logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: ประกันภัย

คนโสดต้องมีประกันอะไรบ้าง

โดย คุณสรฐัช สุงาม นักวางแผนการเงิน CFP®

 

ประกันเป็นสินค้าทางการเงินที่ช่วยบริหารความเสี่ยงทางการเงินเมื่อเราเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันได้ การซื้อประกันต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายๆ อย่างไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงที่เรามีอยู่ จำนวนเบี้ยประกันที่จ่ายได้ และสุขภาพของเราขณะทำประกัน แต่อีกปัจจัยหนึ่งที่เราสามารถนำมาวิเคราะห์ก่อนการซื้อประกันได้คือ สถานะขณะทำประกันของเรานั่นเอง การซื้อประกันที่เหมาะสมจะขึ้นอยู่กับสถานะของเราว่าขณะนั้นเรามีภาระอะไรที่ต้องดูแลบ้าง เช่น ต้องดูแลบุพการี ลูก หรือพี่น้อง แต่ถ้าเป็นคนโสด จะมีความต้องการในการทำประกันอย่างไร บทความนี้เราจะอธิบายความจำเป็นในการซื้อประกันสำหรับคนโสดว่าต้องพิจารณาปัจจัยใดบ้าง

 

หลักพื้นฐานของการทำประกันคือ เพื่อป้องกันผลกระทบทางการเงินเมื่อเกิดความเสี่ยงภัยขึ้น ความเสี่ยงภัยในที่นี้เกิดขึ้นได้จากหลากหลายปัจจัย เช่น การจากไปก่อนวัยอันควร การเจ็บป่วยร้ายแรง อุบัติเหตุ และทุพพลภาพ สำหรับคนโสด เราสามารถพิจารณาความเสี่ยงต่างๆ ที่กล่าวมาเพื่อประกอบการตัดสินใจในการทำประกันได้ หากเป็นคนโสดที่มีการอุปการะใครสักคนอยู่ ทุนประกันชีวิตเป็นสิ่งที่ต้องนำมาพิจารณาในการทำประกันด้วย หากเกิดเหตุไม่คาดฝัน จะไม่ทำให้คนที่อุปการะอยู่เดือดร้อน หรือทำทุนประกันเพื่อสร้างเป็นมรดกให้คนในอุปการะเพิ่มได้

 

ค่ารักษาพยาบาลเป็นหนึ่งในปัจจัยที่คนโสดควรพิจารณา สำหรับคนที่มีสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลจากหน่วยงานที่ตนสังกัดอยู่แล้ว ควรตรวจสอบว่าเพียงพอต่อความต้องการของตนหรือไม่ ถ้าไม่เพียงพอก็ควรทำประกันเพิ่มเติมเพื่อปิดความเสี่ยงด้านนี้ สำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรือไม่มีสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลจากหน่วยงานที่ตนสังกัดอยู่ ประกันสุขภาพเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก เพราะการเจ็บป่วยจนต้องเข้ารับการพักรักษาที่โรงพยาบาลเท่ากับการขาดรายได้ไป การทำประกันเพื่อชดเชยรายได้ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกเพื่อช่วยลดความเสียหายทางการเงินของคนโสดได้

 

อีกเรื่องหนึ่งที่คนส่วนใหญ่มักจะมองข้ามคือโรคร้ายแรง เนื่องจากเป็นความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดน้อย แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ผลกระทบทางการเงินค่อนข้างสูงมาก และสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของหลาย ๆ หน่วยงานมักไม่ครอบคลุมถึงเรื่องนี้ ดังนั้นการทำประกันคุ้มครองกรณีเกิดโรคร้ายแรงจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เนื่องจากจะช่วยลดความเสี่ยงทางด้านการเงินจากเรื่องนี้ได้ ซึ่งเบี้ยประกันสำหรับโรคร้ายแรงไม่แพงเมื่อเทียบกับความคุ้มครองที่ได้รับ

 

เรื่องพิจารณาอย่างสุดท้ายที่ผู้เขียนแนะนำ และคนโสดส่วนใหญ่มองข้ามไป คือความเสี่ยงจากการขาดรายได้จากการทำงาน ดังที่กล่าวไปข้างต้น ถ้าเราต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล เราจะขาดรายได้ในการทำงานไป ยิ่งถ้าการขาดรายได้ดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและยาวนาน เราจะมีวิธีรับมืออย่างไร ในที่นี้ผู้เขียนกำลังกล่าวถึงความเสี่ยงเมื่อเกิดเหตุทุพพลภาพ ถ้าเราเป็นคนโสดที่ไม่มีภาระใดๆ สิ่งที่เรากังวลที่สุดน่าจะเป็นการที่เราไม่สามารถทำงานหารายได้เพื่อใช้จ่ายให้ตัวเองได้ ดังนั้น ทุพพลภาพจึงเป็นความเสี่ยงที่มีผลกระทบมากที่สุดที่เราต้องคำนึงถึงก่อนเป็นอย่างแรก การทำประกันคุ้มครองทุพพลภาพสามารถทำได้ด้วยเบี้ยที่ไม่แพงมาก และทำให้เราลดความกังวลกับความเสี่ยงดังกล่าวได้

 

การเลือกซื้อประกันให้เหมาะสมกับตัวเองเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก ถึงแม้ว่าจะเป็นคนโสด ก็ยังมีความจำเป็นต้องทำประกัน เพราะคนโสดอาจมีผู้ในอุปการะที่ต้องดูแล หรือต้องทำประกันเพื่อดูแลตนเอง จึงต้องพิจารณาว่าตนเองมีความเสี่ยง หรือต้องการความคุ้มครองในเรื่องใดบ้าง เพื่อพิจารณาทำประกันได้อย่างครอบคลุม ทั้งนี้ ก็ต้องคำนวณค่าเบี้ยประกันด้วยเช่นกัน เพราะเป็นรายจ่ายที่ค่อนข้างประจำ เพื่อให้ประกันคุ้มครองเราอย่างต่อเนื่อง การบริหารความเสี่ยง และการจัดสรรเงินเพื่อซื้อประกันได้อย่างเหมาะสมจึงเป็นเรื่องที่เราต้องทำเป็นอย่างแรกก่อนการจัดสรรเงินไปลงทุนเพื่อเป้าหมายทางการเงิน ทุกท่านสามารถเลือกใช้บริการนักวางแผนการเงินเพื่อช่วยเหลือ และให้คำแนะนำในการซื้อประกันอย่างเหมาะสมได้

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th