บทความ: ลงทุน
DCA กลยุทธ์ลงทุนในช่วงตลาดผันผวน
โดย จิณณรักษ์ เจตน์รังสรรค์ นักวางแผนการเงิน CFP®
เหตุการณ์มากมายในปี 2020 ไม่ว่าจะเป็นวิกฤต COVID-19 สงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ เหตุการณ์ภัยพิบัติ ระเบิด การประท้วง และประเด็นทางการเมืองของหลายๆ ประเทศ ส่งผลให้ราคาของสินทรัพย์ลงทุนผันผวนอย่างรุนแรง นักลงทุนหลายท่านพบว่าพอร์ตที่สะสมมาหลายปีมูลค่าลดลงมาก จนเริ่มลังเลใจว่าจะต้องทำอย่างไร ลงทุนต่อไปดีหรือไม่ในภาวะตลาดผันผวนแบบนี้ กลยุทธ์หนึ่งที่น่าสนใจที่จะช่วยให้ผ่านพ้นทั้งสภาวะอารมณ์ และตลาดแบบนี้ได้คือการลงทุนแบบ DCA
การลงทุนแบบ DCA เป็นกลยุทธ์การลงทุนที่ใช้กันมานานแล้ว เป็นกลยุทธ์ที่ผู้เขียนแนะนำบ่อยที่สุด แต่ผู้เขียนก็ยังคงได้รับคำถามจากผู้รับคำปรึกษาอยู่เสมอ วันนี้จะมาเล่าว่า DCA คืออะไร ดีอย่างไร ทำไมถึงช่วยลดความกังวล และเหมาะกับช่วงเวลาที่ตลาดผันผวนแบบนี้ รวมทั้งวิธีการเริ่มต้นลงทุนสำหรับมือใหม่
DCA คืออะไร
Dollar Cost Averaging (DCA) คือ กลยุทธ์การลงทุนรูปแบบหนึ่งที่ลงทุนอย่างสม่ำเสมอด้วยจำนวนเงินที่เท่าๆ กันในทุกงวดการลงทุน อาจจะเป็นทุกสัปดาห์ ทุกเดือน หรือทุกไตรมาส โดยไม่สนใจว่าราคาของสินทรัพย์ลงทุนที่จะซื้อตอนนั้นเป็นราคาเท่าไหร่
ตัวอย่างการลงทุนแบบ DCA อย่างง่าย
เดือน |
ราคาต่อหน่วย |
จำนวนเงิน |
จำนวนหน่วย |
1 |
12 |
5,000 |
416.67 |
2 |
10 |
5,000 |
500.00 |
3 |
9 |
5,000 |
555.56 |
4 |
11 |
5,000 |
454.55 |
5 |
10 |
5,000 |
500.00 |
6 |
8 |
5,000 |
625.00 |
จากตารางด้านบน ถ้าลงทุนซื้อกองทุนรวมหุ้นกองหนึ่งเท่ากันทุกเดือนๆละ 5,000 บาท จำนวนหน่วยที่ซื้อได้ในแต่ละเดือนจะไม่เท่ากัน เมื่อครบ 6 เดือน จะลงทุนไปทั้งหมด 30,000 บาท ได้ทั้งหมด 3,051.77 หน่วย ที่ราคาต้นทุนเฉลี่ย 9.83 ต่อหน่วย
Market Timing vs. DCA
เปรียบเทียบกับการลงทุนแบบจับจังหวะเวลา ถ้านักลงทุนคาดเดาได้ว่าราคาจะลงไปที่ 8 บาทต่อหน่วย ก็คงรอให้ถึงเดือนที่ 6 เพื่อให้ได้ราคาที่ต่ำที่สุด แต่ในความเป็นจริง ท่านก็อาจตัดสินใจลงทุนเงินทั้ง 30,000 บาท ในเดือนที่ 1 จะได้เพียง 2,500 หน่วย ที่ราคาหน่วยละ 12 บาท
การทยอยลงทุนแบบ DCA จึงไม่ได้ทำให้ได้ราคาที่ต่ำที่สุด แต่ช่วยเฉลี่ยราคาทั้งช่วงราคาสูงและช่วงราคาต่ำตลอดระยะเวลาการลงทุน
ประโยชน์ของ DCA
- สร้างวินัย – ลงทุนเป็นประจำสม่ำเสมอไม่ว่าตลาดจะปรับตัวขึ้นหรือลง
- กระจายความเสี่ยงการเข้าซื้อ – จะได้ต้นทุนเฉลี่ยทั้งช่วงที่ราคาสูงและต่ำ กระจายเงินลงทุนเท่าๆ กันในทุกสภาวะตลาด ลดความเสี่ยงหากลงทุนครั้งเดียวแล้วราคาของสินทรัพย์ลดลง
- ลดผลกระทบจากอารมณ์และความรู้สึกต่อการลงทุน – โดยเฉพาะช่วงวิกฤต หากมูลค่าสินทรัพย์ลงทุนปรับตัวลดลง แทนที่จะกังวล กลับเป็นโอกาสในการทยอยสะสมในช่วงราคาต่ำ
- มีโอกาสได้ต้นทุนเฉลี่ยที่ต่ำ – จากรูปเป็นการจำลองการลงทุนในกองทุนหุ้นแบบ DCA เดือนละ 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 10 ปี แสดงให้เห็นว่าถ้าทยอยลงทุนแบบ DCA อย่างต่อเนื่องในระยะยาวจะมีโอกาสได้ต้นทุนเฉลี่ยต่ำกว่าราคาตลาด
(รูปจากการจำลอง DCA โดย DCA Simulator จาก www.wealthmagik.com)
- มองภาพระยะยาวขึ้น – ช่วยให้วางแผนลงทุนสำหรับเป้าหมายที่มีระยะยาว มุ่งเน้นการสะสม
ข้อจำกัดของ DCA
- ต้นทุนที่ได้จะเป็นต้นทุนเฉลี่ยทั้งจากช่วงที่ราคาสูงและราคาต่ำ ในระยะสั้นอาจมีต้นทุนเฉลี่ยที่สูงกว่าราคาตลาดของสินทรัพย์ลงทุนนั้นๆ ได้
- DCA ไม่ได้ลดความผันผวนของมูลค่าพอร์ตลงทุนโดยรวม ถ้าหากจัดพอร์ตลงทุนเน้นลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความผันผวนสูง เช่น หุ้น ทองคำ พอร์ตลงทุนโดยรวมยังคงได้รับผลกระทบจากสภาวะตลาด
- DCA ไม่เหมาะกับนักลงทุนที่ชอบลงทุนแบบจับจังหวะเวลา
เริ่มต้นลงทุนแบบ DCA
สำหรับผู้เริ่มต้นหรือผู้ที่มีเวลาจำกัด ผู้เขียนแนะนำให้ลงทุนผ่านกองทุนรวม ซึ่งมีนโยบายการลงทุนให้เลือกหลากหลาย ปัจจุบันมีช่องทางการลงทุนมาก จะเปิดบัญชีกับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ที่ใดที่หนึ่ง หรือบางระบบก็ซื้อขายได้กับหลาย บลจ. ส่วนใหญ่มีระบบรองรับการ DCA ให้ตัดบัญชีธนาคารเป็นประจำทุกเดือนอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม นักลงทุนควรจัดพอร์ตลงทุนให้เหมาะกับเป้าหมาย คำนึงถึงระยะเวลาที่จะใช้เงิน ความเสี่ยงที่ยอมรับได้ อย่าลืมดูความสามารถในการจัดเงินลงทุนแต่ละเดือนด้วย กองทุนจะมีกำหนดเงินลงทุนขั้นต่ำที่ต้องลงทุนในแต่ละเดือน