บทความ: บริหารจัดการเงิน
ไว้ใจมืออาชีพให้บริหารเงินทุนด้วยกองทุนส่วนบุคคล
โดย คุณธนพงษ์ เอื้อสมิทธ์ นักวางแผนการเงิน CFP®
ในปัจจุบันหากนักลงทุนไม่สะดวกในการลงทุนในสินทรัพย์โดยตรงเนื่องจากไม่มีเวลาติดตามข่าวสารข้อมูลการลงทุน นักลงทุนสามารถลงทุนในกองทุนรวมต่างๆ ซึ่งช่วยในด้านการกระจายความเสี่ยงในการลงทุน แต่กองทุนรวมนั้นก็มีข้อจำกัดหลายประการ กล่าวคือกองทุนรวมนั้นจะต้องลงทุนตามนโยบายที่กำหนดในหนังสือชี้ชวนการลงทุนอย่างเคร่งครัด ทำให้นักลงทุนจำเป็นต้องซื้อกองทุนรวมหลายๆ กองทุนที่มีนโยบายแตกต่างกัน ดังนั้นกองทุนส่วนบุคคลจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของนักลงทุนซึ่งข้อแตกต่างเบื้องต้นระหว่างกองทุนรวมและกองทุนส่วนบุคคลมีดังนี้
|
กองทุนรวม |
กองทุนส่วนบุคคล |
แหล่งที่มาของเงินทุน |
ระดมทุนจากผู้ลงทุนหลายคน |
ผู้ลงทุนคนเดียว (หรือกลุ่มเดียว) |
นโยบายการลงทุน |
เป็นไปตามหนังสือชี้ชวนการลงทุน |
สามารถกำหนดนโยบายได้เอง |
ค่าธรรมเนียมในการลงทุน |
เป็นไปตามหนังสือชี้ชวนการลงทุน |
ขึ้นอยู่กับนโยบายที่กำหนด |
ความยืดหยุ่นในการลงทุน |
ต่ำ |
สูง |
การจ่ายคืนผลประโยชน์ |
เงินปันผล/การขายคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติ (Auto redemption) |
สามารถกำหนดการจ่ายคืนผลประโยชน์ได้เอง |
ภาษีเงินได้ |
ตามสถานภาพของผู้ลงทุน โดยแบ่งเป็น (1) ผู้ลงทุนในไทย ได้แก่ 1. บุคคลธรรมดา 2. นิติบุคคล 3. บริษัทจดทะเบียน (2) ผู้ลงทุนต่างประเทศ ได้แก่ 1. บุคคลธรรมดา 2. นิติบุคคล |
ตามสถานภาพของผู้ลงทุน โดยแบ่งเป็น บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ซึ่งมีภาระภาษีที่แตกต่างกันในแต่ละสินทรัพย์ที่เลือกลงทุน เช่น ตราสารหนี้ ตราสารทุน กองทุนรวม หรือสินทรัพย์ต่างประเทศ เป็นต้น |
โดยกองทุนส่วนบุคคลเป็นกองทุนที่ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 มีหน้าที่จัดการเงินทุนของบุคคลหรือคณะบุคคล (หมายความรวมถึงนิติบุคคล) ที่ให้จัดการลงทุนเพื่อแสวงหาผลประโยชน์จากหลักทรัพย์ ไม่ว่าจะมีการลงทุนในทรัพย์สินอื่นด้วยหรือไม่ก็ตามซึ่งกระทำเป็นทางการค้าปกติ โดยได้รับค่าธรรมเนียมหรือค่าตอบแทนอื่น ในการจัดตั้งกองทุนส่วนบุคคลนั้น ผู้ลงทุนต้องทำสัญญามอบหมายให้บริษัทจัดการกองทุนซึ่งเป็นบริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทจัดการกองทุนส่วนบุคคล การลงทุนผ่านกองทุนส่วนบุคคลนั้นผู้ลงทุนยังคงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินดังกล่าวและสามารถกำหนดนโยบายการลงทุนร่วมกับบริษัทจัดการได้ กองทุนส่วนบุคคลนั้นมีสถานภาพเป็นไปตามสถานภาพของบุคคลที่เป็นเจ้าของทรัพย์สิน กล่าวคือหากเจ้าของทรัพย์สินเป็นบุคคลธรรมดา กองทุนส่วนบุคคลจะมีสถานภาพเป็นบุคคลธรรมดา แต่หากเจ้าของทรัพย์สินเป็นนิติบุคคล กองทุนส่วนบุคคลก็จะมีสถานภาพเป็นนิติบุคคล ซึ่งทำให้กองทุนส่วนบุคคลนั้นมีภาระทางภาษีตามสถานภาพนั้นๆ เช่น กำไรจากการขายหลักทรัพย์ในประเทศไทย (Capital gain) หากกองทุนส่วนบุคคลเป็นบุคคลธรรมดาก็จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ แต่ถ้าหากเป็นนิติบุคคลก็ต้องนำเงินกำไรไปคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นต้น
ในสัญญาการจัดการกองทุนส่วนบุคคลต้องประกอบด้วยสาระสำคัญอย่างน้อยดังต่อไปนี้
- สิทธิ หน้าที่และความรับผิดชอบของบริษัทจัดการกองทุน
- ประเภทอัตราและวิธีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม หรือค่าใช้จ่ายในการจัดการกองทุนส่วนบุคคล ในกรณีคิดค่าธรรมเนียมการจัดการแบบ performance fee ต้องมีการเปิดเผยรายละเอียดวิธีการคิดและการตัดจ่ายค่าธรรมเนียม พร้อมแสดงตัวอย่างการคำนวณค่าธรรมเนียม
- นโยบายการลงทุนและข้อจำกัดในการลงทุน
- วันเริ่มต้น และวันสิ้นสุดของสัญญา
- วิธีการแต่งตั้งผู้รับฝากทรัพย์สิน (custodian)
- ข้อมูลที่ควรเปิดเผยให้ลูกค้าทราบ และการกำหนดระยะเวลาที่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าว เช่น ข้อมูลที่เกี่ยวกับสิทธิของลูกค้า ข้อมูลเกี่ยวกับกองทุนส่วนบุคคล รายงานเกี่ยวกับการลงทุนหรือการก่อภาระผูกพันตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานกำหนด การทำธุรกรรมที่ควรได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากลูกค้าตามที่สำนักงานกำหนดและข้อมูลอื่นใดที่บริษัทจัดการและลูกค้าตกลงกันให้เปิดเผยเพิ่มเติม
- เงื่อนไขในการเปลี่ยนแปลงแก้ไขสัญญา การต่ออายุสัญญา และการยกเลิกสัญญา
- กำหนดเวลาและวิธีการจ่ายผลประโยชน์ให้แก่ลูกค้าในระหว่างที่สัญญายังมีผลใช้บังคับ
- หลักปฏิบัติในการลงทุนในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์
- คำเตือนเกี่ยวกับความเสี่ยงของลูกค้าว่าอาจไม่ได้รับเงินทุนและผลประโยชน์คืนเท่ากับจำนวนเงินทุนที่ได้มอบหมายให้บริษัทจัดการกองทุน
ตัวอย่างสัญญาจัดการกองทุนส่วนบุคคลแบบคร่าวๆ เช่น
- นายเก่งกาจ ชอบลงทุน ทำสัญญากับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนไทยมั่งคั่ง จำกัด สัญญาจัดการจะเป็นชื่อ “กองทุนส่วนบุคคล นายเก่งกาจ ชอบลงทุน โดย บลจ. ไทยมั่งคั่ง จำกัด” ซึ่งนายเก่งกาจสามารถรับความเสี่ยงได้ปานกลาง จึงกำหนดนโยบายการลงทุนให้ลงทุนในหุ้น 50% และตราสารหนี้ 50% และจ่ายคืนผลประโยชน์จากดอกเบี้ยและเงินปันผลทุกๆ สิ้นปี
- บริษัท กขค. จำกัด ทำสัญญากับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนไทยมั่นคง จำกัด สัญญาจัดการจะเป็นชื่อ “กองทุนส่วนบุคคล บริษัท กขค. จำกัด โดย บลจ. ไทยมั่นคง จำกัด” ซึ่งบริษัท กขค. จำกัด นั้นรับความเสี่ยงได้ปานกลางถึงต่ำ จึงกำหนดนโยบายการลงทุนให้ลงทุนในหุ้น 20% และตราสารหนี้ 80% และมีข้อจำกัด คือ ห้ามลงทุนในบริษัท ABC จำกัด (มหาชน) เนื่องจากเป็นบริษัทลูกซึ่งมีส่วนได้ส่วนเสียกับบริษัท กขค. จำกัด และจ่ายคืนผลประโยชน์เมื่อร้องขอ เป็นต้น
ข้อดีและข้อเสียของกองทุนส่วนบุคคล มีดังนี้
ข้อดีของกองทุนส่วนบุคคล
- กองทุนส่วนบุคคลนั้นบริหารด้วยผู้จัดการกองทุนมืออาชีพที่สามารถเข้าถึงข้อมูลการลงทุนได้ง่ายกว่าและวิเคราะห์ข้อมูลได้ทันต่อเหตุการณ์
- กองทุนส่วนบุคคลมีช่องทางในการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ได้หลากหลายทั้งในประเทศและต่างประเทศ และลงทุนได้สะดวกกว่าการที่นักลงทุนเข้าไปลงทุนด้วยตนเอง
- ผู้ลงทุนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายการลงทุนได้ตามต้องการและสามารถปรับเปลี่ยนนโยบายให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ในขณะที่กองทุนรวมนั้นต้องลงทุนตามนโยบายที่กำหนดไว้ในหนังสือชี้ชวนการลงทุน
- ผู้ลงทุนได้รับความสะดวกและลดภาระในการดำเนินการเกี่ยวกับการลงทุนเนื่องจากกองทุนส่วนบุคคลนั้นสามารถดำเนินการแทนผู้ลงทุนได้ตามสัญญาการจัดการกองทุนส่วนบุคคลอย่างครบวงจร
ข้อเสียของกองทุนส่วนบุคคล
- จำนวนเงินลงทุนเริ่มของสัญญาจัดการกองทุนส่วนบุคคลอยู่ในระดับที่สูง ทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงบริการนี้ได้หากจำนวนเงินลงทุนเริ่มต้นต่ำกว่าที่บริษัทจัดการกองทุนกำหนด
- ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ในการลงทุน เนื่องจากกองทุนส่วนบุคคลนั้นมีสถานภาพตามเจ้าของทรัพย์สิน ซึ่งยังถือว่ามีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินเสมือนกับการลงทุนด้วยตนเอง หากไม่กำหนดข้อจำกัดในการลงทุนให้เหมาะสมก็อาจเกิดปัญหานี้ได้ เช่น การที่กองทุนส่วนบุคคลไปซื้อหุ้นในบริษัทของนักลงทุน จนทำให้อัตราส่วนในการถือหุ้นของนักลงทุนเพิ่มมากขึ้น เป็นต้น
- การจัดทำสัญญาและการปิดสัญญากองทุนส่วนบุคคลนั้นจะมีความยุ่งยากซับซ้อนกว่าการลงทุนโดยตรง จึงใช้เวลาในการจัดการสัญญาต่างๆ มากกว่า
ซึ่งภาพรวมของธุรกิจกองทุนส่วนบุคคลในประเทศไทยนั้นมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องและเป็นที่สนใจของบริษัทจัดการลงทุนต่างประเทศในการเข้ามาทำธุรกิจ เช่น กลุ่มจูเลียส แบร์ที่ร่วมมือกับธนาคารไทยพาณิชย์ในปี พ.ศ. 2561 หรือกลุ่ม LGT แห่งราชรัฐลิกเตนสไตน์ที่มีราชวงศ์ลิกเตนสไตน์เป็นเจ้าของและบริหารงาน ก็เข้ามาเปิดสำนักงานในประเทศไทยเมื่อต้นปี พ.ศ. 2562 นี้ นับเป็นสำนักงานแห่งที่ 3 ในเอเชียถัดจากฮ่องกงและสิงคโปร์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนกลุ่ม High Net Worth ในไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และเป็นที่นิยมของนักลงทุนไทย
โดยสรุป คือ กองทุนส่วนบุคคลเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่ช่วยบริหารจัดการความมั่งคั่งของนักลงทุนให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์โดยมีมืออาชีพช่วยบริหารจัดการลงทุนให้ ซึ่งลดภาระในการดำเนินการลงทุนด้วยตนเองได้มาก แต่ทั้งนี้เงินลงทุนเริ่มต้นของสัญญาจัดการกองทุนส่วนบุคคลนั้นค่อนข้างสูงและมีเงื่อนไขข้อกำหนดในสัญญา ดังนั้น นักลงทุนที่ใช้บริการกองทุนส่วนบุคคลควรคำนึงถึงข้อจำกัดในการลงทุน เช่น กำหนดให้กองทุนส่วนบุคคลไม่ลงทุนในหลักทรัพย์ที่ตนเองเป็นกรรมการบริษัทหรือมีส่วนได้ส่วนเสียหรือหลักทรัพย์ที่นักลงทุนเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ รวมถึงภาระทางภาษีของกองทุนส่วนบุคคลที่มีนโยบายลงทุนในต่างประเทศซึ่งมีหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการนำเงินได้จากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทย เป็นต้น