บทความ: เกษียณ
สร้างแผนเกษียณตามใจ ด้วยประกันชีวิตแบบบำนาญ
โดย ณรงค์ศักดิ์ พิริยะพงศ์ นักวางแผนการเงิน CFP®
การเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” นั้น ประเทศใดมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปในสัดส่วนเกินร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศ ถือว่าประเทศนั้นก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) และจะเป็น “สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ” หรือ “สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์” (Complete aged society) เมื่อสัดส่วนประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20 ซึ่งในปี 2574 ประเทศไทยจะเข้าสู่ “สังคมสูงวัยระดับสุดยอด” (Super aged society) เมื่อมีสัดส่วนนี้สูงถึงร้อยละ 28 ของประชากรทั้งหมด นอกจากเราจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็วแล้ว ยังพบว่าเรามีแนวโน้มอายุยืนขึ้น จากการพัฒนาด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ หรือจากไลฟ์สไตล์ที่หันมาใส่ใจเรื่องของสุขภาพมากขึ้น สิ่งที่ตามมาคือ เราจำเป็นต้องวางแผนเกษียณ เพื่อให้มีเงินเพียงพอใช้จ่ายช่วงบั้นปลายชีวิต ซึ่งปัจจุบันมีตัวช่วยออมเงินในรูปแบบต่างๆ ทั้งกองทุนประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนการออมแห่งชาติ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ นอกจากนี้ ยังมีประกันชีวิตที่ถูกออกแบบมาเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการวางแผนเกษียณ นอกเหนือจากความคุ้มครองชีวิต นั่นคือ “ประกันชีวิตแบบบำนาญ”
เมื่อกล่าวถึงการทำประกันชีวิตแบบบำนาญเพื่อช่วยวางแผนเกษียณ หลายคนอาจรู้สึกว่าคุ้มค่าที่จะทำหรือไม่ เพราะหากมองที่ผลตอบแทนของประกัน แน่นอนว่าผลตอบแทนค่อนข้างต่ำ อาจไม่ชนะเงินเฟ้อ หรือหากมองในด้านความคุ้มครองชีวิตก็ไม่สูงนัก ซึ่งไม่เหมาะกับผู้ที่ต้องการทุนประกันสูงๆ เพื่อคุ้มครองภาระทางการเงิน อย่างไรก็ตามในข้อจำกัด ยังมีสิ่งที่โดดเด่นของประกันชีวิตแบบบำนาญที่แตกต่างจากประกันชีวิตแบบอื่นๆ นั่นคือ มีเงินคืนให้เป็นประจำหลังเกษียณหรือช่วงที่หยุดชำระเบี้ยแล้ว ทำให้ผู้ทำประกันมีรายได้ต่อเนื่องหลังเกษียณ เสมือนยังรับเงินเดือนหรือมีรายได้เข้ามาสม่ำเสมอแบบตอนทำงานอยู่ ทั้งนี้เรามาสรุปข้อดีของประกันชีวิตแบบบำนาญที่มีส่วนช่วยในการวางแผนเกษียณให้ได้ตามใจ
ข้อแรก รับเงินคืนที่แน่นอน
ประกันชีวิตแบบบำนาญมีลักษณะเหมือนนำเงินออมแต่ละเดือนหรือแต่ละปีฝากเข้าบัญชีไว้ตามระยะเวลาที่กำหนด โดยผลตอบแทนที่ได้รับจะอยู่ในรูปเงินบำนาญที่แบ่งจ่ายเป็นรายงวด เช่น ทุกเดือน หรือทุกปี เมื่อเข้าสู่วัยเกษียณ ซึ่งเราสามารถระบุจำนวนเงินบำนาญที่ต้องการได้ตั้งแต่วันที่เริ่มทำประกัน ทำให้มีความแน่นอนในเรื่องของผลตอบแทน ประกันชีวิตแบบบำนาญจึงช่วยตอบโจทย์รายได้หลังเกษียณ ลดภาระและความกังวลเรื่องเงินใช้จ่ายยามเกษียณได้
ข้อสอง ประหยัดภาษี
เนื่องจากประกันชีวิตแบบบำนาญ ให้ความคุ้มครองชีวิตด้วย ดังนั้น เบี้ยประกันสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ ช่วยให้เราจ่ายภาษีน้อยลง โดยสามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้สูงสุด 300,000 บาท ในกรณีที่เราไม่เคยซื้อแบบประกันใดๆ เลย ซึ่งแบ่ง 2 ส่วน ส่วนแรก 100,000 บาท คือ ประกันชีวิตทุกแบบที่มีความคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป และประกันแบบบำนาญ แต่ถ้าส่วนแรกเราเป็นผู้ที่มีประกันตามเงื่อนไขอยู่แล้ว การใช้สิทธิในส่วนนี้ก็จะลดลง ส่วนที่สอง อีก 200,000 บาท เฉพาะประกันชีวิตประเภทบำนาญเท่านั้น ทั้งนี้ ต้องพิจารณาจากรายได้ด้วย โดยใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ร้อยละ 15 ของเงินได้ทั้งปีที่เสียภาษี แต่ไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) แล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท ซึ่งเรานำค่าเบี้ยประกันทั้งสองส่วนที่ได้ ไปหักเป็นค่าลดหย่อนก่อนคำนวณในฐานภาษี จะเห็นได้ว่า หากวางแผนเกษียณได้ดี จะช่วยประหยัดภาษีได้มากขึ้น
ข้อสาม ช่วยวางแผนความคุ้มครองสุขภาพ
เมื่อไม่มีรายได้จากการทำงาน แต่ยังอยากได้ความคุ้มครองจากประกันสุขภาพ ซึ่งต้องจ่ายเบี้ยประกันอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้ที่เกษียณแล้วส่วนมากจะหยุดจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพ เพราะค่าเบี้ยประกันมักปรับขึ้นเกือบทุกปี ขณะที่วัยเกษียณเป็นวัยที่จำเป็นต้องใช้เงินดูแลสุขภาพค่อนข้างมาก ดังนั้น วิธีที่จะช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาได้คือ ประกันชีวิตแบบบำนาญ ที่มีการจ่ายเงินคืนในช่วงหลังเกษียณ โดยเราสามารถนำเงินในส่วนนี้มาจ่ายค่าเบี้ยประกันสุขภาพ หรือใช้ดูแลตัวเองหลังเกษียณได้
จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ประกันชีวิตแบบบำนาญมีประโยชน์หลายอย่าง เพราะนอกจากจะช่วยให้เรามีเงินรายได้หลังเกษียณอย่างแน่นอนสม่ำเสมอ โดยไม่ต้องกังวลกับความเสี่ยงแล้ว ระหว่างทางที่จ่ายเบี้ยประกันยังใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ พร้อมกับมีความคุ้มครองชีวิตให้อีกด้วย
การวางแผนออมเงินเพื่อการเกษียณโดยใช้ประกันชีวิตแบบบำนาญ จัดเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้เรามีวินัยออมเงินในระยะยาวได้ โดยไม่ล้มเลิกไปก่อน เพราะการทำประกันเป็นการเตือนให้เราต้องออม หรือหากมีเหตุไม่คาดฝัน เงินออมของเราก็ไม่หายหรือขาดทุน เพราะมีความคุ้มครองชีวิตให้ตลอดทางระหว่างออมด้วยนั่นเอง