บทความ: ประกันภัย
ประกันชีวิตฉบับแรกของมนุษย์เงินเดือน
โดย คุณสิรภัทร เกาฏีระนักวางแผนการเงิน CFP®
ปัจจุบันมนุษย์เงินเดือนมีผลิตภัณฑ์การเงินมากมายที่เข้ามาช่วยตอบโจทย์ในการดำเนินชีวิต เช่น เงินฝากธนาคารสำหรับการออม สินเชื่อสำหรับการกู้ยืมเงิน กองทุนรวมสำหรับการลงทุน บัตรเครดิตสำหรับการใช้จ่าย และประกันชีวิตสำหรับความคุ้มครอง ทั้งนี้ประกันชีวิตเป็นเครื่องมือทางการเงินที่เราไม่ควรมองข้าม เพราะไม่มีผลิตภัณฑ์การเงินใดทดแทนประกันชีวิตได้ โดยเมื่อเราทำประกันชีวิตไปแล้ว เราสามารถคาดการณ์ได้ว่า จะมีเงินเตรียมไว้ให้คนข้างหลังเป็นจำนวนเท่าไร หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นกับตัวเรา ในวันนี้เราจะมาดูกันว่า ก่อนที่เราจะตัดสินใจทำประกันชีวิตฉบับแรกควรทำอย่างไรบ้าง
“สำรวจ”
อันดับแรกทำการสำรวจ ความต้องการในการทำประกันชีวิตของเราก่อน หากเราเป็นเสาหลักของครอบครัว มีพ่อแม่ หรือคนข้างหลังที่ต้องดูแล ควรให้ความสำคัญกับ “ทุนประกันชีวิต” ที่ให้ความคุ้มครองชีวิตเสมือนเงินก้อนที่เราเตรียมไว้ให้คนที่เรารัก เพราะหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น ทุนประกันชีวิตนี้จะช่วยให้คนข้างหลังสามารถดำเนินชีวิตอยู่ต่อไปได้
“ตรวจสอบ”
ขั้นตอนต่อมาที่ไม่ควรมองข้ามคือ การตรวจสอบสวัสดิการของตัวเราเองที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงสวัสดิการของคู่สมรส (ถ้ามี) โดยส่วนใหญ่บริษัทจะทำประกันกลุ่มให้กับพนักงาน ไม่ว่าจะเป็นความคุ้มครองชีวิต อุบัติเหตุ ค่ารักษาพยาบาล รวมถึงค่าฌาปนกิจสงเคราะห์เมื่อเสียชีวิต โดยเราสามารถสอบถามสวัสดิการความคุ้มครองที่ได้รับจากฝ่ายทรัพยากรบุคคลของบริษัทที่เราทำงานอยู่ นอกจากนี้ มนุษย์เงินเดือนจะเป็นผู้ประกันตนของกองทุนประกันสังคมตามมาตรา 33ได้รับความคุ้มครองกรณีเจ็บป่วย ทุพพลภาพและเสียชีวิต (ค่าทำศพ) ทั้งนี้ เราควรตรวจสอบดูว่าความคุ้มครองที่ได้รับจากการทำงาน ทั้งจากบริษัทและประกันสังคม เพียงพอกับความต้องการหรือไม่ เพื่อพิจารณาทำประกันเพิ่มเติม (แต่อย่าลืมว่าสวัสดิการของบริษัทนั้น หากวันหนึ่งเราไม่ได้เป็นพนักงานของบริษัทแล้วสวัสดิการเหล่านี้ก็จะหมดไป)
“เลือกแบบประกัน”
ประกันชีวิตแบบพื้นฐานมีทั้งหมด 4 แบบด้วยกัน ซึ่งประกันแต่ละแบบจะให้ความคุ้มครองชีวิตและผลประโยชน์ที่แตกต่างกันออกไปเช่น
- แบบตลอดชีพและแบบชั่วระยะเวลา เน้นความคุ้มครองหรือทุนประกันชีวิตที่สูง เมื่อเทียบกับเบี้ยประกันที่จ่ายเหมาะสำหรับผู้ที่เป็นหัวหน้าครอบครัว มีคนข้างหลังที่ต้องดูแลและต้องการสร้างหลักประกันให้กับครอบครัว
- แบบสะสมทรัพย์ เน้นสร้างวินัยการออม และเงินคืนระหว่างสัญญา แต่ความคุ้มครองชีวิตไม่สูงมากนักเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการมีเงินก้อนใหญ่เพื่อใช้จ่ายในอนาคต หรือมีเงินคืนให้ระหว่างที่ถือกรมธรรม์ โดยได้รับผลตอบแทนที่แน่นอน ตามที่กรมธรรม์กำหนด
- แบบบำนาญ หรือเงินได้ประจำ เน้นการได้รับกระแสเงินสดเป็นงวดๆ หลังจากที่เราอายุครบ 55 ปี หรือ 60 ปีเหมาะสำหรับผู้ที่วางแผนเกษียณอายุและต้องการมีเงินบำนาญ เพื่อใช้จ่ายในอนาคตอย่างสม่ำเสมอ
สำหรับการทำประกันชีวิตฉบับแรกนั้น หากว่าเราอายุยังไม่มากและมีสุขภาพที่แข็งแรง ขอแนะนำให้ทำประกันชีวิตที่เน้นในเรื่องของความคุ้มครองชีวิต รวมทั้งทำสัญญาเพิ่มเติมดูแลค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลเป็นหลักก่อน
ตัวอย่างเช่น เลือกทำประกันชีวิตแบบตลอดชีพ ซึ่งให้ความคุ้มครองที่สูงต่อเนื่องไปจนเมื่อเรามีอายุมากขึ้น โดยแนบสัญญาเพิ่มเติมประกันสุขภาพเข้าไปด้วย เนื่องจากหากในอนาคตเราเกิดมีปัญหาสุขภาพร้ายแรง อาจไม่สามารถทำประกันชีวิตที่ให้ความคุ้มครองที่สูงได้
“เลือกช่องทาง”
ปัจจุบันมีช่องทางสำหรับการเลือกทำประกันชีวิตหลากหลายช่องทางด้วยกันเช่น
- ช่องทางธนาคาร ควรเลือกสถาบันการเงินที่มีความมั่นคง สะดวกในการเข้าไปใช้บริการมีเจ้าหน้าที่คอยให้คำแนะนำข้อมูลประกันชีวิตที่ถูกต้อง
- ช่องทางตัวแทนประกันชีวิต ควรเลือกตัวแทนประกันชีวิตที่มีใบอนุญาต มีความเป็นมืออาชีพ ซื่อสัตย์ และสามารถให้คำปรึกษาด้านประกันชีวิตได้อย่างครบถ้วน
ที่สุดแล้วก่อนที่จะทำประกันชีวิตฉบับแรก ไม่ว่าจะเลือกประกันชีวิตแบบไหน หรือเลือกทำกับช่องทางทางใด อย่าลืมพิจารณาเรื่องของความสามารถชำระเบี้ยประกันของเราตลอดสัญญารวมทั้งศึกษาเงื่อนไขการรับประกันให้ครบถ้วนก่อนตัดสินใจทำประกันชีวิต
“ประโยชน์ของประกันชีวิต คือความคุ้มครองและความสงบทางจิตใจเพื่อคนข้างหลัง ผลประโยชน์ทางภาษีเป็นเพียงผลพลอยได้เท่านั้น”