logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: ภาษีและมรดก

เจาะลึกค่าลดหย่อนภาษีพ่อแม่

โดย ณัฐพล ควรสถิตย์ นักวางแผนการเงิน CFP®

 

เรื่องของการลดหย่อนภาษีเงินได้ ถือเป็นอีกเรื่องที่ผู้มีเงินได้ควรเตรียมวางแผน และนำมาพิจารณา โดยหนึ่งในหมวดการลดหย่อนที่เหมาะสมกับสังคมของประเทศไทยนั้นคือ การลดหย่อนภาษีบิดา และมารดา ด้วยลักษณะทางสังคมของไทยคือ การดูแลบิดามารดา กตัญญู ตอบแทนท่าน ดูแลท่านในยามเกษียณ หรือมีอายุมากขึ้น

 

โดยผมจะขอแบ่งหมวดการลดหย่อนภาษีสำหรับบิดา และมารดา เป็น 2 หมวดย่อย คือ

 

 1. ค่าเลี้ยงดูบิดามารดา และ 2. ค่าเบี้ยประกันสุขภาพของบิดามารดา 

 

ซึ่งในแต่ละหมวดจะมีเงื่อนไข ข้อกำหนด และข้อยกเว้นอยู่ เรียกได้ว่าต้องศึกษารายละเอียดให้ดีเสียก่อนที่จะใช้สิทธิลดหย่อนนี้ เพราะหลายๆ ท่านเข้าใจผิด หรือมองข้ามเงื่อนไขไปส่งผลให้มีปัญหา และถูกปรับเงินหลังจากการดำเนินการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไปแล้ว โดนทั้งเรียกตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังของบิดามารดา ในเรื่อง อายุ หรือ รายได้ โดยที่บางท่านไม่ทราบมาก่อนด้วยซ้ำว่ามีเงื่อนไขเหล่านี้กำหนดอยู่

 

หมวดที่ 1 “ค่าเลี้ยงดูบิดามารดา” มีข้อกำหนดไว้ว่า ผู้มีเงินได้ที่มีภาระดูแลบิดามารดา รวมถึงบิดามารดาของคู่สมรส ซึ่งมีอายุ 60 ปีขึ้นไป และมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทในแต่ละปีภาษี สามารถนำค่าเลี้ยงดูบิดามารดามาลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท ไม่เกิน 4 คน โดยจะต้องมีหนังสือรับรองการลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา (ล.ย.03) เป็นเอกสารประกอบการใช้สิทธิลดหย่อน กรณีมีพี่น้องสามารถใช้สิทธิแยกกันได้เช่นพี่นำบิดาไปลดหย่อน 30,000 บาท ส่วนน้องนำมารดาไปลดหย่อน อีก 30,000 บาท หรือหากไม่มีพี่น้อง บุตรก็สามารถนำทั้งบิดาและมารดามาลดหย่อนได้รวมกัน 60,000 บาท เป็นต้น

 

หมวดที่ 2 “ค่าเบี้ยประกันสุขภาพของบิดามารดา” อีกหนึ่งรายการค่าลดหย่อนสำหรับบุตรที่จ่ายเบี้ยประกันสุขภาพให้บิดามารดาในปัจจุบัน โดยค่าเบี้ยประกันสุขภาพเหล่านี้สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ แต่ต้องรวมแล้วไม่เกิน 15,000 บาท (รวมบิดาและมารดา) ทั้งนี้ความคุ้มครองประกันสุขภาพจะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของกรมสรรพากร ตัวอย่าง กรณีมีพี่น้องและร่วมกันซื้อประกันสุขภาพให้บิดามารดาและมีเบี้ยประกันสุขภาพที่จ่ายรวม 20,000 บาท สามารถแบ่งกันตามสัดส่วน เช่น พี่รับผิดชอบเบี้ยประกัน 50% คิดเป็น 10,000 บาท และ น้องก็รับผิดชอบอีก 50% อีก 10,000 บาท ต่างฝ่ายต่างนำไปลดหย่อนได้เช่นกัน โดยผู้เสียภาษี 1 คน สามารถลดหย่อนหมวดนี้ได้สูงสุด 15,000 บาทนั่นเอง

 

ข้อควรระวัง ก่อนใช้สิทธิ !

  1. ผู้ใช้สิทธิลดหย่อนนี้ต้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดามารดาผู้มีเงินได้เท่านั้น
    (บุตรบุญธรรมไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนบิดามารดาที่เป็นผู้รับบุตรบุญธรรม)

  2. ควรตรวจสอบกับบิดามารดาให้ดีว่า ท่านไม่มีรายได้จริงๆ ในทุกๆ ประเภทเงินได้ 40(1) - 40(8)
    (บางกรณี เช่น บุตรบางคนไม่ทราบว่าบิดามีรายได้จากดอกเบี้ย เงินปันผล เป็นต้น)

  3. กรณีใช้สิทธิของบิดามารดาคู่สมรส ต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าคู่สมรสไม่มีเงินได้

จะเห็นได้ว่าสิทธิในการนำบิดามารดามาลดหย่อนภาษีนั้นไม่ซับซ้อนอย่างที่คิด แต่ผู้มีเงินได้ต้องอย่าลืมตรวจสอบเงื่อนไขให้ดีทั้งบิดามารดา และคู่สมรสก่อนจะใช้สิทธิ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่จะเจอในภายหลัง และอย่าลืมพึงใช้สิทธิที่มีในการลดหย่อนภาระภาษี เพื่อประโยชน์สูงสุดของตัวท่านเอง

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th