บทความ: ลงทุน
คำถามของนักลงทุนหน้าใหม่ - คิดกำไรขาดทุนอย่างไร
โดย มนวิภา อาวิพันธุ์ นักวางแผนการเงิน CFP®
จากการที่ผู้เขียนได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเจ้าหน้าที่ที่ดูแลบัญชีหรือมาร์เก็ตติ้ง พบว่าหนึ่งในคำถามที่นักลงทุนที่เพิ่งเริ่มเข้ามาในตลาดมักจะสงสัย คือ เล่นหุ้นแล้วได้กำไรเท่าไหร่ คิดกำไรอย่างไร ผู้เขียนจะขออธิบายโดยใช้ตัวอย่าง และเพื่อความเข้าใจเราจะสมมุติว่าราคาที่ซื้อขายเป็นราคาที่หักลบค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมแล้วนะคะ
ถ้าถามว่าซื้อหุ้นในราคา 80 บาท แล้วขายในราคา 100 บาท จะได้กำไรกี่เปอร์เซ็นต์ แน่ละได้กำไร 20 บาท แต่เท่ากับกี่เปอร์เซ็นต์ล่ะ ในส่วนนี้มีวิธีคิดสองวิธี คือ คิดกำไรจากการลงทุน และคิดกำไรจากการขาย
- วิธีคิดกำไรจากการลงทุน คือ เปอร์เซ็นต์กำไรจะเท่ากับกำไรที่ได้รับหารด้วยเงินที่ได้ลงทุนไป
การคิดวิธีนี้จะได้กำไรเท่ากับ 20/80 หรือ 25% - วิธีคิดกำไรจากการขาย คือ เปอร์เซ็นต์กำไรจะเท่ากับกำไรที่ได้รับหารด้วยเงินที่ได้จากการขาย
การคิดวิธีนี้จะได้กำไรเท่ากับ 20/100 หรือ 20%
ในฐานะที่เป็นนักลงทุน เราจะใช้วิธีแรกคือได้กำไรจากการลงทุน 25%
ถ้าจำนวนหุ้นที่ซื้อกับจำนวนหุ้นที่ขายเท่ากัน นักลงทุนสามารถนำเงินที่ได้จากการขายลบเงินที่จ่ายไปตอนซื้อหุ้น ได้กำไรเป็นบาทแล้วนำไปหาเป็นเปอร์เซ็นต์ได้เลย แต่ถ้าจำนวนหุ้นที่มีกับจำนวนหุ้นที่ขายไม่เท่ากัน มีการทยอยซื้อ มีการแบ่งขาย การคิดกำไรขาดทุนจะมีขั้นตอนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
โดยทั่วไปเมื่อมีการซื้อหุ้น ระบบของตลาดหลักทรัพย์จะแสดงราคาต้นทุนที่เป็นต้นทุนเฉลี่ย โดยคิดว่าต้นทุนเฉลี่ยของหุ้นตัวใดตัวหนึ่งจะเท่ากับเงินที่จ่ายไปในการซื้อหุ้นตัวนั้นหารด้วยจำนวนหุ้นที่ซื้อมาได้ แต่เมื่อเราขายหุ้นออกไป ระบบจะทำการคิดกำไรโดยคิดว่าหุ้นที่ซื้อมาก่อนจะต้องถูกขายออกไปก่อน เราเรียกการคิดวิธีนี้ว่า คิดแบบซื้อก่อนขายก่อน หรือ First in first out ในส่วนนี้จะขออธิบายโดยใช้ตัวอย่าง การซื้อขายหุ้น XYZ ทั้งหมด 6 ครั้ง
- ครั้งที่ 1 ซื้อ 100 หุ้น ราคาหุ้นละ 80 บาท จ่ายเงิน 8,000 บาท
- ครั้งที่ 2 ซื้อ 100 หุ้น ราคาหุ้นละ 90 บาท จ่ายเงิน 9,000 บาท
- ครั้งที่ 3 ซื้อ 200 หุ้น ราคาหุ้นละ 100 บาท จ่ายเงิน 20,000 บาท
- ครั้งที่ 4 ขาย 300 หุ้น ราคาหุ้นละ 92 บาท รับเงิน 27,600 บาท
- ครั้งที่ 5 ซื้อ 400 หุ้น ราคาหุ้นละ 85 บาท จ่ายเงิน 34,000 บาท
- ครั้งที่ 6 ขาย 500 หุ้น ราคาหุ้นละ 90 บาท รับเงิน 45,000 บาท
การซื้อหุ้นครั้งแรก 100 หุ้น ราคาหุ้นละ 80 บาท จ่ายเงินไป 8,000 บาท เมื่อซื้อครั้งที่ 2 อีก 100 หุ้น ราคาหุ้นละ 90 บาท มีหุ้นรวมกัน 200 หุ้น จ่ายเงินเพิ่มอีก 9,000 บาท รวมกับเงินที่จ่ายเดิม 8,000 บาทเป็น 17,000 บาท คิดเป็นต้นทุนเฉลี่ยหุ้นละ 85 บาท
ซื้อครั้งที่ 1 | ซื้อครั้งที่ 2 | ต้นทุนเฉลี่ย | |
8,000 บาท | 9,000 บาท | 17,000 บาท | |
100 หุ้น | 100 หุ้น | 200 หุ้น | |
80 บาท | 90 บาท | 85 บาท |
ซื้อครั้งที่ 3 ซื้อเพิ่มอีก 200 หุ้นที่ราคา 100 บาท รวมกับของเดิมเป็น 400 หุ้น จ่ายเงินเพิ่มอีก 20,000 บาท ต้นทุนรวม 17,000 + 20000 = 37,000 บาท ต้นทุนเฉลี่ยเท่ากับ 92.50 บาทต่อหุ้น
ซื้อครั้งที่ 1 | ซื้อครั้งที่ 2 | ซื้อครั้งที่ 3 | ต้นทุนเฉลี่ย |
8,000 บาท | 9,000 บาท | 20,000 บาท | 37,000 บาท |
100 หุ้น | 100 หุ้น | 200 หุ้น | 400 หุ้น |
80 บาท | 90 บาท | 100 บาท | 92.5 บาท |
ตรงนี้จะสังเกตได้ว่า ถ้าราคาหุ้นที่ซื้อเข้ามาใหม่สูงกว่าต้นทุนเฉลี่ยเดิม ต้นทุนเฉลี่ยใหม่ก็จะสูงขึ้น แต่ถ้าราคาหุ้นที่ซื้อเข้ามาใหม่ต่ำกว่า ต้นทุนเฉลี่ยใหม่จะต่ำลงเช่นกัน
ในวันที่ราคาหุ้น XYZ ซื้อขายกันที่ 92 บาท ระบบจะแสดงว่าขาดทุน 200 บาท หรือ ขาดทุน 0.54% นั่นคือระบบจะคิดว่าถ้าขายหุ้นทั้งหมด 400 หุ้นที่มีในราคาหุ้นละ 92 บาท จะได้เงิน 36,800 บาท ซึ่งจะทำให้ขาดทุน 36,800 - 37,000 = -200 บาท ตัวเลขนี้เป็นเพียงตัวเลขที่จะทำให้ทราบสถานะของหุ้นในพอร์ตเท่านั้น ถ้ายังไม่มีการขายหุ้นออกไป ก็จะยังไม่มีผลกำไร/ขาดทุนแต่อย่างใด หรือที่เรียกว่ากำไร/ขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง
ถ้าขายหุ้นไป จำนวน 300 หุ้น ที่ราคา 92.00 บาท ได้เงินรวม 27,600 บาท จะกำไรหรือขาดทุน
พอถึงตรงนี้ ระบบจะคำนวณกำไรโดยคิดว่าขายหุ้น 300 หุ้นแรกที่ซื้อมาก่อนออกไปก่อน นั่นคือหุ้นที่ซื้อครั้งที่ 1 เท่ากับ 100 หุ้น หุ้นที่ซื้อครั้งที่ 2 เท่ากับ 100 หุ้น และอีก 100 หุ้น ของหุ้นที่ซื้อครั้งที่ 3 คิดเป็นต้นทุนที่ซื้อมา 8,000 , 9,000 และ 10,000 บาท ตามลำดับ รวมเป็น 27,000 บาท
การขายหุ้นในครั้งนี้จะได้กำไร เท่ากับ 27,600 - 27,000 เท่ากับ 600 บาท คิดเป็นกำไร 600/27,000 เท่ากับ 2.22%
เดิมมี 400 หุ้น เมื่อขาย 300 หุ้นไปแล้ว จะเหลือ 100 หุ้น ซึ่งเป็นหุ้นจากการซื้อครั้งที่ 3 ต้นทุนเท่ากับ 10,000 บาท หรือเฉลี่ยหุ้นละ 100 บาท ในวันที่หุ้น XYZ ซื้อขายกันที่หุ้นละ 92 บาท ระบบจะแสดงว่าขาดทุน = 9,200 - 10,000 = -800 บาท หรือ -8%
ต่อมาถ้าราคาหุ้นในตลาดปรับตัวลดลงเหลือ 85 บาท และนักลงทุนซื้อเข้ามาใหม่ 400 หุ้น โดยจ่ายเงินเพิ่ม 34,000 บาท จำนวนหุ้นในพอร์ตจะเพิ่มขึ้นเป็น 500 หุ้น ต้นทุนรวม 10,000 + 34,000 = 44,000 บาท ต้นทุนเฉลี่ยจะลดลงเหลือ 88 บาท ตรงนี้เองที่นักลงทุนบางท่านเรียกว่าซื้อถัว หรือซื้อเฉลี่ยให้ราคาเฉลี่ยต้นทุนที่ลดลง
ซื้อครั้งที่ 3 | ซื้อครั้งที่ 4 | ต้นทุนเฉลี่ย | |
10,000 บาท | 34,000 บาท | 44,000 บาท | |
100 หุ้น | 400 หุ้น | 500 หุ้น | |
100 บาท | 85 บาท | 88 บาท |
ถ้าขายหุ้นที่เหลือ 500 หุ้นนี้ ในราคา 90 บาท จะทำให้ได้กำไร 45,000 – 44,000 = 1,000 บาท หรือคิดเป็นกำไร 2.27% และไม่มีหุ้นเหลืออยู่ในพอร์ตเลย
ที่อธิบายมาทั้งหมดเป็นหลักการคิดกำไรขาดทุนสำหรับหุ้นเพียงตัวเดียว ถ้านักลงทุนมีหุ้นในพอร์ตหลายตัวให้แยกคิดทีละตัวโดยใช้วิธีคิดเดียวกันนี้ ทั้งนี้ ตัวเลขจริงอาจจะดูยากกว่าตัวอย่างเล็กน้อย เพราะนอกจากราคาหุ้นแล้วยังมีค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายที่เพิ่มเข้ามาทำให้เป็นตัวเลขที่ไม่เป็นจำนวนเต็ม แต่ทั้งนี้นักลงทุนมือใหม่ทั้งหลายไม่ต้องกังวล เราเข้าใจหลักการคิดไว้เพื่อเป็นแนวทางเบื้องต้น ส่วนการคำนวณต้นทุนระบบจะคำนวณและรายงานให้นักลงทุนเอง