บทความ: เกษียณ
เรือนเกษียณสุข
โดย ผาณิต เกิดโชคชัย นักวางแผนการเงิน CFP®
คุณนิรุตติ์ ศิริจรรยา นักแสดงวัย 72 ปี มีผลงานเป็นที่ชื่นชอบของผู้ชมเกือบ 50 ปี เป็นคนมีเสน่ห์ สุขุม และมีอารมณ์ขันได้ให้ทัศนะการใช้ชีวิตหลังอายุหกสิบในรายการชีวิตดี๊ดี Life’s so good ที่ไร่ทองจันทร์ ทำให้เห็นความสุขแบบง่ายๆ ที่ชอบและใช่ สมดุลทั้งสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและสังคมว่า “...เริ่มจากค้นหาตนเอง...อยู่เงียบๆ และลองอยู่คนเดียวให้ได้...จะได้รู้จักฝากตัวเองไว้กับตัวเองแล้วจะค้นหาตัวเราเองจริงๆ ...” การรู้จักอุปนิสัยและความต้องการที่แท้จริงจากวิถีชีวิตในปัจจุบันและที่ตั้งใจไว้ในอนาคตตามที่เป็นจริง จะช่วยให้สามารถทำได้จริง และสามารถจดจ่อกับความสุขเล็กๆ ที่ชื่นชอบในช่วงเวลาหนึ่ง และใช้เวลาที่เหลือทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์กับผู้อื่นและสังคมโดยรวม เป็นความสุขความภูมิใจที่ย้อนกลับมาสู่ตัวเอง
อยู่กินแบบไหนเรียกว่า “เกษียณสุข”
แต่ละคนต่างมีคำตอบ “ความสุขหลังเกษียณ” ที่ชอบและใช่แตกต่างกัน เพราะความต่างในเพศ อายุ การศึกษา อาชีพ สังคม สุขภาพกายและใจ ประสบการณ์ สติระลึกรู้จักตัวเอง ซึ่งที่อยู่หลังเกษียณเป็นปัจจัยสำคัญสนับสนุนให้เกิดผลตามที่หวัง มีงานวิจัยว่าด้วยความต้องการที่อยู่ของผู้เกษียณระบุว่า ผู้เกษียณส่วนใหญ่ต้องการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัย เพื่อความมั่นคง ปลอดภัยและอุ่นใจที่ได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ตอบโจทย์วิถีชีวิตตามที่ตนหวัง การเตรียมพร้อมเพื่อ “เรือนเกษียณสุข”ตั้งแต่เนิ่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความพร้อมด้านการเงินเป็นสิ่งที่ลงมือทำทันทีได้ด้วยตัวเอง
มี “เรือนเกษียณสุข” อะไรให้เลือกบ้าง
ในยุค “เบบี้บูม” (คนที่เกิดระหว่างปี พ.ศ. 2489 – 2507 หรือในยุคสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2) จากเดิม ครอบครัวไทยมีลักษณะเป็น “ครอบครัวใหญ่ประกอบด้วยสมาชิก 3 ช่วงวัย” คือ มีปู่ย่าตายาย พ่อแม่และลูกหลาน แต่ปัจจุบันโลกเปลี่ยน เร็ว รุนแรงและไร้ทิศทางทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ ค่านิยมทางสังคม ความต้องการเฉพาะที่หลากหลาย และไลฟ์สไตล์ในการดำเนินชีวิตที่ตั้งใจตั้งเป้าหมายไว้ ที่อยู่หลังเกษียณจึงมีให้เลือกมากเช่นกัน พอจะแบ่งเป็น 3 ทางเลือกหลักๆ ดังนี้
1) อยู่บ้านหลังเดิม
มีพื้นที่ใช้สอยกว้างขวาง มีหลายห้อง อาจเหมาะกับผู้เกษียณอายุที่ลูกหลานอยู่กันพร้อมหน้า เป็นครอบครัวใหญ่ แต่หากลูกๆ แยกครอบครัวไปมีที่อยู่ของตนเอง ผู้เกษียณอายุอาจต้องพิจาณาเหตุปัจจัยและความจำเป็นอื่นๆ ประกอบการอยู่บ้านหลังเดิม ซึ่งมีข้อดี คือ ผู้เกษียณอายุไม่ต้องปรับตัวมาก และยิ่งมีลูกหลานแวะเวียนมาดูแลบ่อยๆ ก็มีพื้นที่ให้ลูกหลานได้อยู่อย่างสุขสบาย แต่อาจมีภาระค่าใช้จ่ายดูแลบ้านทั้งภายในภายนอก ความปลอดภัยและความ เหมาะสมของประโยชน์ใช้สอยพื้นที่ในบ้าน เช่น บ้านสองชั้นที่ต้องขึ้นบันได ความกว้างของประตู ทางลาดและทางเดิน ห้องน้ำ ความสะดวกและรวดเร็วในการเดินทางไปสถานพยาบาลที่มีคุณภาพ อนึ่ง มีผู้เกษียณอายุจำนวนหนึ่งใช้วิธีแบ่งห้องให้ผู้ที่ไว้วางใจเช่าและดูแลกันแบบลูกหลานทำให้มีกิจกรรมและสังคม ไม่เหงา ขณะเดียวกันก็มีกระแสรายได้มาใช้จ่ายเพิ่มด้วย
2) ลดขนาดที่อยู่เดิมและหาที่อยู่ใหม่ที่สอดรับกับวิถีการใช้ชีวิต
ทางเลือกนี้อาจช่วยลดรายจ่ายประจำรายเดือนลงได้มาก โดยเฉพาะกรณีมีภาระผ่อนบ้านหลังเดิม ที่อยู่ที่เล็กลงของผู้เกษียณอายุที่มีแผนท่องเที่ยวไปในที่ต่างๆหรือมีกิจกรรมที่ต้องเดินทางบ่อยครั้ง การเลือกคอนโดในทำเลที่สะดวกต่อการเดินทาง ประหยัดทั้งเวลา ค่าเดินทาง ไม่ต้องกังวลเรื่องความปลอดภัยในทรัพย์สิน และช่วยให้มีเงินเหลือไปใช้ในส่วนที่จำเป็นอื่นหรือความต้องการเฉพาะอื่นๆได้อย่างสบายใจ เช่น กินข้าวนอกบ้าน สังสรรกับเพื่อนสนิท สะสมบุญด้วยการบริจาค ดูแลสุขภาพหรือแม้แต่เก็บไว้ให้ลูกหลาน
3) อยู่ในชุมชนหรือสถานดูแลผู้เกษียณอายุโดยเฉพาะ
ปัจจุบันมุมมองผู้สูงอายุที่อยู่ในสถานที่ดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง จากเป็นผู้ที่ถูกทอดทิ้ง เป็นผู้ที่พึ่งพาตนเองรักชีวิตอิสระ ประเทศไทยเริ่มมีธุรกิจให้บริการดูแลผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นมาก มีบริการทั้งผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงและผู้ที่ต้องการคนดูแลใกล้ชิด ในประเทศที่มีสวัสดิการสังคมที่ดี คนเริ่มมองหาที่อยู่หลังเกษียณนอกประเทศ (retiring overseas) ทั้งอยู่กันเป็นชุมชนใช้ภาษาเดียวกัน จัดสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมที่ตนคุ้นเคย และอยู่กระจายตัวกลมกลืนไปกับคนในท้องถิ่น ทั้งนี้ เพื่อใช้ชีวิตที่เหลืออยู่อย่างมีคุณภาพภายใต้เงินสวัสดิการที่ได้รับจากประเทศแม่ (home country) ซึ่งไทยเองก็ติดอันดับต้นๆ ประเทศปลายทางที่ต่างชาตินิยมใช้ชีวิตหลังเกษียณ เพราะค่าครองชีพไม่สูง อากาศดีทั้งปี มีบริการรักษาพยาบาลที่มีมาตรฐานสูงแต่ราคาย่อมเยาเมื่อเทียบกับบริการในประเทศของตน
เป็นที่คาดการณ์ว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า โลกจะมีประชากรที่อายุเกิน 65 ปีจะเพิ่มจาก 7% เป็น 14% หรือเป็น 1,300 ล้านคนและกลุ่มคนที่จะมีอัตราการเพิ่มขึ้นเร็วที่สุดคือ คนที่อายุ 80 ปี คำถามคือ เมื่อถึงช่วงเวลานั้นจะเกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทยและกับตัวเรา และ ณ วันนี้ท่านที่มีอายุขึ้นเลขสี่ ท่านได้เตรียมตัวสำหรับ “เรือนเกษียณสุข” ไว้มากน้อยเพียงใด