logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: บริหารจัดการเงิน

เมื่อ Gen Y ไม่เป็นหนี้ .. ประเทศไทยนี้ จะเป็นอย่างไร?

โดย คุณลาวัณย์ วาริชนันท์ นักวางแผนการเงิน CFP®

 

จากข้อมูล ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เมื่อปี 2559 พบว่า กลุ่ม Gen Y ซึ่งในขณะนั้น มีอายุ 23-38 ปี จำนวน 14.4 ล้านคน ประมาณครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรทั้งหมดของ Gen Y หรือ ประมาณ 7.2 ล้านคน มีภาระหนี้ต่อคน อยู่ถึง 423,000 บาท และที่มากไปกว่านั้น ประมาณ 20% ของ Gen Y ที่กู้หนี้ หรือประมาณ 1.4 ล้านคน ผิดนัดชำระหนี้ โดยคิดเป็น 7.1% ของสินเชื่อทั้งหมดที่มีการผิดนัดชำระ และแนวโน้มองค์รวมคือเพิ่มขึ้น

 

ข้อมูลเหล่านี้ เกี่ยวข้องกับเรา และอนาคตของประเทศไทยอย่างไร รวมถึงเราจะร่วมมือกันอย่างไร เพื่อทำให้ประเทศไทยไปข้างหน้าได้อย่างราบรื่น อาจพิจารณาได้ ดังนี้

 

ด้วยความที่กลุ่มคน Gen Y (กลุ่มคนที่เกิดระหว่างปี 1980-1995) เป็นประชากรกลุ่มใหญ่ที่สุดของประเทศไทย โดยมีถึง 28% ของประชากรทั้งหมดของประเทศ ซึ่งคน Gen Y เกิดมาในยุคที่เศรษฐกิจกำลังเฟื่องฟู พ่อแม่ส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นคนกลุ่ม Baby Boomer และบางส่วนคือ คน Gen X ที่สร้างเนื้อสร้างตัวได้จากการผ่านความยากลำบากในการสร้างเนื้อสร้างตัว และผ่านวิกฤตเศรษฐกิจมาด้วยความอดทน ส่งมอบความฝันหรือบางสิ่งที่ตนขาดให้กับลูกๆ ที่เป็นกลุ่มคน Gen Y มีผลให้กลุ่มคน Gen Y ส่วนหนึ่งได้รับการตามใจ มีอิสระในการเลือกสูง และเต็มเปี่ยมไปด้วยความเป็นตัวของตัวเอง ต้องการพื้นที่ในการแสดงออกของตนเองสูง

 

จากปัจจัยดังกล่าว ประกอบกับเทคโนโลยีอันทันสมัยที่เติบโตขึ้นมาพร้อมกับกลุ่มคน GenY และรวมถึง การเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของสินค้าและบริการหลากหลายประเภท ทำให้กลุ่มคน Gen Y เข้าถึงการจับจ่ายใช้สอยได้อย่างง่ายมาก เป็นเหตุให้เกิดเทรนด์ “ของมันต้องมี” “ของมันต้องได้”

 

จากงานวิจัยของ TMB Analytics เกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้เงินเชิงลึกของกลุ่มคน Gen Y ผ่านแคมเปญ “ของมันต้องมีก่อน 40” พบว่า กลุ่มคน Gen Y ส่วนใหญ่ มีเป้าหมายชีวิตที่ดี เช่น ต้องการมีบ้าน มีรถ เป็นของตนเอง หากแต่ว่า สิ่งที่ต้องการ กับ สิ่งที่เกิดขึ้นจริงในพฤติกรรมนั้น สวนทางกัน

 

โดยสิ่งที่เกิดขึ้นจริงนั้นกลุ่มคน GenY หมดเงินไปกับ “ของมันต้องมี” ซึ่งประกอบไปด้วยโทรศัพท์มือถือ เสื้อผ้า เครื่องสำอางค์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ กระเป๋า นาฬิกาและเครื่องประดับ โดยเฉลี่ยปีละ 95,500 บาทต่อปี เท่ากับว่าหากเอาค่าใช้จ่ายทั้งหมดมาคูณจำนวนกลุ่มคน Gen Y จะเท่ากับว่ากลุ่มคน Gen Y หมดเงินไปกับ “ของมันต้องมี” ไปถึง 1.37 ล้านล้านบาทเทียบเท่าอัตราการขยายตัว 13% ของประเทศไทย

 

ด้วยความมั่นใจในตนเอง ต้องการเลือกสินค้าและบริการด้วยตนเอง หาข้อมูลเองของคน Gen Y และการวางแผนการเงินในประเทศไทย ยังไม่แพร่หลายเท่าที่ควร ทำให้กลุ่มคน Gen Y เอง วางแผนการเงินน้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณประชากร อีกทั้งยังวางเงินไว้ผิดที่ ทำให้เงินไม่งอกเงยและทำงานได้อย่างเต็มที่

 

จากปัจจัยทั้งหมดข้างต้น ทำให้กลุ่มคน Gen Y ประมาณ 1.4 ล้านคน ผิดชำระหนี้ และอีกทั้งคนส่วนใหญ่ มิได้ทำการวางแผนการเงิน ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตในระยะยาว เป็นเหตุให้ภาครัฐและเอกชน ต้องร่วมมือกันแก้ไข อย่างจริงจัง มีงานวิจัยระบุออกมาว่า อีก 15-20 ปี ข้างหน้า หากพฤติกรรมดังกล่าวไม่ถูกปรับเปลี่ยน กลุ่มคน Gen Y ประมาณ 5 ล้านคน จะเกษียณไปพร้อมกับหนี้ ซึ่งจะทำให้เป็น “หลุมดำ” ทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง

 

แล้วเราจะรับมือจัดการ รวมถึงร่วมมือกันอย่างไร ให้ประเทศไทยไปข้างหน้า?

 

ถึงสภาวการณ์นี้ในยุค COVID-19 ดูเหมือนว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” น่าจะเป็นคำตอบหนึ่งที่ควรถูกสนับสนุนในเหตุการณ์นี้มากที่สุดซึ่งในที่นี่เราอาจจะหมายถึงการใช้การวางแผนการเงินแบบบูรณาการ เข้ามาร่วม เพื่อให้บุคคลแต่ละคนได้กำหนดเป้าหมายและทิศทางของชีวิต ในกรอบของรายได้และรายจ่าย รวมถึงสินทรัพย์และหนี้สิน ที่มีอยู่ เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้เงินผิดที่ผิดทาง วางเงินหรือลงทุนผิดประเภท เพื่อให้แต่ละบุคคลสามารถบรรลุเป้าหมายชีวิต และมีเงินใช้อย่างเพียงพอในยามเกษียณได้

 

นอกจากนี้ หากกลุ่มคน Gen Y ลดอัตราการใช้จ่ายกับ “ของมันต้องมี และ ของมันต้องได้” ลงมา 50% แล้วนำเงินดังกล่าว ไปลงทุนอย่างถูกวิธี เมื่อเวลาผ่านไป 10-30 ปี ความฝันในการมีบ้าน มีรถ มีเงินเก็บเพื่อใช้ในยามเกษียณของตนเอง ก็สามารถเกิดขึ้นได้ (สำหรับการลดค่าใช้จ่ายต้องทำอย่างไรนั้น สามารถติดตามอ่านได้จากบทความอื่นๆ ของสมาคมนักวางแผนการเงินไทย)

 

เพราะองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของประเทศไทย ไม่ใช่ ภูเขา ท้องฟ้า แม่น้ำ หรือ ต้นไม้ ใบหญ้า หากแต่เป็นคนแต่ละคนที่เรียกตนเองว่าคนไทย ดังนั้นเมื่อคน 1 คนสามารถรับผิดชอบตนเอง มีแผนการเงินที่ถูกต้อง และใช้การได้สำหรับตนเองแล้ว ก็เท่ากับว่า บุคคลคนนั้น ก็ไม่ต้องใช้เงิน งบประมาณในการช่วยเหลือจากประเทศชาติในยามชรา หากคนไทย 20 คน 100 คน 1 ล้านคน 20 ล้านคน รับผิดชอบตนเองได้ทั้งชีวิต ชีวิตจะมีความสุขใจและความภูมิใจมากเพียงใด และแน่นอนว่า เขาเหล่านั้นจะเป็นส่วนในการพัฒนาประเทศชาติไปในอีกทิศทางหนึ่ง ไม่แน่ว่า ประเทศไทยจะพลิกจากประเทศกำลังพัฒนา กลายเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วก็เป็นได้ เมื่อคนไทยรู้จักและรับผิดชอบในการบริหารจัดการเงินและเป้าหมายชีวิตของตนเอง

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th