logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: ประกันภัย

ธุรกิจทำกับเพื่อน อย่าลืมเตือนให้ทำประกัน

โดย สรฐัช สุงาม นักวางแผนการเงิน CFP®

 

เราทำประกันชีวิตเพื่อป้องกันความเสี่ยงในด้านต่างๆ ของชีวิต เช่น การจากไปก่อนวัยอันควร การเจ็บไข้ได้ป่วย การมีอายุยืนยาว การทำประกันชีวิตเพื่อวัตถุประสงค์และความคุ้มครองที่เหมาะสม จะช่วยให้เราสามารถบริหารความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกเหนือจากความเสี่ยงที่กล่าวมา การทำประกันชีวิตเมื่อทำธุรกิจกับบุคคลนอกครอบครัว ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นเช่นกัน

 

ในการทำธุรกิจ ความเสี่ยงที่เราต้องคำนึงถึง นอกจากความเสี่ยงในการทำธุรกิจแล้ว ยังมีความเสี่ยงในเรื่องผู้บริหารจากไปก่อนวัยอันควรด้วย เนื่องจากเป็นผู้ดำเนินกิจการเป็นหลัก หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น การดำเนินกิจการอาจสะดุดลงได้ นอกจากนั้น หุ้นในส่วนที่ตนถืออยู่จะตกไปสู่ทายาทตามกฎหมาย หรือผู้รับมรดกตามพินัยกรรม ประเด็นที่ต้องจับตามองคือ ถ้าในอนาคตผู้ถือหุ้นที่เหลือต้องการหุ้นดังกล่าวคืนเพื่ออำนาจในการบริหาร พวกเขาจะสามารถซื้อหุ้นคืนได้หรือไม่ เนื่องจากต้องใช้เงินสดเพื่อได้หุ้นนั้นมา ถ้าเงินสดของกิจการ หรือเงินส่วนตัวไม่พอ อาจไม่สามารถซื้อหุ้นดังกล่าวมาได้ นอกจากนั้น ผู้รับมรดกซึ่งได้หุ้นจำนวนดังกล่าว ถ้าไม่มีความสามารถในการบริหารธุรกิจ หรือไม่มีความสนใจในธุรกิจ อาจต้องการขายหุ้นดังกล่าวเพื่อนำเงินสดมาเพื่อใช้จ่าย ดังนั้น วิธีการแก้ปัญหานี้คือ การให้ผู้บริหารทำประกัน และหุ้นส่วนทางธุรกิจเป็นผู้รับประโยชน์ จากนั้นให้ทำสัญญาจะซื้อจะขายหุ้นไว้ เพื่อนำเงินจากประกันมาซื้อหุ้นคืน ในกรณีที่มีผู้บริหารคนใดคนหนึ่งเสียชีวิต ซึ่งเบี้ยประกัน บริษัทสามารถเป็นผู้ออก โดยนำไปเป็นค่าใช้จ่ายของบริษัทได้อีกด้วย วิธีนี้มักใช้กับธุรกิจที่มีหุ้นส่วนเป็นบุคคลนอกครอบครัว เพราะหุ้นส่วนที่ยังมีชีวิตอยู่ย่อมต้องการซื้อหุ้นคืนเพื่อบริหารงานต่อไปได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องมีข้อตกลงกันก่อนตัดสินใจทำประกันว่าต้องการซื้อหุ้นคืนหรือไม่ หรือต้องการให้ทายาทมารับช่วงต่อกิจการนี้

 

อีกวิธีหนึ่งคือการทำประกันให้บุคคลสำคัญของบริษัท หรือ Keyman insurance โดยบุคคลสำคัญของบริษัทคือบุคคลที่มีอิทธิพลในการสร้างผลกำไรให้บริษัท ไม่ว่าจะเป็นผู้เชี่ยวชาญในงานเฉพาะด้าน หรือผู้บริหารที่มีความสามารถในการตัดสินใจและบริหารที่ดี การทำประกันให้บุคคลเหล่านี้ก็ถือเป็นหนึ่งในวิธีการรับมือกับความเสี่ยงถ้าหากเกิดเหตุไม่คาดฝันกับบุคคลเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะทำเป็นประกันชีวิต โดยทุนประกันจะคำนวณมาจากความเสียหายของกิจการหากขาดบุคคลดังกล่าว หรือจะซื้อประกันสุขภาพเพื่อเป็นสวัสดิการเพิ่มเติมให้บุคคลดังกล่าวก็ได้ วิธีการดังกล่าวจะช่วยบรรเทาความเสียหายของกิจการหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันกับบุคคลเหล่านี้ได้ และเป็นแรงจูงใจให้พนักงานคนสำคัญของบริษัทสามารถทำงานอยู่กับเราได้นาน นอกจากนี้การทำประกันให้บุคคลสำคัญดังกล่าวยังช่วยเพิ่มคุณค่าให้กับคนเหล่านี้ได้ เนื่องจากจะทำให้เขารู้ว่าเป็นคนสำคัญของกิจการ

 

จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าเราจะดำเนินธุรกิจอะไรก็ตาม นอกจากความเสี่ยงทางด้านธุรกิจที่เราต้องบริหารให้ดีแล้ว ยังมีความเสี่ยงที่สำคัญอีกอย่างคือ การจากไปของหุ้นส่วนทางธุรกิจ หรือบุคคลสำคัญ ดังนั้นการทำประกันเพื่อปกป้องความเสี่ยงทางการเงินที่อาจตามมา จะช่วยให้เราบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ ทั้งยังเป็นแรงจูงใจ ขวัญกำลังใจ และสวัสดิการเพิ่มเติมให้คนเหล่านี้ ส่วนการตกลงทำหรือไม่ทำประกันชีวิตนั้น ควรพิจารณาจากปัจจัยหลายๆ ด้าน เช่น ความพร้อมกระแสเงินสดของกิจการว่ามีเพียงพอในการจ่ายเบี้ยประกันหรือไม่ การรับช่วงต่อของทายาทหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นของหุ้นส่วน การตัดสินใจในการบริหารต่อ หรือเลิกกิจการ ทั้งหมดเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาก่อนดำเนินการทำประกัน และควรหารือกันตั้งแต่เริ่มกิจการ หากท่านใดมีข้อสงสัยหรือต้องการการวางแผนสำหรับปกป้องความเสี่ยงในด้านผู้ถือหุ้นที่กล่าวมา สามารถใช้บริการนักวางแผนการเงินที่เชี่ยวชาญในการจัดการเรื่องนี้ได้

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th