บทความ: ประกันภัย
ประกันชีวิตแต่ละแบบเหมาะกับใคร...ใช่ในแบบที่คุณคิดหรือไม่
โดย แพรวพิรยา ศิริวัฒนาดิเรก นักวางแผนการเงิน CFP®
เมื่อพูดถึง “ประกันชีวิต” หลายคนอาจมองว่าไม่ใช่เรื่องที่จำเป็น หรือมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อตัวแทน หรือต่อบริษัท ทำให้มองข้ามความสำคัญของการทำประกันชีวิต ขณะที่บางคนก็ซื้อประกันชีวิตเพียงเพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเท่านั้น แต่แท้จริงแล้ว ประกันชีวิตเป็นขั้นตอนหนึ่งของการวางแผนทางการเงินที่ไม่ควรมองข้าม ซึ่งเราสามารถเลือกประกันชีวิตให้เหมาะสมกับความต้องการและตอบโจทย์เป้าหมายทางการเงินของเราได้
ก่อนอื่น เริ่มจากการตรวจสอบตัวเองก่อนว่าเรามีความจำเป็นต้องทำประกันชีวิตหรือไม่ ด้วยการตอบคำถามดังนี้
- ภาระทางการเงิน เช่น ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ เงินกู้ของกิจการ มีอยู่หรือไม่
- หน้าที่ความรับผิดชอบ เราเป็นเสาหลักในการหารายได้ของครอบครัวหรือไม่
- เงินเก็บเพื่อการเกษียณอายุ วางแผนไว้เพียงพอหรือไม่
เมื่อตอบคำถามได้แล้ว ก็มาถึงขั้นตอนการเลือกทำประกันชีวิตที่เหมาะสมกับตัวเราเอง เพราะประกันชีวิตแต่ละแบบมีข้อดีและประโยชน์ที่แตกต่างกัน โดยประกันชีวิตสามารถแบ่งได้เป็น 5 แบบดังนี้
1. ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา (Term)
ประกันชีวิตที่เน้นเรื่องความคุ้มครองในระยะสั้นถึงระยะกลาง เราสามารถเลือกระยะเวลาชำระเบี้ยและระยะเวลาคุ้มครองให้เหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการของเราได้ เช่น 5 ปี 10 ปี 15 ปี
จุดเด่น : เบี้ยประกันถูกเมื่อเทียบกับความคุ้มครองที่ได้รับ
เหมาะกับ : คนที่เริ่มสร้างครอบครัว หรือคนที่เริ่มทำงานมาได้สักระยะหนึ่ง (อายุ 31-40 ปี)
2. แบบประกันแบบตลอดชีพ (Whole Life)
ประกันชีวิตที่เน้นความคุ้มครองระยะยาว โดยจ่ายเบี้ยเป็นระยะเวลาหนึ่ง เช่น 5 ปี 10 ปี 15 ปี หรือ 20 ปี และจะได้รับความคุ้มครองตลอดชีวิต หรือตามระยะเวลาที่กำหนด เช่น คุ้มครองจนถึงอายุ 90 ปี 99 ปี
จุดเด่น : เบี้ยประกันถูกและได้รับความคุ้มครองที่ยาวนาน เหมาะกับคนที่มีภาระความรับผิดชอบ หรือเป็นการสร้างมรดกให้กับลูกหลาน หรือคนที่ต้องการทำประกันพ่วงกับประกันสุขภาพ เพราะทำให้เราสามารถซื้อประกันสุขภาพได้ต่อเนื่อง
เหมาะกับ : คนที่เริ่มสร้างครอบครัวหรือต้องการสร้างเงินมรดกให้กับลูกหลาน
3. ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ (Endowment)
ประกันชีวิตที่เน้นเรื่องการเก็บเงิน โดยมีระยะเวลาคุ้มครองไม่ได้ยาวนานมาก เช่น คุ้มครอง 10 ปี 15 ปี 25 ปี ประกันแบบนี้มักมีเงินคืน หรือเงินปันผลระหว่างทางให้ด้วย (เงินปันผลขึ้นอยู่กับการบริหารเงินลงทุนของบริษัท)
ข้อดี : เป็นการเก็บเงินแบบการันตีเงินเป้าหมาย หรือเงินก้อนที่จะได้รับในอนาคต
เหมาะกับ : คนที่อยู่ในช่วงวัยเริ่มต้นทำงาน หรือคนที่ต้องการเก็บเงินอย่างสม่ำเสมอ
4. ประกันชีวิตแบบบำนาญ (Annuity)
ประกันชีวิตที่เน้นการออมเงินเพื่อการเกษียณโดยเฉพาะ โดยมีระยะเวลาจ่ายเบี้ยให้เลือก เช่น แบบจ่ายเบี้ยปีเดียว ซึ่งตอบโจทย์คนที่มีเงินก้อนใหญ่ แบบจ่ายเบี้ยต่อเนื่อง 5 ปี 10 ปี หรือจนถึงอายุเกษียณ 60 ปี เหมือนทยอยสะสมเงิน และเมื่อเกษียณอายุ 55 ปี หรือ 60 ปี จะได้รับเงินคืนเป็นรายเดือน หรือรายปี ไปจนกระทั่งอายุ 85 ปี 90 ปี หรือ 99 ปี ตามที่กำหนดไว้
ข้อดี : ได้เตรียมเงินใช้จ่ายสำหรับช่วงเกษียณอายุอย่างสม่ำเสมอ
เหมาะกับ : คนทุกคนที่ต้องการเตรียมเงินเพื่อใช้ในช่วงเกษียณอายุ
5. ประกันชีวิตควบการลงทุน (Unit Link)
ประกันชีวิตที่นำเบี้ยส่วนหนึ่งของเราไปลงทุนในกองทุนรวม โดยเราสามารถจัดพอร์ตการลงทุนได้เอง มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น แต่ก็มีความเสี่ยงจากการลงทุนที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน ทำให้เกิดความไม่แน่นอนของผลตอบแทนที่จะได้รับ สำหรับเบี้ยอีกส่วนหนึ่งจะนำไปเป็นค่าใช้จ่ายในการทำประกันคุ้มครองชีวิต
ข้อดี : มีความหยืดหยุ่นสูงในเรื่องของการจ่ายเบี้ยประกัน สามารถปรับสัดส่วนการประกันชีวิตและการลงทุนได้
เหมาะกับ : คนที่ต้องการได้รับทั้งความคุ้มครองและผลตอบแทน ที่สามารถรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้
เมื่อรู้แล้วว่า ตัวเราจำเป็นต้องทำประกันชีวิตหรือไม่ และประกันชีวิตแบบไหนที่เหมาะสมตอบโจทย์ความต้องการ ประกันอีกประเภทหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันในยุคปัจจุบัน คือ ประกันสุขภาพ เพราะมีโรคภัยไข้เจ็บเกิดขึ้นมากมาย หากเจ็บป่วยถึงขั้นต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล ย่อมใช้เงินจำนวนไม่น้อย แต่ก่อนที่จะตัดสินใจทำประกันสุขภาพ แนะนำให้สำรวจก่อนว่า ปกติเราใช้บริการโรงพยาบาลใด สวัสดิการค่ารักษาพยาบาลที่เรามีอยู่ทั้งของบริษัทที่ทำงาน ประกันสังคม หรือหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพียงพอหรือไม่ หากไม่เพียงพอ ค่อยพิจารณาทำประกันสุขภาพเพิ่มเติม โดยข้อดีของการทำประกันสุขภาพคือ เสมือนเราสำรองเงินค่ารักษาพยาบาลไว้ส่วนหนึ่ง รวมถึงได้รับความรวดเร็วและความสะดวกสบายในการรักษาพยาบาล
สุดท้าย อย่าลืมตรวจสอบความสามารถในการชำระเบี้ยประกันด้วยนะคะ เพื่อไม่เป็นภาระทางการเงินกับตัวเราในภายหลัง เพราะประกันที่ดีที่สุดคือประกันที่เหมาะสมและช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายทางการเงินที่เราตั้งใจไว้นั่นเอง