logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: ประกันภัย

ลูกควรวางแผนอย่างไร ในวันที่พ่อแม่ทำประกันสุขภาพไม่ได้แล้ว

โดย ปภาวี คู่ณรงค์นันทกุล นักวางแผนการเงิน CFP®

 

ลูกๆ ที่อยู่ในช่วงวัยทำงาน อาจมีคุณพ่อคุณแม่หรือผู้สูงอายุในครอบครัวที่อยู่ในวัยเกษียณอายุ ซึ่งพวกท่านอาจเริ่มมีปัญหาสุขภาพ มีโรคประจำตัว หรือป่วยเป็นโรคยอดฮิตของคนไทยที่มักมาพร้อมกันในวัย 50-60 ปีขึ้นไป อย่างเช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ หรือโรคเบาหวาน ลูกๆ หลายคนที่เป็นผู้หารายได้หลัก หรือดูแลรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ในครอบครัว อาจมีความกังวลใจเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาล หรือค่าใช้จ่ายจำเป็นในการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

 

เมื่อต้องการหาตัวช่วยบรรเทาค่ารักษาพยาบาล การโอนย้ายความเสี่ยงด้วยการทำประกันสุขภาพให้กับคุณพ่อคุณแม่ คงเป็นทางเลือกแรกๆ ที่ลูกๆ นึกถึง แต่ด้วยอายุของคุณพ่อคุณแม่ที่ค่อนข้างมาก สุขภาพอาจไม่แข็งแรงนัก หรือมีโรคประจำตัว ก็อาจเจอกรณีที่บริษัทประกันมีข้อยกเว้นไม่คุ้มครองโรคนั้นๆ รวมถึงภาวะสืบเนื่องของโรคที่เป็นมาก่อน หรือมีการพิจารณาปรับเพิ่มเบี้ยประกันที่สูงกว่าเบี้ยมาตรฐาน (ซึ่งอาจเกินความสามารถในการชำระเบี้ยประกันตามที่วางแผนไว้) หรือบริษัทประกันอาจปฏิเสธที่จะรับทำประกันสุขภาพ เนื่องจากสุขภาพของคุณพ่อคุณแม่มีความเสี่ยงสูงเกินไป ไม่อยู่ในเกณฑ์ของบริษัท เป็นต้น

 

หากเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ขึ้น แผนโอนย้ายความเสี่ยงด้วยการทำประกันสุขภาพให้กับคุณพ่อคุณแม่ คงต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบไป ดังนั้น ลูกๆ ควรเตรียมความพร้อมกับความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อสถานะการเงินของครอบครัวด้วยวิธีการอื่นๆ โดยในกรณีที่สุขภาพของคุณพ่อคุณแม่ไม่ผ่านเกณฑ์การรับประกัน และท่านอยู่ในวัยเกษียณ หรือไม่มีรายได้หลักเข้ามาแล้ว มีคำแนะนำในการเตรียมความพร้อมเบื้องต้น ดังต่อไปนี้

 

  1. เปิดใจพูดคุย และปรึกษากันในครอบครัว

เป็นวิธีการที่เรียบง่าย แต่อาจเริ่มต้นยากสำหรับบางครอบครัว ด้วยทัศนคติที่ว่า เรื่องเงินๆ ทองๆ เป็นเรื่องส่วนบุคคล แม้แต่สมาชิกในครอบครัวเองก็ไม่เปิดเผยข้อมูลให้แก่กัน ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาทางการเงินตามมาในภายหลังได้ ดังนั้น การเปิดใจและเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญต่อกัน จะช่วยให้สมาชิกในครอบครัวเกิดความเข้าใจถึงสถานการณ์ที่เป็นอยู่มากขึ้น มองเห็นความเสี่ยงร่วมกัน และสามารถเตรียมพร้อมรับมือเหตุการณ์ในอนาคตต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น

 

ตัวอย่างเรื่องที่ควรเปิดใจพูดคุยกัน เช่น คุณพ่อคุณแม่มีโรคประจำตัวอะไรบ้าง มีความเสี่ยงจะเกิดโรคแทรกซ้อนที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษหรือไม่ มีแพทย์ประจำตัวหรือไม่ รวมถึงประวัติสุขภาพอยู่ที่คลินิกหรือโรงพยาบาลอะไรเป็นหลัก หากคุณพ่อคุณแม่ยังเป็นผู้รับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลในปัจจุบันเอง ค่าใช้จ่ายอยู่ที่เท่าไร แล้วท่านมีการกันเงินสำรองสำหรับค่ารักษาพยาบาลเหล่านี้ไว้หรือไม่ ประมาณเท่าไร เพื่อให้ลูกๆ สามารถประเมินได้ว่า หากเกิดเหตุฉุกเฉินกับคุณพ่อคุณแม่ จะมีงบประมาณหรือเงินสำรองสำหรับค่ารักษาพยาบาลจากแหล่งใดได้บ้าง

 

สำหรับลูกๆ เอง กรณีที่มีการส่งเงินให้กับคุณพ่อคุณแม่ ก็ควรเปิดเผยถึงสถานะการเงินในปัจจุบันให้ท่านรับรู้ เช่น ค่าใช้จ่ายที่จำเป็น หรือภาระหนี้สินของตนเอง หรือหากมีการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายร่วมกันในครอบครัวที่เกินกำลังของตนเอง ก็ควรแจ้งให้ท่านทราบเพื่อหาแนวทางแก้ไขร่วมกัน ซึ่งสมาชิกในครอบครัวอาจช่วยกันปรับลดค่าใช้จ่ายบางอย่างลง เพื่อให้มีสภาพคล่องทางการเงิน รวมถึงมีเงินสำรองเผื่อกรณีฉุกเฉินและค่ารักษาพยาบาลที่อาจเกิดขึ้น

 

  1. สำรวจสิทธิขั้นพื้นฐานที่มีอยู่

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการได้รับการรักษาพยาบาลในคลินิกหรือโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำทำให้ได้รับความสะดวกสบายที่มากขึ้น แต่ก็แลกมาด้วยค่ารักษาพยาบาลที่สูงขึ้น ซึ่งหากพูดคุยกันในครอบครัวแล้วพบว่า สมาชิกในครอบครัวไม่สามารถรองรับค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นในการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชน และไม่สามารถโอนย้ายความเสี่ยงด้วยการทำประกันสุขภาพให้คุณพ่อคุณแม่ได้ จึงควรเตรียมพร้อมด้วยการตรวจสอบสิทธิค่ารักษาพื้นฐานที่มี ซึ่งคนไทยจะได้รับความคุ้มครองสิทธิรักษาพยาบาลจากรัฐบาล 3 ระบบหลักด้วยกัน* คือ (1) สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ (2) สิทธิประกันสังคม และ (3) สิทธิหลักประกันสุขภาพ 30 บาท

 

ทั้งนี้ ควรตรวจสอบว่าคุณพ่อคุณแม่ซึ่งอยู่ในวัยเกษียณ ท่านอยู่ในเกณฑ์ที่ได้รับสิทธิใด เช่น ข้าราชการบำนาญยังคงมีสิทธิได้รับสวัสดิการค่ารักษาอยู่ ส่วนพนักงานบริษัทเอกชน เมื่อลาออกหรือเกษียณอายุ สามารถเลือกได้ว่าจะคงสิทธิรักษาพยาบาลของประกันสังคมด้วยการสมัครเป็นผู้ประกันตนภาคสมัครใจตามมาตรา 39 หรือลาออกจากการเป็นสมาชิกประกันสังคมภาคบังคับตามมาตรา 33 แล้วใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพ 30 บาท ซึ่งจะเหมือนกับบุคคลทั่วไป สัญชาติไทย ที่มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก และไม่มีสวัสดิการด้านรักษาพยาบาลอื่นใดที่รัฐจัดให้ จะมีสิทธิเข้ารับการรักษาพยาบาลหลักประกันสุขภาพ 30 บาท นอกจากนี้ควรตรวจสอบว่าสิทธิที่คุณพ่อคุณแม่ได้รับ มีเงื่อนไขหรือข้อยกเว้นการรักษาโรคใดบ้าง เพราะอาจมีบางส่วนที่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง

 

  1. แยกบัญชีเงินเก็บเพื่อค่ารักษาพยาบาลของคุณพ่อคุณแม่

แนะนำให้ลูกๆ จัดสรรเงินเพิ่มอีกส่วนหนึ่ง แยกจากเงินสำรองฉุกเฉินของตนเอง (โดยทั่วไป คนเราควรมีเงินสำรองอย่างน้อย 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายที่จำเป็นและภาระหนี้สินต่อเดือน) โดยเงินเก็บเพื่อค่ารักษาพยาบาลอาจระบุเป็นจำนวนเงินที่แน่นอนได้ค่อนข้างยาก แต่ก็ควรเตรียมความพร้อมไว้ก่อน อาจประเมินจากค่ารักษาพยาบาลเฉลี่ยที่ผ่านมา เช่น ก่อนเกษียณท่านเคยใช้สวัสดิการจากที่ทำงานปีละ 30,000 บาท ก็อาจจะเก็บเงินสำรองส่วนนี้ไว้อย่างน้อยปีละ 30,000 บาทและควรวางแผนเก็บเงินสำรองเพิ่มขึ้นทุกปี ตามอัตราค่ารักษาพยาบาลที่มีแนวโน้มสูงขึ้น (ปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อของค่ารักษาพยาบาลเฉลี่ยอยู่ที่ 6-8% ต่อปี) นอกจากนี้ ควรประเมินดูว่า โรคประจำตัวของท่านหรือโรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ มีค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาประมาณเท่าไร ก็ควรเก็บเงินสำรองเพิ่มเติมจากส่วนที่ไม่สามารถใช้สิทธิพื้นฐานได้

 

ในการเริ่มต้นเก็บเงิน หากมีเงินก้อนจากแหล่งอื่นอยู่แล้ว ก็อาจแบ่งเงินบางส่วนกันออกมาหรือใช้วิธีการทยอยสะสมทุกเดือนก็ได้ (ขึ้นอยู่กับการกำหนดงบประมาณ) โดยแนะนำให้เก็บเงินไว้ในสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง สามารถนำออกมาใช้ในกรณีที่คุณพ่อคุณแม่เจ็บป่วยได้ทันที เช่น บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ หรือกองทุนรวมตลาดเงิน

 

การที่ได้เตรียมพร้อมรับมือและมีการจัดสรรเงินไว้อย่างมีวินัยตั้งแต่ต้นหากเกิดเหตุการณ์ที่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลจำนวนมากขึ้นมาจริงๆ หรือหากมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากการใช้สิทธิหลักประกันพื้นฐานในการรักษา เงินสำรองส่วนนี้จะสามารถช่วยแบ่งเบาภาระ ไม่ให้กระทบต่อความมั่งคั่งโดยรวมของสมาชิกในครอบครัวมากนัก และไม่ส่งผลกระทบต่อแผนการเงินในด้านอื่นๆ ที่วางไว้

 

การวางแผนการเงินส่วนบุคคล โดยคำนึงถึงความเสี่ยงของบุคคลที่อยู่ในอุปการะควบคู่ไปด้วย เป็นเรื่องที่จำเป็นเนื่องจากการเจ็บป่วยหรือเหตุการณ์ฉุกเฉินของคนใดคนหนึ่ง สามารถส่งผลกระทบต่อสถานะการเงินของสมาชิกในครอบครัวคนอื่นๆ ได้ และนอกเหนือจากการที่ลูกๆ ช่วยบริหารจัดการเรื่องค่ารักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ให้กับคุณพ่อคุณแม่ในวันที่ท่านเกษียณอายุแล้ว ก็อย่าลืมหมั่นดูแลรักษาสุขภาพร่างกายและจิตใจให้กันอย่างสม่ำเสมอ เพราะสุดท้ายแล้ว “การวางแผนชีวิตตนเองและครอบครัวให้มีความสุข” ก็มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่า “การวางแผนการเงินให้ประสบความสำเร็จ” นั่นเอง

 

*สามารถตรวจสอบสิทธิค่ารักษาพยาบาลพื้นฐานได้ดังนี้

  • สิทธิสวัสดิการการรักษาพยาบาลของข้าราชการ https://mbdb.cgd.go.th/wel/
  • สิทธิประกันสังคม https://www.sso.go.th/wpr/main
  • สิทธิหลักประกันสุขภาพ 30 บาท https://www.nhso.go.th/FrontEnd/Index.aspx
ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th