logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: ประกันภัย

เรื่องน่ารู้ก่อนทำประกันสุขภาพ

โดย นิชฌานี ฉันทศาสตร์ นักวางแผนการเงิน CFP®

 

“การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ” เชื่อว่าใครๆ ก็อยากมีสุขภาพดี แต่ต้องยอมรับว่า คนเรามีโอกาสเจ็บไข้ได้ป่วยอยู่เสมอ หลายคนอาจต้องการทำประกันสุขภาพ เพื่อบรรเทาค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้น แต่ก่อนจะทำประกันสุขภาพ มีเรื่องที่ควรรู้อะไรบ้างนั้น บทความนี้มีข้อมูลมาฝาก

 

เรื่องที่ควรทำก่อนตัดสินใจทำประกันสุขภาพคือ “เช็กความคุ้มครองพื้นฐาน” ของตัวเราว่ามีอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นประกันสังคม และสวัสดิการของบริษัทที่ทำงาน ดูว่าเพียงพอกับความต้องการมั้ย ถ้าพบว่าความคุ้มครองจากประกันสังคมหรือสวัสดิการที่มีไม่เพียงพอต่อความต้องการ และอยากได้ความคุ้มครองเพิ่มเติมจากสิทธิที่มี ก็ค่อยมองหาประกันสุขภาพ

 

“ประกันสังคม” ให้ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลอะไรบ้าง...คนทำงานประจำเป็นสมาชิกประกันสังคม จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเดือนละ 750 บาท จะได้รับความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลทั้งผู้ป่วยใน ผู้ป่วยนอก และทันตกรรม ซึ่งเป็นสิทธิที่ทุกคนได้รับเท่าเทียมกันหมด

 

โดยถ้ารักษาตัวในโรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิ จะไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ แต่ถ้ารักษาตัวในโรงพยาบาลอื่น จะสำรองค่าใช้จ่ายไปก่อน แล้วเบิกคืนจากประกันสังคมภายหลัง

 

ยกตัวอย่าง ค่ารักษากรณีผู้ป่วยใน โรงพยาบาลรัฐบาล หรือเอกชน จะได้ค่าห้องและค่าอาหารวันละ 700 บาท ค่ารักษากรณีผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลรัฐเบิกได้ตามจริง โรงพยาบาลเอกชน กำหนดวงเงินไว้ที่ 1,000 บาท ส่วนทันตกรรม เช่น ถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน ผ่าฟันคุด จะได้วงเงิน 900 บาท

 

สำหรับ “สวัสดิการของที่ทำงาน” นั้น บริษัทมักมีประกันสุขภาพกลุ่มให้กับพนักงาน เพื่อเป็นสวัสดิการช่วยบรรเทาค่าใช้จ่าย ซึ่งความคุ้มครองแต่ละคนมากน้อยต่างกันไป ขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัท หรือในบริษัทเดียวกัน ความคุ้มครองอาจแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับตำแหน่งงานก็ได้

 

โดยทั่วไปประกันสุขภาพกลุ่มจะกำหนดวงเงินค่ารักษากรณีผู้ป่วยใน เช่น ค่าห้อง ค่าอาหาร ค่าหมอ ค่าพยาบาล ค่ารักษากรณีผู้ป่วยนอก และค่ารักษากรณีทันตกรรม แนะนำให้ศึกษาข้อมูลสวัสดิการเอาไว้ ซึ่งอาจพบว่า ประกันสุขภาพกลุ่มที่เรามีอยู่ให้ความคุ้มครองค่ารักษาหลายอย่างด้วยกัน

 

แต่อย่าลืมศึกษาข้อยกเว้นไม่คุ้มครองไว้ด้วย เช่น ไม่คุ้มครอง การตั้งครรภ์ แท้งบุตร คลอดบุตร การรักษาสายตาสั้น ยาว เอียง ฯลฯ ซึ่งข้อยกเว้นเหล่านี้ เราต้องออกค่าใช้จ่ายเอง หรือมองหาประกันสุขภาพที่ให้ความคุ้มครองเพิ่มเติม

 

ทั้งนี้ หลายคนอาจเกิดคำถามว่า หากทำงานประจำ ซึ่งมีทั้งประกันสังคม และสวัสดิการประกันสุขภาพกลุ่ม เมื่อเจ็บป่วย สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ทางใดทางหนึ่งเท่านั้นหรือไม่ ...คำตอบคือ สามารถใช้สิทธิ ประกันสังคม และประกันสุขภาพกลุ่ม ร่วมกันได้ ไม่ได้ตัดสิทธิ หรือต้องเลือกใช้อย่างใดอย่างหนึ่ง

 

ยกตัวอย่างการใช้สิทธิร่วมกัน

  • กรณีผู้ป่วยใน - สมมติมีประกันสุขภาพกลุ่ม วงเงินค่าห้อง 1,300 บาท เมื่อรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในของโรงพยาบาล สามารถเบิกค่าห้องจากประกันสุขภาพกลุ่ม 1,300 บาท และประกันสังคม 700 บาท รวมแล้วใช้สิทธิพื้นฐานได้สูงสุด 2,000 บาท
  • กรณีทันตกรรม - ขูดหินปูน สามารถใช้สิทธิประกันสังคม 900 บาท สำหรับ ถอนฟัน อุดฟัน สามารถใช้สิทธิ ประกันสุขภาพกลุ่มของบริษัท

 

เมื่อเช็กความคุ้มครองพื้นฐานของตัวเองแล้ว พบว่าต้องการทำประกันสุขภาพ เพื่อลดความเสี่ยงของการจ่ายเงินก้อนใหญ่สามารถเลือกซื้อเพิ่มเติมจากความคุ้มครองที่มีอยู่ ยกตัวอย่าง จากความคุ้มครองพื้นฐานที่มี สามารถเบิกค่าห้องกรณีรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในของโรงพยาบาลได้ 2,000 บาท แต่โรงพยาบาลที่ใกล้บ้าน ใกล้ที่ทำงาน หรือมีโอกาสเข้ารับการรักษา มีค่าห้องอยู่ที่ 5,000 บาท แบบนี้ อาจตัดสินใจทำประกันสุขภาพที่มีค่าห้องประมาณ 3,000 บาท เพื่อชดเชยส่วนต่างค่าห้องที่ไม่เพียงพอ

 

ก่อนทำประกันสุขภาพ แนะนำให้เช็กสิทธิพื้นฐานที่ตัวเองมีก่อน จะได้ไม่ทำซ้ำซ้อนกับสิทธิที่ตัวเองมี เพราะการเบิกรักษาพยาบาลจะสามารถเบิกได้ตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงเท่านั้น

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th