logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: ประกันภัย

มีเงินน้อยก็ทำประกันชีวิตได้

โดย สุมิตรา อภิรัตน์ นักวางแผนการเงิน CFP®

 

เมื่อกล่าวถึงการทำประกันชีวิต คนส่วนใหญ่มักคิดว่าต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันที่สูง จึงมองเป็นข้อจำกัดและทำให้ไม่อยากทำประกันชีวิต เหตุผลที่ทำให้หลายคนมองว่าประกันชีวิตมีค่าเบี้ยที่สูง อาจเป็นเพราะคุ้นเคยแต่ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ ซึ่งเป็นแบบประกันยอดนิยม หรือเมื่อจะทำประกันชีวิตก็อยากได้เงินคืนเร็วๆ ครบสัญญาไวๆ ตัวแทนหรือคนขายประกันจึงนำเสนอแต่ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ เพื่อให้มีโอกาสขายได้มากขึ้น ทั้งนี้ ประกันชีวิตมีหลายแบบด้วยกัน และมีค่าเบี้ยประกันที่แตกต่างกัน ซึ่งประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ จัดว่าเป็นแบบประกันที่มีค่าเบี้ยค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประกันชีวิตแบบอื่นๆ ดังนั้น ก่อนตัดสินใจทำประกันเพื่อสร้างความคุ้มครองและความมั่นคงให้กับตัวเองและครอบครัว ขอแนะนำให้ทำความรู้จักประกันชีวิตแต่ละแบบ ซึ่งมีจุดเด่นและข้อจำกัดที่แตกต่างกัน เพื่อเลือกแบบประกันชีวิตได้อย่างเหมาะสม

 

ประกันชีวิตแบบพื้นฐาน สามารถแบ่งออกเป็น4แบบ ดังนี้

  1. แบบชั่วระยะเวลา เป็นประกันชีวิตที่เน้นความคุ้มครองเป็นช่วงระยะเวลา เช่น 1 ปี 5 ปี 10 ปี หรือ 20 ปี โดยไม่มีเงินคืนระหว่างสัญญาจะได้รับเงินคืนเมื่อเสียชีวิตในระยะเวลาคุ้มครอง จุดเด่นคือให้ความคุ้มครองชีวิตสูง ซึ่งเบี้ยประกันจะถูกที่สุดเมื่อเทียบกับประกันชีวิตแบบอื่นๆ เหมาะกับผู้ที่มีภาระเยอะต้องการความคุ้มครองสูงและจ่ายเบี้ยประกันถูก ข้อจำกัดคือไม่ได้รับเงินคืนเมื่อมีชีวิตอยู่จนครบสัญญา
  2. แบบตลอดชีพ เป็นประกันชีวิตที่คุ้มครองยาวถึงอายุมากๆ เช่น อายุ 80 ปี 90 ปี หรือ 99 ปี จะได้รับเงินคืนเมื่อเสียชีวิต หรือมีชีวิตอยู่จนครบสัญญาตอนอายุ 80 ปี 90 ปี หรือ 99 ปี ตามที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์เหมาะกับการสร้างมรดกให้ลูกหลาน จุดเด่นคือ ให้ความคุ้มครองชีวิตสูงทั้งนี้ เบี้ยประกันจะสูงกว่าแบบชั่วระยะเวลา เพราะได้รับเงินคืนทั้งกรณีที่เสียชีวิต หรือมีชีวิตอยู่จนครบสัญญา ข้อจำกัดคือจะได้รับเงินคืนต้องรอครบสัญญา มักกำหนดไว้ที่อายุ 80 ปีขึ้นไป
  3. แบบสะสมทรัพย์ เป็นประกันชีวิตที่เน้นได้รับเงินก้อนเมื่อครบสัญญา และส่วนใหญ่มีเงินคืนระหว่างสัญญาให้ด้วยซึ่งความคุ้มครองจะไม่สูง เหมาะกับผู้ที่ต้องการเก็บเงินเพื่อใช้ในระยะเวลา 10 ปี หรือ 20 ปี จุดเด่นคือเป็นการเก็บเงินร่วมไปกับการทำประกันชีวิต ข้อจำกัดคือเบี้ยประกันสูงเพราะมีการคืนเงินระหว่างสัญญา
  4. แบบบำนาญหรือแบบเงินได้ประจำ เป็นประกันชีวิตที่ได้รับเงินบำนาญหรือเงินได้ประจำตอนอายุเกษียณเมื่ออายุ 55 ปี หรือ 60 ปี ไปจนถึงอายุที่กำหนดไว้ เช่น อายุ 85 ปี หรือ 90 ปี จุดเด่นคือเหมาะกับผู้ที่ต้องการมีเงินเพื่อใช้จ่ายสม่ำเสมอ เสมือนยังมีรายได้ประจำในช่วงวัยเกษียณ ข้อจำกัดคือต้องรอจนถึงวัยเกษียณจึงจะเริ่มได้รับเงินบำนาญจากประกัน

ปัจจุบันมีประกันชีวิตแบบใหม่ที่เพิ่มขึ้นมา คือ ประกันชีวิตควบการลงทุนหรือยูนิตลิงค์ (Unit Linked) เป็นประกันชีวิตที่มีทั้งความคุ้มครองชีวิตและการลงทุนจากกองทุนรวมในกรมธรรม์ฉบับเดียวกัน โดยเบี้ยประกันที่เราจ่ายไปนั้นจะแบ่งไปเป็นความคุ้มครองชีวิต และค่าธรรมเนียมต่างๆ ส่วนที่เหลือของเบี้ยประกันจะนำไปลงทุนผ่านกองทุนรวม พื้นฐานของกรมธรรม์แบบนี้จะเป็นแบบตลอดชีพคุ้มครองถึงอายุ 99 ปี ซึ่งมีความยืดหยุ่นที่สามารถเลือกทุนประกันชีวิตเองได้ว่าจะเป็นจำนวนกี่เท่าของค่าเบี้ยประกัน และสามารถเลือกว่าจะจ่ายเบี้ยประกันกี่ปี ถ้าปีใดเราไม่ได้จ่ายเบี้ยประกัน บริษัทประกันจะขายกองทุนบางส่วนมาจ่ายค่าธรรมเนียมต่างๆ ของกรมธรรม์ เพื่อทำให้กรมธรรม์ยังมีความคุ้มครองต่อ ดังนั้น กรมธรรม์แบบนี้เหมาะกับผู้ที่สามารถรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้ จุดเด่นคือ มีโอกาสได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนในกองทุนรวม แต่ข้อจำกัดคือไม่ได้การันตีผลตอบแทนที่แน่นอน

 

ขอยกตัวอย่างเปรียบเทียบความคุ้มครองของประกันชีวิตแต่ละแบบ ที่มีระยะเวลาจ่ายเบี้ยเท่ากันอยู่ที่ 10 ปี โดยใช้ตัวอย่าง ผู้ทำประกันอายุ 35 ปี มีรายได้ปีละ 500,000 บาท แบ่งเงิน 10% มาทำประกันชีวิต คือจ่ายเบี้ยประกันปีละ 50,000 บาท ความคุ้มครองที่ได้รับจากประกันชีวิตแต่ละแบบเป็นดังนี้

 

ประกันชีวิต

ระยะเวลาจ่ายเบี้ยประกัน

ระยะเวลาคุ้มครอง

วงเงินคุ้มครองโดยประมาณ

แบบชั่วระยะเวลา 10/10

10 ปี

10 ปี

10,000,000 บาท

แบบตลอดชีพ 90/10

10 ปี

คุ้มครองถึงอายุ 90 ปี

1,000,000 บาท

แบบสะสมทรัพย์ 15/10

10 ปี

15 ปี

150,000 บาท

แบบบำนาญ 85/10

10 ปี

คุ้มครองถึงอายุ 85 ปี

200,000 บาท

แบบยูนิตลิงค์ 99/99

99 ปีหรือน้อยกว่า

คุ้มครองถึงอายุ 99 ปี

250,000 - 5,000,000 บาท

 

จะเห็นได้ว่า ประกันชีวิตมีหลายแบบ อยู่ที่วัตถุประสงค์ในการทำประกัน ต้องการเน้นความคุ้มครองหรือเน้นการสะสมเงิน หรือเน้นรายได้ประจำหลังเกษียณ โดยหากต้องการทำประกันชีวิตเพื่อเน้นสร้างความคุ้มครองให้กับครอบครัว แต่งบประมาณจำกัดสามารถเลือกทำประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา แต่หากมีกำลังเพียงพอที่จะจ่ายเบี้ยประกันได้มากขึ้น สามารถเลือกทำประกันชีวิตแบบตลอดชีพซึ่งมีระยะเวลาคุ้มครองที่นานขึ้นและเมื่อมีรายได้มากขึ้น หรือมีกำลังทรัพย์มากพอ สามารถเลือกทำประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ เพื่อรับเงินก้อนเมื่อครบสัญญา หรือทำประกันชีวิตแบบบำนาญเพื่อสร้างรายได้หลังเกษียณ ซึ่งแบบสะสมทรัพย์ และบำนาญ ไม่ได้เน้นความคุ้มครอง แต่เน้นการได้รับเงินเพื่อใช้จ่ายในอนาคต หรือถ้าชอบการลงทุนผ่านกองทุนรวมและรับความเสี่ยงได้ สามารถเลือกทำประกันยูนิตลิงค์ โดยเลือกทุนประกันให้เหมาะสมกับตัวเอง

 

นอกจากนี้เมื่อเรามีประกันชีวิตแล้ว เราสามารถเพิ่มความคุ้มครองด้วยสัญญาเพิ่มเติม ยกตัวอย่างเช่น ประกันอุบัติเหตุ ประกันทุพพลภาพ ประกันโรคร้ายแรง ประกันค่ารักษาพยาบาล ซึ่งสัญญาเพิ่มเติมเราสามารถเลือกได้ว่าจะให้คุ้มครองเป็นระยะเวลากี่ปี หรือเท่ากับสัญญาหลักเลยก็ได้ โดยเบี้ยประกันที่จ่ายเพิ่มขึ้นในส่วนของสัญญาเพิ่มเติมจะให้ความคุ้มครองเพียงอย่างเดียว มักไม่มีเงินคืนให้ แม้ว่าจะไม่ได้เบิกเคลมจากประกันเลยก็ตาม แต่ทำเพื่อให้เรามีความคุ้มครองครบตามความต้องการหรือลดความเสี่ยงในการจ่ายเงินก้อนใหญ่สำหรับค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้น

 

การทำประกันชีวิตเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการวางแผนการเงินเพราะเป็นการปกป้องความมั่งคั่งของเราและครอบครัวหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันซึ่งประกันชีวิตจะมาช่วยแบ่งเบาภาระที่เกิดขึ้น ทำให้เงินเก็บและความมั่งคั่งของเรายังคงมีต่อไป สิ่งสำคัญคือ ตัดสินใจทำประกันชีวิตได้ตรงตามเป้าหมายและความสามารถในการชำระเบี้ยประกันถึงแม้มีเงินน้อยก็ทำประกันชีวิตได้ค่ะ

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th