High Net Worth) หากเราต้องการซื้อหุ้นกู้แบบ Unrated ต้องซื้อผ่านกองทุนรวม ที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นกู้ชนิดนี้ ซึ่งผู้จัดการกองทุนก็จะทำหน้าที่คัดเลือกหุ้นกู้แบบ Unrated เข้ามาในพอร์ต ซึ่งก็จะมีหลากหลายบริษัท จะช่วยให้มีการกระจายการลงทุนได้มากกว่า

 

หุ้นกู้อีกประเภทหนึ่ง ที่หลายคนสนใจกันมาก และออกมาเยอะในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากให้อัตราดอกเบี้ยที่ล่อใจมาก ในขณะที่เป็นช่วงดอกเบี้ยขาลง ทำให้ใครหลายคนเข้าไปซื้อโดยไม่ได้คิดหน้าคิดหลังให้ดีๆ ก่อน ฟังจากชื่อแล้วอาจเข้าใจว่าได้ดอกเบี้ยแบบนี้ไปตลอดชีพ เพราะหุ้นกู้แบบนี้มีชื่อเรียกว่า “หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์” “หุ้นกู้ตลอดชีพ” ซึ่งหุ้นกู้ชนิดนี้เป็นหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน (perpetual subordinated bond) ฟังชื่อจริงแล้วหลายคนเริ่มกังวล เพราะ “ด้อยสิทธิ” แสดงว่าสิทธิในการได้รับเงินต้นคืนช้ากว่าหุ้นกู้ชนิดอื่นๆ แน่ “มีลักษณะคล้ายทุน” ฟังดูเหมือนๆ กับเราเป็นเจ้าของกิจการเลยทีเดียว แต่จริงๆ แล้ว ลักษณะของหุ้นกู้ชนิดนี้คือ ไม่มีกำหนดระยะเวลา เท่ากับเราต้องถือไปเรื่อยๆ และอาจไม่ได้รับคืนเงินต้น หากผู้ออกหุ้นกู้เลื่อนการชำระดอกเบี้ยก็สามารถทำได้ และอาจจะไม่จ่ายดอกเบี้ยในส่วนที่ค้างชำระก็ได้ด้วย ดังนั้น แทบจะเรียกได้ว่า หากดอกเบี้ยไม่สูงจริง และไม่ระบุอย่างชัดเจนคงไม่มีใครเข้ามาซื้อ คนที่ซื้อหุ้นกู้ชนิดนี้ต้องมั่นใจจริงๆ ว่าบริษัทจะสามารถจ่ายดอกเบี้ยได้เรื่อยๆ ไม่มีปัญหาไปตราบนานเท่านาน

 

ดังนั้น ก่อนเลือกลงทุนในหุ้นกู้ อย่ามองแค่ดอกเบี้ยที่จะได้รับเท่านั้น ต้องดูด้วยว่าเป็นหุ้นกู้ชนิดไหน บริษัทเป็นอย่างไร มีความมั่นคงมากหรือไม่ จะได้ไม่ต้องเสียใจจากเจ้าหนี้ที่ได้ดอกเบี้ย กลับกลายเป็นลูกหนี้ที่ต้องตามหาเงินต้นของตัวเองในอนาคต ...ถ้าเห็นจุดเด่น จุดด้อยแล้ว ก็ตกลงใจเลือกได้แล้วนะคะ

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th