logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: เกษียณ

กองทุนเกษียณไม่พอทำอย่างไรดี

โดย รัฐพล วชิรเมฆากุล นักวางแผนการเงิน CFP®

 

สำหรับคนที่มีการวางแผนกองทุนเกษียณมาอย่างดี ได้ผลลัพธ์ตามเป้าหมาย และมั่นใจว่ามีกองทุนเกษียณอย่างเพียงพอ การบริหารจัดการผลตอบแทนและความเสี่ยงของพอร์ตโฟลิโอช่วงหลังเกษียณก็ทำได้ง่ายขึ้น แต่ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่มีเงินกองทุนเกษียณไม่เป็นไปตามเป้าหมาย หรือไม่มั่นใจว่ากองทุนเกษียณจะเพียงพอตลอดการเกษียณของตัวเองจะทำอย่างไร

 

โดยทั่วไป การจัดพอร์ตโฟลิโอสำหรับวัยเกษียณจะมีการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสูงในสัดส่วนต่ำ เพราะเป็นวัยที่ต้องการความมั่นคงของผลตอบแทนและความปลอดภัยของเงินต้นเป็นหลัก และเป็นการจัดในลักษณะพอร์ตโฟลิโอเดียวตลอดการเกษียณ ซึ่งให้ผลตอบแทนคาดหวังประมาณ 4.24 % (*คำนวณจากผลตอบแทนย้อนหลังปี พ.ศ.2542 ถึงปี พ.ศ.2562 และ**อัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ธนาคารปี พ.ศ. 2562)

 

พอร์ตโฟลิโอเดี่ยว (Single Portfolio) ช่วงหลังเกษียณ

ประเภทสินทรัพย์ สัดส่วนการลงทุน ผลตอบแทนย้อนหลัง (% ต่อปี) ผลตอบแทนถ่วงน้ำหนัก (% ต่อปี)
ตราสารทุน* 10.00% 10.61% 1.06%
ตราสารหนี้ระยะยาว* 30.00% 5.72% 1.72%
ตราสารหนี้ระยะสั้น* 20.00% 3.57% 0.71%
เงินฝากประจำ 1 ปี* 30.00% 2.33% 0.71%
เงินฝากออมทรัพย์** 10.00% 0.47% 0.05%
รวม 100.00%   4.24%

 

ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามการคำนวณของแผนการเงินของแต่ละท่าน เช่น บางท่านตั้งสมมติฐานผลตอบแทนหลังเกษียณไว้ที่ 5 – 6% ก็ลองปรับสัดส่วนการลงทุนให้สอดคล้องนะครับ พอร์ตโฟลิโอนี้ผมจำลองมาจากบทความ “จัดพอร์ตลงทุนตามวัย” ของห้องเรียนนักลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

 

แต่สำหรับคนที่ไม่มั่นใจว่ากองทุนเพื่อการเกษียณของตนเองจะเพียงพอตลอดการเกษียณหรือไม่ จะให้ปรับลดระดับการใช้ชีวิตก็น่าเห็นใจ ทางออกคือการหาวิธีเพิ่มการเติบโตเงินกองทุนเกษียณในช่วงเกษียณ หมายความว่าต้องมีพอร์ตโฟลิโอที่เน้นการเติบโตของเงินแม้จะอยู่ในช่วงเกษียณแล้ว โดยใช้เทคนิคการจัดพอร์ตแยกตามระยะเวลาใช้เงินหลังเกษียณ

 

เทคนิคดังกล่าวจัดพอร์ตอย่างไร กรณีนี้สมมติให้เกษียณจากการทำงานเมื่ออายุ 60 ปี คาดว่าจะมีชีวิตอยู่ถึงอายุ 80 ปี มีระยะเวลาหลังเกษียณ 20 ปี แบ่งการจัดพอร์ตเป็น 2 ช่วง พอร์ตโฟลิโอช่วง 10 ปีแรกจัดพอร์ตโฟลิโอความเสี่ยงต่ำตามตารางข้างต้น เนื่องจากเป็นการใช้เงินในระยะสั้นถึงปานกลาง พอร์ตโฟลิโอช่วง 10 ปีหลัง ให้จัดพอร์ตโฟลิโอความเสี่ยงสูง เน้นคาดหวังการเติบโตของเงิน มีตราสารทุน (หุ้น) ในสัดส่วนที่สูงขึ้นเพื่อมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว สัดส่วนการลงทุน และผลตอบแทนคาดหวังตามตารางด้านล่าง

 

พอร์ตโฟลิโอช่วง 10 ปีหลังของการเกษียณ

ประเภทสินทรัพย์ สัดส่วนการลงทุน ผลตอบแทนย้อนหลัง (% ต่อปี) ผลตอบแทนถ่วงน้ำหนัก (% ต่อปี)
ตราสารทุน* 60.00% 10.61% 6.37%
ตราสารหนี้ระยะยาว* 20.00% 5.72% 1.14%
ตราสารหนี้ระยะสั้น* 10.00% 3.57% 0.36%
เงินฝากประจำ 1 ปี* 5.00% 2.33% 0.12%
เงินฝากออมทรัพย์** 5.00% 0.47% 0.02%
รวม 100.00%   8.01%

 

พอร์ตโฟลิโอความเสี่ยงสูงนี้จะมีเวลาในการลงทุนให้เงินทำงานถึง 10 ปี การรับความเสี่ยงระดับนี้ถือว่ารับได้ และช่วยเพิ่มผลตอบแทนคาดหวังของกองทุนเกษียณโดยรวมจากพอร์ตโฟลิโอเดี่ยวที่ 4.24% ต่อปี เป็น 6.12% ต่อปี กรณีจัดพอร์ตโฟลิโอแบ่งตามระยะเวลาใช้เงินหลังเกษียณ

 

พอร์ตโฟลิโอกองทุนเกษียณในภาพรวม

ประเภทสินทรัพย์ สัดส่วนการลงทุน ผลตอบแทนย้อนหลัง (% ต่อปี) ผลตอบแทนถ่วงน้ำหนัก (% ต่อปี)
ตราสารทุน* 35.00% 10.61% 3.71%
ตราสารหนี้ระยะยาว* 25.00% 5.72% 1.43%
ตราสารหนี้ระยะสั้น* 15.00% 3.57% 0.54%
เงินฝากประจำ 1 ปี* 17.50% 2.33% 0.41%
เงินฝากออมทรัพย์** 7.5% 0.47% 0.04%
รวม 100.00%   6.12%

 

จุดสำคัญคือ ควรมีการปรับสัดส่วนการลงทุนเป็นระยะเพื่อควบคุมความเสี่ยงรวมของพอร์ตโฟลิโอ และควรมีการทบทวนพอร์ตโฟลิโอเพื่อปรับลดความเสี่ยงลงเมื่อใกล้ถึงเวลาใช้เงิน

 

จะเห็นว่าผลตอบแทนคาดหวังช่วง 10 ปีสุดท้ายสูงถึง 8.01% ต่อปี มีโอกาสที่จะมีกองทุนเกษียณเพิ่มสูงขึ้นได้ค่อนข้างมาก แม้เป็นช่วงหลังเกษียณ เทคนิคการจัดพอร์ตนี้สามารถใช้กับกรณีที่เราอาจจะมีชีวิตยืนยาวกว่าแผนที่ตั้งไว้ หรือเพื่อเพิ่มเงินคงเหลือหลังเสียชีวิตได้ด้วย สิ่งสำคัญคือ การใช้บริการจากผู้เชี่ยวชาญอย่างนักวางแผนการเงิน CFP® เพื่อวางแผนการเงินการลงทุนอย่างถูกต้อง รอบคอบ และมีแผนบริหารความเสี่ยงรองรับ เพื่อเพิ่มโอกาสประสบความสำเร็จในการลงทุนมากขึ้น

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th