logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: เกษียณ

ข้าราชการเกษียณอย่างมีชัย เพียงใส่ใจพอร์ต กบข.

โดย คุณกัลยวีร์ โรจน์สุขพัฒนา นักวางแผนการเงิน CFP®

 

ในปัจจุบันความใฝ่ฝันของคนกลุ่มหนึ่ง อยากมีอิสรภาพในการใช้ชีวิต เป็นเจ้าของธุรกิจ เป็นนายตัวเอง แต่ก็มีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่สนใจอยากรับราชการ เนื่องจากการรับราชการเป็นอาชีพที่มีความมั่นคง มีการจ้างงานจนถึงเกษียณอายุ มีสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลที่ครอบคลุมไปถึงบิดามารดา คู่สมรส และบุตร หลังเกษียณก็มีเงินบำเหน็จบำนาญให้เลือกรับได้อีก นอกจากความมั่นคง และสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลแล้ว ยังมีโอกาสในการเก็บเงินก้อนจากการเป็นสมาชิก กบข. อีกด้วย วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับเงินออมในบัญชีของสมาชิก กบข. พอร์ตลงทุนที่เกี่ยวข้อง และคำแนะนำในการเลือกแผนลงทุน กบข. กันนะคะ

 

ทำความรู้จัก กบข.

กบข. หรือ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เป็นสวัสดิการที่รัฐมอบให้กับข้าราชการ มีความคล้ายคลึงกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของภาคเอกชน นั่นคือ ในแต่ละเดือนจะมีการนำเงินสะสมของสมาชิก 3% ของเงินเดือนเข้ากองทุน เรียกว่า “เงินสะสม” สมาชิกสามารถออมเพิ่มโดยสมัครใจได้อีก 1-12% ของเงินเดือน เรียกว่า “เงินสะสมส่วนเพิ่ม” ภาครัฐในฐานะนายจ้างจะช่วยสมทบให้ 3% เรียกว่า “เงินสมทบ” และมีเงินชดเชยให้อีก 2% ของเงินเดือน เรียกว่า “เงินชดเชย” นอกจากนี้ ยังมีเงินก้อนที่ภาครัฐนำส่งให้ครั้งเดียว เฉพาะข้าราชการที่บรรจุก่อนวันที่ 27 มีนาคม 2540 แล้วเลือกเป็นสมาชิก กบข. เรียกว่า “เงินประเดิม”

 

โดยกบข. จะนำเงินทั้งหมดไปลงทุนโดยแบ่งเป็น 2 ส่วน

  1. ส่วนของเงินสะสม เงินสะสมส่วนเพิ่ม และเงินสมทบจากทางภาครัฐ นำไปลงทุนตามแผนที่สมาชิกเลือก
  2. เงินชดเชย และเงินประเดิม นำไปลงทุนในแผนหลักตามที่กฎหมายกำหนด

 

7 แผนการลงทุนที่สมาชิกเลือกลงทุนได้

  1. แผนตลาดเงิน - เน้นรักษาเงินต้น ลงทุนในตราสารหนี้ไทยระยะสั้น 100% เป็นแผนที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับทุกแผน และผลตอบแทนจากการลงทุนอาจต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ
  2. แผนตราสารหนี้ - เน้นรักษาเงินต้น โดยลงทุนในเงินฝาก ตราสารหนี้ภาครัฐและเอกชนทั้งระยะสั้นและระยะยาว ผลตอบแทนเฉลี่ยในระยะยาวสูงกว่าแผนตลาดเงิน
  3. แผนหลัก กบข. - การลงทุนที่คาดหวังผลตอบแทนชนะเงินเฟ้อในระยะยาว มีการกระจายความเสี่ยงในหุ้น 18% ตราสารหนี้ 67% อื่นๆ 15% มีความเสี่ยงปานกลาง
  4. แผนผสมหุ้นทวี - มีสัดส่วนของหุ้นมากกว่าแผนหลัก เพื่อเพิ่มโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้นในระยะยาว ลงทุนในหุ้น 35% ตราสารหนี้ 51% อื่นๆ 14% มีความเสี่ยงปานกลางค่อนข้างสูง
  5. แผนตราสารทุนไทย - ผลตอบแทนที่คาดหวังอยู่ในระดับสูงที่สุด เทียบกับแผนการลงทุนอื่นๆ ของ กบข. โดยลงทุนในหุ้นไทย 100% และมีความเสี่ยงสูงสุดเช่นกัน
  6. แผนสมดุลตามอายุ - หากไม่มีความเชี่ยวชาญเรื่องการลงทุนหรือไม่มีเวลาติดตามข้อมูล และไม่มั่นใจว่าจะเปลี่ยนแผนการลงทุนได้ตามสถานการณ์ การเลือกแผนนี้เพียงครั้งเดียว จะปรับลดความเสี่ยงให้สอดคล้องกับช่วงอายุของสมาชิกโดยอัตโนมัติ อายุน้อยเสี่ยงมาก อายุมากเสี่ยงน้อย
  7. แผนกองทุนอสังหาริมทรัพย์ไทย - เป็นแผนการลงทุนใหม่ล่าสุด เริ่มตั้งแต่ 31 กรกฎาคม 2563 ลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และกองทุนรวม โครงสร้างพื้นฐานไทย สำหรับสมาชิกที่ต้องการผสมสัดส่วนแผนการลงทุนด้วยตนเอง มีความเสี่ยงค่อนข้างสูง

นอกจากแผนการลงทุน 7 แผน สมาชิกสามารถกำหนดสัดส่วนได้เองตามความพอใจ และกรณีที่ไม่ได้เลือกแผนใดแผนหนึ่ง เงินออมจะถูกนำไปลงทุนในแผนหลัก กบข.

 

ผลตอบแทนของแต่ละแผนการลงทุนย้อนหลัง

ที่มา : https://www.gpf.or.th/thai2019/About/main.php?page=reward&menu=statistic

 

เมื่อพิจารณาผลตอบแทนย้อนหลัง 5 ปี (หลังหักค่าใช้จ่าย) ของแต่ละแผน ณ 31 ธันวาคม 2562 เรียงตั้งแต่แผนตลาดเงิน (1.60%) แผนตราสารหนี้ (2.79%) แผนหลัก (4.10%) แผนผสมหุ้นทวี (4.64%) แผนตราสารทุนไทย เริ่ม 8 มกราคม 2562 จึงยังไม่มีผลตอบแทนย้อนหลังให้ดู เช่นเดียวกับแผนกองทุนอสังหาริมทรัพย์ไทยที่เพิ่งจัดตั้ง

 

แนะนำหลักในการเลือกแผนลงทุน

นโยบายการลงทุนของแผนหลักถูกออกแบบขึ้น โดยประเมินจากค่าเฉลี่ย เช่น อายุเฉลี่ย เงินเดือนเฉลี่ย เป็นต้น การลงทุนในแผนหลักจึงอาจไม่ได้เหมาะกับทุกคน แผนการลงทุน กบข. มีหลากหลาย และแต่ละแผนก็มีระดับความเสี่ยง และผลตอบแทนที่แตกต่างกัน สมาชิกจึงควรเลือกให้สอดคล้องกับระดับความเสี่ยงที่ตนเองยอมรับได้ ระยะเวลาการลงทุน รวมถึงเป้าหมายในการลงทุน เช่น หากท่านรับความเสี่ยงได้ต่ำถึงปานกลางค่อนข้างต่ำอาจเลือกลงทุนได้ตามแผน 1, 2, 3 แต่ก็ต้องยอมรับว่าผลตอบแทนจะค่อนข้างต่ำ โดยเฉพาะแผน 1 เหมาะสำหรับการพักเงินในระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งจะไม่เหมาะสมกับการลงทุนในระยะปานกลางถึงยาว แต่หากท่านรับความเสี่ยงได้ในระดับที่สูงขึ้น สามารถทนเห็นมูลค่าเงินลงทุนลดลงชั่วคราวได้ ก็สามารถเลือกลงทุนในแผน 4, 5 การเลือกแผนลงทุนด้วยตนเองจะต้องมีการทบทวนและประเมินความเสี่ยงตลอด ซึ่งอาจไม่เหมาะกับหลายๆ ท่าน จึงเกิดแผนสมดุลตามอายุเพื่อให้การเลือกแผนลงทุนง่าย ปรับเปลี่ยนอัตโนมัติ อย่างเหมาะสมตามช่วงอายุของเรา

 

อย่างไรก็ดี สมาชิกควรเข้าใจว่าการลงทุนใน กบข. เป็นการลงทุนระยะยาวเพื่อการเกษียณ หากยังมีเวลาก่อนเกษียณอีกมาก ควรใส่ใจเลือกแผนการลงทุนที่เหมาะสม อย่างน้อยก็ควรเอาชนะอัตราเงินเฟ้อ และเพื่อไม่ให้เป็นการเสียโอกาสที่เงินจะเติบโตจากพลังของอัตราดอกเบี้ยทบต้น ไม่เช่นนั้นแล้ว เมื่อถึงเวลาเกษียณ เงินอาจไม่เพียงพอ ต้องมานั่งเสียใจทีหลัง ว่าทำไมตอนนั้นเราถึงไม่ใส่ใจนะ เริ่มต้นให้ดีวันนี้ จะได้เกษียณอย่างมีชัยในวันข้างหน้ากันนะคะ

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th