logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: ลงทุน

เครื่องมือช่วยบริหารเงินลงทุนในยามที่หุ้นผันผวน

โดย พิชญา ซุ่นทรัพย์ นักวางแผนการเงิน CFP®

 

“การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน”  คำว่า ความเสี่ยง ในประโยคนี้หมายถึง ความผันผวนของของราคาสินทรัพย์ที่นักลงทุนเลือกนำเงินไปลงทุน ไม่ว่าจะเป็น หุ้น อสังหาริมทรัพย์ หรือ ตราสารหนี้ ในปัจจุบันเรามีเครื่องมืออะไรบ้างที่พอจะช่วยลดความผันผวน เช่น เราคาดว่าในอนาคตราคาสินทรัพย์มีโอกาสปรับตัวลดลง เราควรเลือกใช้เครื่องมืออะไร เพื่อช่วยป้องกัน หรือ ลดการขาดทุนจากเหตุการณ์ดังกล่าว บทความนี้จะช่วยให้ผู้อ่านมีทางเลือกในการบริหารความเสี่ยง และสามารถเลือกใช้กลยุทธ์การลงทุนได้อย่างเหมาะสม

 

โดยปกติทางเลือกที่เราเลือกใช้ในการรับมือกับการปรับตัวลดลงของราคาสินทรัพย์มีดังนี้

  1. ขายสินทรัพย์ออกไปแล้วถือเงินสด
  2. เปลี่ยนตัวเลือกในสินทรัพย์เดิม
  3. เปลี่ยนสินทรัพย์
  4. ไม่ทำอะไร

 

การเลือกใช้ทางเลือกทั้ง 4 เป็นเรื่องปกติที่ทุกคนสามารถทำได้ เช่น ทางเลือกที่ 1 เราอาจจะเลือกขายสินทรัพย์นั้นออกไปก่อนเพื่อถือเงินสด แล้วรอจังหวะซื้อกลับมาในวันที่ราคาลงต่ำกว่าที่ขายไป หรือ ทางเลือกที่ 2 ขายแล้วเอาเงินไปซื้อหลักทรัพย์ประเภทเดียวกันที่เป็นหลักทรัพย์ตัวอื่นที่มีแนวโน้มฟื้นตัวเร็วกว่า มั่นคงกว่า หรือ ทางเลือกที่ 3 คือ เปลี่ยนไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่น เช่น ขายกองทุนหุ้นไป ลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ อสังหาริมทรัพย์ หรือ ทองคำ เป็นต้น เพราะเชื่อว่าราคาสินทรัพย์แต่ละประเภทจะไม่เคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกัน หรือ หลายคนอาจเลือกที่จะถือต่อ รอจนกว่าราคาสินทรัพย์จะกลับมาที่เดิม โดยที่รู้ว่าเราอาจจะเสียโอกาสในการนำเงินดังกล่าวลงทุนในสินทรัพย์อื่นก็ตาม

 

อย่างไรก็ตาม เรายังมีทางเลือกโดยใช้เครื่องมือที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพื่อสามารถลดความเสียหายและยังอาจสร้างผลตอบแทนเพิ่มเติมให้กับเราได้ ดังนี้

  1. การขายชอร์ต (Short Selling)
    หากเราคาดว่า หลักทรัพย์นั้นจะมีราคาลดลงในอนาคต เราสามารถยืมหลักทรัพย์จากโบรกเกอร์มาขายออกไปก่อน โดยที่ไม่ต้องมีหลักทรัพย์นั้นอยู่ในมือ และหลังจากที่ราคาหลักทรัพย์ลงไปจริงตามที่เราคาด ให้เราทำการซื้อหลักทรัพย์ดังกล่าวมาคืนให้กับโบรกเกอร์ เราจะได้กำไรจากส่วนต่างระหว่างราคาที่เราขายกับราคาที่เราซื้อคืน หักต้นทุนต่างๆ ที่เกิดขึ้น

    ทั้งนี้ในระหว่างการยืมหุ้นสถานะเราถือเป็นลูกหนี้ จึงมีภาระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นมา ยิ่งยืมนานก็จะเสียดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นตามระยะเวลา นอกจากนี้ยังมีค่าคอมมิชชั่นและค่าดำเนินการต่างๆ ดังนั้น ก่อนการขายชอร์ตจะต้องประเมินให้คุ้มค่ากับต้นทุนด้วย
     
  2. อนุพันธ์ (Derivatives)
    เป็นเครื่องมือที่สามารถใช้ตกลงซื้อ/ขาย หรือ ให้สิทธิในการซื้อ/ขายสินค้าอ้างอิงในอนาคต ข้อดี คือ เราสามารถลงทุนโดยวางเงินเป็นหลักประกันเพียง 10-15% ของมูลค่าทรัพย์สินอ้างอิง ทำให้มีโอกาสได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น

    อนุพันธ์มี 2 ประเภท ได้แก่ Futures (สัญญาซื้อขายล่วงหน้า) และ Options (สิทธิในการซื้อหรือสิทธิในการขาย)
    1. ฟิวเจอร์ (Futures)
      หากเราคาดว่าราคาหลักทรัพย์ในอนาคตจะขึ้นหรือลง เราสามารถทำ “สัญญาล่วงหน้า” ไว้ว่าเราจะซื้อหรือขายสินค้าอ้างอิง จำนวนกี่หน่วย ที่ราคาเท่าใด และจะส่งมอบและชำระราคากันเมื่อใด สัญญาล่วงหน้าชนิดนี้เราเรียกว่า “ฟิวเจอร์” เช่น หากเราคาดว่าดัชนีราคาหุ้นจะลงไปต่ำกว่าราคาปัจจุบันในช่วงสามเดือนข้างหน้า เราสามารถ “ขายฟิวเจอร์” หรือทำสัญญาขายล่วงหน้าที่ราคาปัจจุบัน เมื่อดัชนีราคาหุ้นอ้างอิงลดลงจริงตามคาดเราจะได้กำไร
    2. ออปชั่น (Options)
      ออปชั่นมีข้อได้เปรียบมากกว่าฟิวเจอร์ตรงที่ ออปชั่นเป็น “สิทธิ์” ในการซื้อ (Call option) หรือ “สิทธิ์” ในการขาย (Put option) ล่วงหน้า เช่น เมื่อครบกำหนดวันส่งมอบ ผู้ลงทุนที่มีสถานะ ซื้อ put option (มีสิทธิที่จะสามารถขายสินทรัพย์อ้างอิง) จะมีสิทธิเลือกว่าจะใช้สิทธิ์ขายสินทรัพย์อ้างอิงในราคาที่กำหนดหรือไม่ ซึ่งพิจารณาจากราคาสินทรัพย์ ถ้าราคาจริงลดลงต่ำกว่าราคาใช้สิทธิ ผู้ซื้อจะเลือกใช้สิทธิ์ขาย และผู้ที่มีสถานะขาย put option มีหน้าที่ต้องชำระราคาตามที่ตกลงไว้ แต่ถ้าราคาสินทรัพย์อ้างอิงปรับเพิ่มขึ้นสูงกว่าราคาใช้สิทธิ ผู้ที่ซื้อ put option จะเลือกไม่ใช้สิทธิและปล่อยให้สัญญาหมดอายุ ทั้งนี้สิทธิดังกล่าวย่อมมีต้นทุนเช่นกัน ต้นทุนของผู้ซื้อออปชั่นนั้นเราจะเรียกว่าค่าพรีเมี่ยม (Premium)

สรุปคือ หากคาดว่าราคาสินทรัพย์จะลดลง สามารถพิจารณาซื้อ put option เพื่อให้ได้รับกำไรหากราคาลดลง แต่หากราคากลับเคลื่อนไหวตรงข้าม เราสามารถเลือกไม่ใช้สิทธิ์ โดยที่เราจะเสียต้นทุนคือค่าพรีเมียมเท่านั้น

นอกจากนี้ยังมีกลยุทธ์การลงทุนในออปชั่นอีกมากที่เหมาะสำหรับตลาดขาลง ผู้ที่สนใจควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมจาก https://elearning.set.or.th/SETGroup/categories/4

 

การลงทุนในอนุพันธ์ แม้จะมีประโยชน์ในเรื่องการป้องกันความเสี่ยง และสามารถทำผลตอบแทนในตลาดขาลงได้ แต่หากผู้ลงทุนคาดการณ์ทิศทางตลาดผิด จะมีโอกาสขาดทุนและถูกเรียกให้วางเงินประกันเพิ่ม ไปจนกระทั่งถูกบังคับขายได้เช่นกัน ดังนั้นผู้ลงทุนควรพิจารณาระดับเงินประกันที่วางไว้ให้เหมาะสมกับกลยุทธ์ที่ใช้และภาวะตลาดขณะนั้นด้วย

 

  1. ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (Derivative Warrant)
    ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ เป็นตราสารที่ผู้ออกจะให้สิทธิแก่ผู้ถือในการซื้อ หรือขายหุ้นอ้างอิงตามราคาใช้สิทธิ (Exercise Price) ในวันที่ครบอายุ สิทธิในการซื้อ จะเรียกว่า Call DW และสิทธิในการขาย เรียกว่า Put DW ดังนั้นหากผู้ลงทุนมีมุมมองว่าราคาของทรัพย์สินจะปรับตัวลดลง ให้ซื้อ Put DW ราคาของ Put DW จะเคลื่อนไหวตรงข้ามกับหลักทรัพย์อ้างอิง หากท้ายที่สุดราคาของสินทรัพย์ปรับขึ้น เราก็จะขาดทุน ทั้งนี้จะขาดทุนสูงสุดไม่เกินกว่ามูลค่าของ Put DW ที่ซื้อไว้เท่านั้น

 

เราได้เห็นกันไปแล้วนะครับว่ามีวิธีการและเครื่องมือที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการลงทุนในช่วงจังหวะตลาดขาลงได้ แต่ก็อย่าลืมนะครับว่า เหรียญมีสองด้านเสมอ ดังนั้นก่อนเลือกใช้เครื่องมือเหล่านี้ เราควรมีแผนสำรองอย่างแผนการปิดสถานะ และการเตรียมสภาพคล่องไว้สำหรับรองรับกับเหตุการณ์ที่ไม่เป็นไปตามคาดด้วย

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th