logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: ภาษีและมรดก

ทำธุรกิจด้วยภาษีแบบไหนดี ตอนที่ 1

โดย ธัญญพัทธ์ วรวงษ์สถิตย์ นักวางแผนการเงิน CFP®, CFA

 

1 ในคำถามยอดฮิตของผู้ประกอบการขนาดเล็ก คงหนีไม่พ้นเรื่องการเลือกรูปแบบในการทำธุรกิจว่าจะเลือกรูปแบบบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ซึ่งปัจจัยที่ผู้ประกอบการควรพิจารณานั้นมีหลายปัจจัย เช่น เรื่องความคล่องตัวในการทำธุรกิจ ความรับผิดในหนี้สิน ความน่าเชื่อถือของธุรกิจ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ระบบควบคุมภายใน การวางรากฐานเพื่อการเติบโต ฯลฯ และยังมีอีกปัจจัยหนึ่งที่เป็นปัจจัยยอดนิยมของผู้ประกอบการ คือ เรื่องการเสียภาษีเงินได้ บทความนี้จึงขอไขข้อข้องใจของเหล่าผู้ประกอบการว่าการทำธุรกิจในรูปแบบบุคคลธรรมดา (ซึ่งเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือ Personal Income Tax เรียกย่อๆ ว่า “PIT”) กับการทำธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคล (เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล หรือ Corporate Income Tax หรือ “CIT”) แบบไหนเสียภาษีเงินได้น้อยกว่ากันค่ะ

 

การคำนวณภาษีมีหลักในการคำนวณที่เป็นพื้นฐาน คือ

ภาษีที่ต้องเสีย      =     ฐานภาษี   *  อัตราภาษี

 

เพราะฉะนั้นถ้าจะพิจารณาถึงความแตกต่างของจำนวนภาษีเงินได้ที่ต้องเสียจากการประกอบธุรกิจในรูปแบบบุคคลธรรมดา เปรียบเทียบกับในรูปแบบนิติบุคคล จึงต้องพิจารณาถึงความแตกต่างในเรื่องฐานภาษีและเรื่องอัตราภาษี ทั้งนี้ผู้เขียนได้ยกตัวอย่างประกอบในบทความนี้เป็นการทำธุรกิจซื้อมาขายไป เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจหลักการได้โดยง่ายและสามารถนำไปปรับใช้กับธุรกิจของตนเองต่อไป

  1. ฐานภาษี (กรณีธุรกิจซื้อมาขายไป)

 

CIT

PIT

ฐานภาษี (1)

กำไรสุทธิ

(รายได้ – ค่าใช้จ่าย)

เงินได้สุทธิ (2)

(เงินได้พึงประเมิน – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน)

รายได้

รายได้คำนวณโดยใช้เกณฑ์คงค้าง

(ถือเป็นรายได้เมื่อส่งมอบสินค้า)

เงินได้พึงประเมินคำนวณโดยใช้เกณฑ์เงินสด

(ถือเป็นเงินได้เมื่อได้รับเงินค่าสินค้า)

ค่าใช้จ่าย

หักตามจริง

(ตามเงื่อนไขในมาตรา 65 ทวิ และ 65 ตรี ของประมวลรัษฎากร)

หักตามจริง

(นำมาตรา 65 ทวิ และ 65 ตรี มาใช้โดยอนุโลม)

หักแบบเหมา

(อัตรา 60% สำหรับธุรกิจซื้อมาขายไป)

ค่าลดหย่อน

ไม่มี

มี เช่น ค่าลดหย่อนส่วนตัว คู่สมรส บุตร เบี้ยประกันชีวิต/สุขภาพ/บำนาญ เงินค่าซื้อกองทุน SSF RMF ฯลฯ ทั้งนี้ต้องปฎิบัติตามเงื่อนไขของกรมสรรพากร

 

หมายเหตุ

(1) ในการคำนวณฐานภาษีเงินได้ยังมีความแตกต่างในรายละเอียดปลีกย่อย เช่น การคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลอนุญาตให้ยกผลขาดทุนของปีก่อนมาเป็นค่าใช้จ่ายได้ (Tax loss carry forward) หรือให้หักค่าใช้จ่ายบางชนิดได้มากกว่าที่เกิดขึ้นจริง เป็นต้น ซึ่งผู้เขียนไม่ได้ลงรายละเอียดไว้ในบทความนี้

(2) การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีการคำนวณโดยใช้เงินได้พึงประเมินเป็นฐานรายได้ด้วย โดยต้องเปรียบเทียบระหว่างภาษีที่คำนวณได้จากฐานเงินได้สุทธิ (คำนวณที่อัตราภาษีแบบก้าวหน้า) กับฐานเงินได้พึงประเมิน (คำนวณที่อัตราภาษี 0.5%) แบบไหนมากกว่าให้เสียแบบนั้น ซึ่งในทางปฏิบัติผู้เสียภาษีมักจะต้องเสียภาษีจากฐานเงินได้สุทธิ
 

  1. อัตราภาษี

อัตราภาษี PIT จะเป็นอัตราก้าวหน้าตั้งแต่ 0% - 35% ส่วนอัตราภาษี CIT สำหรับนิติบุคคลที่เป็น SME (คือมีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาทและมีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อปี) คือ 0% - 20% โดยแสดงเปรียบเทียบในแต่ละขั้นของฐานภาษีดังนี้
 

ฐานภาษี (บาท)

CIT

PIT

ผลต่าง (CIT – PIT)

1

-

150,000

0%

0%

0%

150,001

-

300,000

0%

5%

-5%

300,001

-

500,000

15%

10%

5%

500,001

-

750,000

15%

15%

0%

750,001

-

1,000,000

15%

20%

-5%

1,000,001

-

2,000,000

15%

25%

-10%

2,000,001

-

3,000,000

15%

30%

-15%

3,000,001

-

5,000,000

20%

30%

-10%

5,000,001

ขึ้นไป

 

20%

35%

-15%

 

จะเห็นว่าอัตราภาษี CIT นั้นเท่ากันหรือต่ำกว่าอัตราภาษี PIT สำหรับทุกระดับของฐานภาษี ยกเว้นที่ฐานภาษี 300,001 – 500,000 บาท ซึ่งอัตราภาษี CIT (15%) นั้นมากกว่าอัตราภาษี PIT (10%)

 

กลับมาที่คำถามว่าแล้วทำธุรกิจในรูปแบบไหนสียภาษีน้อยกว่ากัน ผู้เขียนอยากให้พิจารณาดังนี้
 

ขั้นตอนที่ 1 ให้พิจารณาว่าเงินได้พึงประเมินจากการทำธุรกิจของเราถ้าทำในรูปแบบบุคคลธรรมดาสามารถหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้หรือไม่ เช่น ในกรณีตัวอย่างที่เป็นธุรกิจซื้อมาขายไป สามารถหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ 60%

 

ขั้นตอนที่ 2 ถ้าสามารถหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ ให้พิจารณาอัตรากำไรของธุรกิจ (Profit Margin) ว่าถ้าทำในรูปแบบบุคคลธรรมดาควรหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา หรือหักค่าใช้จ่ายตามจริง เช่น ในกรณีตัวอย่างที่เป็นธุรกิจซื้อมาขายไป ถ้าผู้เสียภาษีเลือกหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาที่ 60% หมายความว่าจะมีอัตรากำไรที่ต้องไปเสียภาษีที่ 40% ถ้าในความเป็นจริงธุรกิจสามารถทำกำไรได้น้อยกว่า 40% การหักค่าใช้จ่ายแบบตามจริงย่อมเป็นการประหยัดภาษีกว่า แต่ในทางกลับกันถ้าธุรกิจสามารถทำกำไรได้มากกว่า 40% การหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาที่ 60% ย่อมเสียภาษีน้อยกว่า

 

ขั้นตอนที่ 3 เมื่อพิจารณาเลือกได้แล้วว่าถ้าทำธุรกิจในรูปแบบบุคคลธรรมดาจะหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาหรือตามจริง จึงค่อยมาคำนวณภาษีเปรียบเทียบกับการทำธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคล โดยในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น ยังไม่ต้องรวมค่าลดหย่อนในการคำนวณ ทั้งนี้เพื่อให้เป็นการเปรียบเทียบภาษีที่คำนวณจากเฉพาะผลกำไรของธุรกิจก่อน

 

ตัวอย่างในตารางข้างล่างนี้ แสดงภาษีเงินได้ในกรณีที่ธุรกิจมีรายได้ (เงินได้พึงประเมิน) 10 ล้านบาท ที่ระดับอัตรากำไรต่างๆ กัน เช่น ที่ระดับอัตรากำไร 10% กำไรสุทธิที่คำนวณจากค่าใช้จ่ายจริง จะคือ 1 ล้านบาท ถ้าเป็นนิติบุคคล จะเสียภาษีเงินได้ 105,000 บาท แต่ถ้าเป็นบุคคลธรรมดา จะเสียภาษี 115,000 บาท แต่ถ้าบุคคลธรรมดาเลือกหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 60% จะมีกำไรเพื่อเสียภาษี 4 ล้านบาท ทำให้ต้องเสียภาษีเงินได้ 965,000 บาท (ยังไม่หักค่าลดหย่อน)

 

 

เมื่อเปรียบเทียบถึงตรงนี้จะพบว่าที่กำไรที่เท่ากัน ภาษีเงินได้ CIT มักจะน้อยกว่าภาษีเงินได้ PIT แต่ยังมีความแตกต่างที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่เรายังไม่ได้พิจารณา คือ กำไรหลังภาษีที่เกิดขึ้นจากการทำธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคลยังเป็นของนิติบุคคลนั้นๆ ยังไม่ได้มีการจ่ายผลกำไรนั้นมาที่เจ้าของธุรกิจ เจ้าของธุรกิจจึงยังไม่สามารถนำผลกำไรนั้นไปจับจ่ายใช้สอยส่วนตัวได้ ในขณะที่กำไรหลังภาษีที่เกิดขึ้นจากการทำธุรกิจในรูปแบบบุคคลธรรมดานั้นเป็นของเจ้าของธุรกิจแล้ว ดังนั้นเจ้าของธุรกิจสามารถนำผลกำไรนั้นไปใช้จ่ายส่วนตัวได้

 

ในบทความตอนที่ 2 ผู้เขียนจะนำความแตกต่างนี้มาพิจารณาเพิ่มเติม โดยสมมติว่าถ้าธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคลได้จ่ายผลกำไรทั้งหมดให้เจ้าของธุรกิจในรูปเงินปันผล ภาระภาษีเงินได้ทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากการประกอบธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคล ซึ่งประกอบด้วยภาษี CIT จากกำไรจากธุรกิจ และภาษี PIT จากเงินปันผลและเครดิตภาษีเงินปันผล จะยังคงน้อยกว่าภาระภาษีเงินได้จากการประกอบธุรกิจในรูปแบบบุคคลธรรมดาหรือไม่ค่ะ

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th