บทความ: เกษียณ
9 แนวทางหารายได้ของคนวัยเกษียณ
โดย คุณธชธร สมใจวงษ์ นักวางแผนการเงิน CFP®
ปัญหาของคนส่วนใหญ่ คือการเตรียมเงินไว้ไม่เพียงพอสำหรับการใช้ชีวิตในช่วงหลังเกษียณ จากผลการสำรวจของสถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยพบว่า 62% ของคนทำงานในระบบที่มีอายุระหว่าง 40-60 ปี ในเขตกรุงเทพและปริมณฑล วางแผนการออมเงินสำหรับใช้ในวัยเกษียณผิดพลาด การทำธุรกิจที่มีความเสี่ยงต่ำ การหารายได้เพิ่ม ในช่วงวัยเกษียณจึงมีส่วนสำคัญในการช่วยบรรเทาปัญหาดังกล่าว
KFC และ McDonald เชนฟาสต์ฟู้ดส์ที่ใหญ่ระดับโลกทั้งสองแบรนด์ มีสิ่งที่เหมือนกันคือ ธุรกิจทั้งสองเริ่มต้นในขณะที่ผู้ก่อตั้งมีอายุ 62 ปี และมีคนวัยเกษียณก่อตั้งอีกหลายธุรกิจและตั้งใจทำจนประสบความสำเร็จ จึงไม่มีคำว่าสายสำหรับการเริ่มต้นที่ดี
การหาโอกาสสร้างรายได้จากสิ่งที่ถนัดจะเป็นแต้มต่อที่สำคัญในการเพิ่มโอกาสของความสำเร็จ คนเราทุกคนมีความสามารถและความถนัดในบางสาขาอาชีพเป็นพิเศษ ในทฤษฎีพหุปัญญา (Multiple Intelligence) ของ Professor Howard Gardner ได้จำแนกปัญญาซึ่งส่งผลต่อความถนัดในสายอาชีพเป็น 9 แนวทาง ซึ่งคนวัยเกษียณสามารถนำมาสำรวจและค้นหาความถนัดทางสายอาชีพของตนเองได้ โดยมีรายละเอียดดังนี้
- ปัญญาด้านภาษา (Linguistic Intelligence) มีความถนัดในการใช้และการเรียบเรียงภาษาได้อย่างสละสลวย อาชีพที่มีสามารถพิจารณา ได้แก่ นักแปล ล่าม นักเขียน นักพูด นักเล่านิทาน นักหนังสือพิมพ์ ครูสอนภาษา
- ปัญญาด้านตรรกะและคณิตศาสตร์ (Logical-mathematical Intelligence) มีความเชี่ยวชาญถนัดทางด้านการคำนวณ การแก้ปัญหา สนใจเรื่องความก้าวหน้าทางวิทยาการต่างๆ อาชีพหรือแนวทางการหารายได้คือ นักบัญชี นักคณิตศาสตร์ นักตรรกศาสตร์ โปรแกรมเมอร์ นักวิทยาศาสตร์ ครู-อาจารย์ รวมถึงการนำความรู้ความเชี่ยวชาญเหล่านี้ในการเป็นที่ปรึกษา
- ปัญญาด้านมิติสัมพันธ์ (Spatial Intelligence) ความสามารถทางศิลปะ การวาดเขียน การจัดองค์ประกอบทางศิลป์ อาชีพที่เหมาะสมคืองานเกี่ยวกับการทำศิลปะ ภาพเขียน การถ่ายภาพ การออกแบบตกแต่งภายใน ซึ่งในปัจจุบันสามารถใช้ช่องทางการจัดจำหน่ายทางอินเตอร์เน็ต เว็บไซต์ที่ให้บริการมากมาย
- ปัญญาด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว (Bodily-kinesthetic Intelligence) มีความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อ ควบคุมการเคลื่อนไหวส่วนต่างๆ ของร่างกายเป็นอย่างดี อาชีพที่เกี่ยวข้องคือ ครูสอนกีฬา นักแสดง นักกีฬา นาฏกร นักฟ้อนรำ นักประดิษฐ์ นักปั้น ช่างซ่อมเครื่องจักร ศัลยแพทย์
- ปัญญาด้านดนตรี (Musical Intelligence) สามารถในการแยกแยะระดับเสียง ท่วงทำนอง จังหวะ การเข้าใจอารมณ์ของเพลง อาชีพที่เหมาะสมคือ นักดนตรี นักร้อง ขับร้องประสานเสียง นักแต่งเพลง นักวิจารณ์ดนตรี
- ปัญญาด้านมนุษย์สัมพันธ์ (Interpersonal Intelligence) มีความเข้าอกเข้าใจ การสร้างและบริหารความสัมพันธ์กับผู้อื่น อาชีพที่เหมาะสมคือ นักบริหาร นักขาย ผู้จัดการ นักธุรกิจ นักการตลาด นักประชาสัมพันธ์ ครู - อาจารย์
- ปัญญาด้านความเข้าใจตนเอง (Intrapersonal Intelligence) มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในความต้องการและเป้าหมายของตนเอง อาชีพที่เหมาะสมคือ เจ้าของกิจการ เป็นนายจ้างของตัวเอง นักคิด นักเขียน นักบวช นักปรัชญา นักจิตวิทยา
- ปัญญาด้านธรรมชาติวิทยา (Naturalist Intelligence) มีความสนใจเกี่ยวกับธรรมชาติและสิ่งมีชีวิตต่างๆ รอบตัว มีความสุขกับการทำงานหรือกิจกรรม กลางแจ้ง อาชีพที่เหมาะสมคือ การทำเกษตรกรรม นักสิ่งแวดล้อม นักวิทยาศาสตร์ นักสำรวจ นักอนุรักษ์ธรรมชาติ ทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์ เดินทางท่องเที่ยว คนนำเที่ยว
- ปัญญาด้านการดำรงอยู่ (Existential Intelligence) ความสามารถในการตั้งคำถาม ค้นหาคำตอบเกี่ยวกับปรัชญา ข้อคิดการดำรงชีวิต วัตถุประสงค์และคุณค่าของการมีชีวิต แนวทางการใช้ชีวิตให้คุ้มค่า กลุ่มอาชีพที่เกี่ยวข้องคือนักปรัชญา ผู้นำทางความคิด
การลงมือทำและฝึกฝนอย่างจริงจังจะช่วยเสริมสร้างความเชี่ยวชาญและเปิดโอกาสในการหารายได้ที่หลากหลายขึ้น นอกเหนือจากการช่วยเพิ่มโอกาสในการใช้เงินที่เพียงพอสำหรับชีวิตหลังเกษียณแล้ว สิ่งสำคัญคือโอกาสในการช่วยเหลือทำประโยชน์ให้กับผู้อื่นและสังคมอย่างมีคุณค่าอีกด้วย