logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: ภาษีและมรดก

ทำธุรกิจด้วยภาษีแบบไหนดี ตอนที่ 2

โดย ธัญญพัทธ์ วรวงษ์สถิตย์ นักวางแผนการเงิน CFP®, CFA

 

ในบทความตอนที่ 1 เราได้ทำความเข้าใจเรื่องการคำนวณภาษีเงินได้จากการทำธุรกิจในรูปแบบบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลกันแล้ว แต่เนื่องจากกำไรหลังภาษีของนิติบุคคลยังเป็นของนิติบุคคล (ยังมิได้เป็นของบุคคลธรรมดาที่เป็นเจ้าของนิติบุคคลนั้นๆ) ถ้าเจ้าของมีแผนที่จะนำผลกำไรไปลงทุนต่อในธุรกิจเพื่อสร้างความเติบโด การพิจารณาเปรียบเทียบผลกำไรหลังภาษีของการประกอบธุรกิจในรูปแบบบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลอย่างที่ได้นำเสนอในบทความตอนที่ 1 นั้นเป็นการเปรียบเทียบที่เหมาะสม แต่ถ้าเจ้าของไม่ได้มีแผนที่จะนำผลกำไรไปลงทุนต่อในธุรกิจ แต่ต้องการนำผลกำไรจากธุรกิจมาใช้จ่ายส่วนตัว เราควรต้องพิจารณาถึงภาระภาษีที่จะเกิดขึ้นจากการจ่ายผลกำไรนั้นออกมาด้วย ซึ่งรูปแบบที่นิยมใช้ในการจ่ายผลกำไรของนิติบุคคล (ที่จัดตั้งในรูปแบบบริษัท) คือ เงินปันผล ซึ่งเมื่อบุคคลธรรมดาที่เป็นเจ้าของธุรกิจได้รับเงินปันผลจากบริษัทต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากเงินปันผลนั้น ดังนั้นภาระภาษีรวมของการทำธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคลจนเงินถึงมือผู้เป็นเจ้าของ จึงเท่ากับภาษีเงินได้นิติบุคคลจากการประกอบธุรกิจ (ภาษีต่อที่ 1) บวกกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากเงินปันผลที่เจ้าของได้รับจากธุรกิจ (ภาษีต่อที่ 2)

 

 

การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่เกี่ยวเนื่องกับการได้รับเงินปันผล บุคคลธรรมดาผู้เป็นเจ้าของธุรกิจสามารถเลือกเสียภาษีได้ 2 วิธี คือ

  1. โดยการให้หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ 10% และไม่นำเงินปันผลไปรวมคำนวณภาษีเงินได้ประจำปี โดยถือว่าภาษีที่หัก ณ ที่จ่ายไว้เป็น Final tax
  2. โดยการนำไปคำนวณภาษีเงินได้ประจำปีพร้อมกับเงินได้อื่น (ถ้ามี) โดยผู้มีเงินได้จะได้รับเครดิตภาษีเงินปันผล ซึ่งต้องนำเครดิตภาษีเงินปันผลมารวมเป็นรายได้เพื่อคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตราก้าวหน้า (0% - 35%) เมื่อคำนวณภาษีได้เท่าใดจึงจะสามารถนำเครดิตภาษีเงินปันผลและภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายไว้ 10% มาหักออกจากภาษีที่คำนวณได้ โดยสูตรการคำนวณเครดิตภาษีเงินปันผล คือ

เครดิตภาษีเงินปันผล

=

เงินปันผล * อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล

100 - อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล

 

ซึ่งเครดิตภาษีเงินปันผลนั้นมีเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมของภาระภาษีไม่ว่าจะทำธุรกิจในรูปแบบบุคคลธรรมดา (ซึ่งเจ้าของเสียภาษีต่อเดียว) หรือนิติบุคคล (ซึ่งเจ้าของเสียภาษี 2 ต่อ คือ ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของเงินปันผล) นั่นเอง โดยผู้เขียนได้นำตัวอย่างการทำธุรกิจซื้อมาขายไปในบทความตอนที่ 1 มาคำนวณภาระภาษีโดยรวมดังแสดงในตารางข้างล่างนี้

 

 

จากตารางข้างบนจะพบข้อสังเกตดังนี้

  1. ภาระภาษีรวมกรณีทำธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคลและเลือกนำเงินปันผลมารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสิ้นปี จะเท่ากับภาระภาษีกรณีทำธุรกิจในรูปแบบบุคคลธรรมดาโดยเลือกหักค่าใช้จ่ายจริง ทั้งนี้เป็นผลจากเครดิตภาษีเงินปันผลตามที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น
  2. การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในข้อ 1 ยังไม่ได้รวมการหักค่าลดหย่อน ถ้ามีการหักค่าลดหย่อน ภาษีรวมกรณีทำธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคลและเลือกนำเงินปันผลมารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสิ้นปีหรือภาษีกรณีทำธุรกิจในรูปแบบบุคคลธรรมดาจะน้อยลง
  3. ภาระภาษีรวมกรณีทำธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคลจะมีข้อได้เปรียบในกรณีที่ธุรกิจมีผลกำไรที่มาก ทำให้ฐานภาษีเงินได้สูง ซึ่งเจ้าของธุรกิจสามารถเลือกที่จะเสียภาษีเงินปันผลโดยการถูกหัก ณ ที่จ่ายไว้ 10% เป็น Final tax ทำให้เป็นการ lock อัตราภาษีโดยรวมไว้ไม่ให้เกิน 28% ของกำไร (คือ กำไร 100 บาท เสีย CIT ไม่เกิน 20 บาท เหลือจ่ายเงินปันผล 80 บาท เสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 8 บาท จึงเสียภาษีโดยรวมไม่เกิน 28 บาท หรือ 28% ของกำไร) ในขณะที่อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงสุดที่ 35%

ดังนั้น ถ้ามองแต่เฉพาะเรื่องภาษีเงินได้นั้น การทำธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคลจะเสียภาษีเท่ากับหรือน้อยกว่าการทำธุรกิจในรูปแบบบุคคลธรรมดา เว้นแต่ธุรกิจนั้นมีอัตรากำไรที่สูงมากและกฎหมายยอมให้หักค่าใช้จ่ายแบบเหมาที่มากกว่าค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง

 

บ่อยครั้งที่ผู้เขียนได้ฟังเจ้าของธุรกิจโอดครวญว่าภาษีที่ประหยัดได้จากการทำธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคลยังไม่พอกับค่าใช้จ่ายดำเนินการที่ต้องเสียมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าจดจัดตั้ง ค่าทำบัญชี ค่าสอบบัญชี ฯลฯ ผู้เขียนจึงอยากแนะนำว่าอย่ามองเพียงแค่เรื่องของภาระภาษีว่าจะทำธุรกิจในรูปแบบใด แต่ให้มองข้อดี ข้อเสียในด้านอื่นๆ ด้วยอย่างครอบคลุม ค่ะ

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th