logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: ประกันภัย

วางแผนทำประกันในแบบผู้จัดการทีมฟุตบอล

โดย สิรภัทร เกาฏีระ นักวางแผนการเงิน CFP®

 

ฟุตบอลจัดว่าเป็นกีฬาสากลยอดนิยมของคนทั่วโลก เป็นการแข่งขันระหว่างทีม 2 ฝั่ง ซึ่งแต่ละฝั่งจะมีผู้จัดการทีมฟุตบอลเป็นของตัวเอง ทำหน้าที่วางแผนส่งนักฟุตบอลลงไปแข่งขันในแต่ละตำแหน่ง ประกอบไปด้วย ตำแหน่งผู้รักษาประตู กองหลัง กองกลาง กองหน้า และตัวสำรอง ซึ่งความเป็นจริงแล้ว การวางแผนทำประกัน ก็คล้ายกับการวางแผนในกีฬาฟุตบอล ดังนั้น ลองมาดูกันว่า ประกันแต่ละแบบทำหน้าที่อะไรบ้างเมื่อเทียบกับตำแหน่งในการแข่งขันกีฬาฟุตบอล

 

 หน้าที่นักฟุตบอลแต่ละตำแหน่ง 

 

ตำแหน่งผู้รักษาประตู : รักษาไม่ให้ทีมเสียประตู (ทำประกันเพื่อคุ้มครองชีวิต)

  • ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ (Whole Life) : สร้างหลักประกัน ให้ความคุ้มครองชีวิตในระยะยาวและมีทุนประกันที่สูง เหมาะสำหรับการเป็นผู้รักษาประตูให้กับเรา

 

ตำแหน่งกองหลัง : ป้องกันไม่ให้คู่แข่งเข้ามาทำประตูของเรา (ทำประกันเพื่อปกป้องค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต)

  • ประกันสุขภาพ (Health) : ช่วยดูแลค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากค่ารักษาพยาบาลจากการเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุในอนาคต

  • ประกันอุบัติเหตุ (PA) : ช่วยคุ้มครองค่าใช้จ่ายการเข้ารักษาพยาบาลที่เกิดจากอุบัติเหตุ

 

ตำแหน่งกองกลาง : สนับสนุนกองหลังและกองหน้า  (ทำประกันเพื่อสร้างกระแสเงินสดที่แน่นอน)

  • ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ (Endowment) : ช่วยเรื่องของการออมเงิน โดยได้รับเงินคืนที่แน่นอนจากกรมธรรม์ในแต่ละปี

  • ประกันชีวิตแบบบำนาญ (Annuity) : เน้นการออมเงินระยะยาว เพื่อการเกษียณอายุหลังจากการทำงานโดยเฉพาะ

 

ตำแหน่งกองหน้า : หาจังหวะการทำประตู (ทำประกันเพื่อสร้างโอกาสในการรับผลตอบแทนที่สูงขึ้น)

  • ประกันชีวิตควบการลงทุน แบบชำระเบี้ยครั้งเดียว (Unit Linked : Single Premium) : มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นจากประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ทั่วไป โดยเบี้ยประกัน Unit Linked จะแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก ชำระเป็นค่าความคุ้มครองชีวิต ส่วนที่ 2 นำเงินไปลงทุนในกองทุนรวม ที่ผู้ทำประกันเลือกลงทุนตามระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้

 

ตำแหน่งตัวสำรอง : เปลี่ยนตัวลงมาสนับสนุนทีมในตำแหน่งต่างๆ (ทำประกันเพื่อเป็นทางเลือก เพิ่มเติมจากประกันอื่นๆ)

  • ประกันชีวิตควบการลงทุน แบบชำระเบี้ยรายงวด (Unit Linked : Regular Premium) : เป็นแบบประกันที่สามารถทำหน้าที่ได้หลากหลายตำแหน่ง โดยหากเราเลือกรับความคุ้มครองชีวิตที่สูง Unit Linked แบบชำระเบี้ยรายงวดจะเปรียบเสมือนผู้เล่นในตำแหน่งผู้รักษาประตู ที่ให้ความคุ้มครองครอบครัว หรือหากเราทำสัญญาเพิ่มเติมประกันสุขภาพพ่วงกับกรมธรรม์ Unit Linked แบบชำระเบี้ยรายงวดจะทำหน้าที่ตำแหน่งกองหลัง ช่วยปกป้องค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และในทางตรงกันข้าม หากเราเลือกทุนความคุ้มครองชีวิตที่น้อย และเน้นเรื่องการลงทุน Unit Linked แบบชำระเบี้ยรายงวด จะทำหน้าที่ตำแหน่งกองหน้า สร้างโอกาสในการได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้นจะเห็นได้ว่าประกัน Unit Linked แบบชำระเบี้ยรายงวด สามารถประยุกต์ใช้ได้หลายวัตถุประสงค์ ทั้งเรื่องการคุ้มครองชีวิต ปกป้องค่าใช้จ่ายในการรักษาสุขภาพ หรือแม้แต่สร้างโอกาสรับผลตอบแทนในอนาคต

 

การวางแผนประกันในแบบผู้จัดการทีมฟุตบอลจะช่วยให้เราเห็นภาพรวม และวัตถุประสงค์การทำประกันแต่ละแบบอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ประกันที่เน้นเรื่องการคุ้มครองชีวิต (ตำแหน่งผู้รักษาประตู) ไปจนถึงประกันที่เน้นเรื่องโอกาสในการได้รับผลตอบแทน (กองหน้า) ซึ่งหากเราวางแผนประกันในแบบผู้จัดการทีมฟุตบอล ควรให้ความสำคัญกับประกันชีวิตแบบตลอดชีพและประกันสุขภาพ (ตำแหน่งผู้รักษาประตูและกองหลัง) โดยเน้นที่ความคุ้มครองชีวิตและการปกป้องค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลก่อน เมื่อเรามีการปกป้องความเสี่ยงที่เพียงพอแล้ว ก็สามารถมองหาประกันที่ให้ผลตอบแทนในรูปแบบกระแสเงินสดที่ได้รับแน่นอน ก็คือ ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์และแบบบำนาญ (ตำแหน่งกองกลาง) และหากว่าเราต้องการรับผลตอบแทนเพิ่มขึ้น โดยสามารถรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้ ก็สามารถเลือกประกันชีวิตควบการลงทุนแบบชำระเบี้ยรายงวด (ตำแหน่งกองหน้า) เพิ่มเติมเข้ามาในพอร์ตประกันชีวิตของเราได้

 

คำถามที่อยากถามทุกท่าน คือ “วันนี้เรามีการออกแบบประกัน (ทีมฟุตบอล) ของตัวเราเองไว้ดีพอแล้วหรือยังครับ”

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th