logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: เกษียณ

3 สิ่งที่ต้องเตรียมให้พร้อมเพื่อการเกษียณสุข

โดย ยุทธพงศ์ แสงรัตน์ นักวางแผนการเงิน CFP®

 

การเกษียณเป็นสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นกับทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และจะส่งผลทำให้ชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงไปหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของหน้าที่การงาน สังคม กิจกรรมต่างๆ รวมไปถึงร่างกายและจิตใจ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องเตรียมตัวให้พร้อมในทุกๆ เรื่อง 3 สิ่งที่ต้องเตรียมให้พร้อมเพื่อการเกษียณสุขในแบบที่ตั้งใจไว้

 

 1. มีเงินใช้ที่เพียงพอ 

 

“เงิน” นับว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะเป็นช่วงเวลาที่ไม่มีรายได้ประจำเหมือนกับช่วงวัยทำงาน แต่รายจ่ายยังคงมีต่อเนื่องไปตลอดชีวิต รายได้ส่วนใหญ่จะมาจากเงินออมและเงินลงทุนในช่วงก่อนเกษียณ โดยถ้าหากมีไม่พอ อาจทำให้เราต้องกลายเป็นภาระของคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นลูกหลาน คนรอบๆ ตัว รวมถึงประเทศชาติ ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะสามารถใช้ชีวิตที่เหลืออย่างมีความสุข

การออมและการลงทุนเป็นสิ่งที่สำคัญ หากต้องการลดความเสี่ยงเรื่องเงินไม่พอใช้หลังเกษียณ ควรมีการออมที่มากพอ อย่างน้อย 20% ของรายได้ในแต่ละเดือน และเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงเหมาะสมในแต่ละช่วงอายุ กล่าวคือ สำหรับวัยเริ่มทำงานซึ่งมีเวลาในการลงทุนที่ยาวนาน สามารถที่จะลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงได้ เพื่อเพิ่มโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว ในขณะที่วัยใกล้เกษียณหรือเกษียณไปแล้ว การรักษาเงินต้นจะเป็นสิ่งที่สำคัญ พอร์ตการลงทุนที่เหมาะสมควรจะมีสินทรัพย์เสี่ยงในอัตราส่วนที่ไม่สูงมากนัก

 

 2. มีสุขภาพที่แข็งแรง 

 

การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ แต่เมื่อไหร่ที่มีปัญหาสุขภาพ ย่อมส่งผลกระทบทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าใช้จ่ายเพื่อการรักษาพยาบาลและฟื้นฟูสุขภาพ รวมถึงค่าเสียโอกาสในการทำงาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบโดยตรงกับเงินออมที่อาจจะไม่พอใช้ รวมถึงมีผลกระทบด้านชีวิตความเป็นอยู่ ที่อาจจะสร้างความทุกข์ทรมานทั้งร่างกายและจิตใจไปตลอดช่วงการเกษียณ

 

การดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอจึงนับว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ ในช่วงวัยทำงานควรจะจัดสรรเวลาเพื่อออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่เครียดกับงานที่ทำมากเกินไป นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รวมถึงการเลือกกินอาหารที่เป็นประโยชน์ เหมือนกับคำกล่าวที่ว่า “สุขภาพดีไม่มีขาย ถ้าอยากได้ต้องทำเอง” เพราะถ้าหากมีโรคประจำตัวแล้ว อาจจะเป็นเรื่องยากที่จะรักษาให้หายกลับมาเป็นปกติ

 

 3. มีสังคมที่น่าอยู่ 

 

ด้วยรูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปเมื่อเทียบกับช่วงวัยทำงาน จากที่เคยพบปะผู้คนมากมาย มีกิจกรรมสังสรรค์ต่างๆ ที่ทำให้ชีวิตในแต่ละวันไม่รู้สึกเหงาและเบื่อหน่าย จนกระทั่งวันนึงที่ต้องเกษียณ กิจกรรมเหล่านั้นจะหายไป จนทำให้มีเวลาว่างมากขึ้นในขณะที่เพื่อนน้อยลง อาจทำให้มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้าได้

 

เพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว การออกแบบชีวิตในวัยเกษียณ ซึ่งเป็นการเลือกว่าต้องการจะใช้ชีวิตที่ไหน ทำอะไร และกับใคร จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่กำลังคิดวางแผนเพื่ออยู่คนเดียวหลังเกษียณ ยิ่งจะต้องวางแผนให้รัดกุมมากขึ้น เนื่องจากไม่มีคนในครอบครัวดูแล

 

อย่างไรก็ตาม การที่สามารถใช้ชีวิตหลังเกษียณตามแบบที่ต้องการโดยไม่ต้องกังวลเรื่องเงิน ในขณะที่มีสุขภาพแข็งแรง รวมถึงมีสังคมที่น่าอยู่ นับว่าเป็นการเกษียณที่มีความสุขอย่างแท้จริง แต่กว่าจะมีวันนั้น ควรที่จะเริ่มออกแบบชีวิตเพื่อวัยเกษียณตั้งแต่วันนี้ อย่าคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว แล้วค่อยไปคิดตอนใกล้เกษียณ เพราะถึงตอนนั้นทุกอย่างอาจจะสายเกินไป

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th