logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: เกษียณ

“เคล็ดไม่ลับเพื่อการเกษียณ” ลงทุนด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

โดย คุณเสาวลักษณ์ บ่อศิลป์ นักวางแผนการเงิน CFP®

 

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund)

เป็นกองทุนที่นายจ้างและลูกจ้างร่วมกันจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นสวัสดิการเงินได้เมื่อออกจากงาน เป็นหลักประกันให้แก่ครอบครัวกรณีลูกจ้างเสียชีวิต ทุพพลภาพ เพื่อใช้เป็นแหล่งเงินทุนในการดำเนินชีวิตในช่วงวัยเกษียณ ซึ่งกองทุนนี้มีกลไกปกป้องสมาชิกกองทุน เนื่องจากมีสถานะเป็นนิติบุคคลแยกออกจากทรัพย์สินของบริษัทและแยกออกจากบริษัทจัดการ เท่ากับมีความปลอดภัยของเงินกองทุน และเงินกองทุนนี้ไม่อยู่ภายใต้ผลแห่งการบังคับคดี คือต้องจ่ายเงินกองทุนให้แก่สมาชิกกองทุนตามที่กำหนดในข้อบังคับกองทุน

 

ทำไมบริษัทควรตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

บริษัทควรให้ความสำคัญกับสวัสดิการเงินได้เมื่อออกจากงานของพนักงานให้มากขึ้น เพื่อให้พนักงานและ/หรือคนรุ่นใหม่มีวินัยในการออมเงิน สามารถเข้าถึงการเก็บเงินผ่านระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ด้วยกระแสนิยมของความจำเป็นในการบริหารการเงินส่วนบุคคลและการวางแผนการเงินเพื่อการเกษียณอายุ คนที่เริ่มทำงานมาสักพักนึงเริ่มมีแนวคิดที่อยากได้เงินยามเกษียณที่มากขึ้นเพื่อที่จะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีในอนาคต ได้ใช้ชีวิตในแบบที่ต้องการได้โดยไม่ต้องพึ่งพาเป็นภาระของลูกหลาน ซึ่งจะต้องสร้างความมั่นคงทางการเงิน และการลงทุนผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็สามารถตอบโจทย์ในหลายๆ ด้านของการลงทุนเพื่อการเกษียณ ดังนั้น นายจ้างต้องให้ความสำคัญในการสร้างขวัญกำลังใจแก่พนักงาน ให้เกิดความผูกพันมีความมั่นใจและตั้งใจในการทำงานกับบริษัทอย่างเต็มที่เต็มกำลัง โดยการเปิดโอกาสให้มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพื่อเพิ่มสวัสดิการเงินได้เมื่อออกจากงานและเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีในอนาคตของพนักงานและครอบครัว

 

เงื่อนไขการลงทุน

  • อัตราเงินสะสมและสมทบตั้งแต่ 2% - 15% ของค่าจ้าง
  • การหักลดหย่อนภาษีของการลงทุนใน PVD เมื่อรวมกับ RMF กบข. กองทุนสงเคราะห์ครู ต้องไม่เกิน 500,000 บาทในแต่ละปี
  • ต้องเป็นสมาชิกกองทุนไม่น้อยกว่า 5 ปี และมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ทั้งจำนวน รวมถึงกรณีเสียชีวิต และทุพพลภาพ

 

สิทธิประโยชน์ทางภาษี

  • เงินสะสมที่จ่ายเข้ากองทุน นำมาลดหย่อนได้ตามจริงแต่ไม่เกิน 10,000 บาท
  • เงินสะสมที่จ่ายเข้ากองทุน ส่วนที่เกิน 10,000 บาทแต่ไม่เกิน 15% ของค่าจ้างและไม่เกิน 490,000 บาท ไม่ต้องนำไปรวมเพื่อเสียภาษีเงินได้
  • กรณี สิ้นสุดสมาชิกกองทุน เมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และเป็นสมาชิกกองทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ได้รับยกเว้นภาษีทั้งจำนวน
  • กรณี สิ้นสุดสมาชิกกองทุน เมื่อออกจากงาน และอายุงานมากกว่าหรือเท่ากับ 5 ปี ให้นำเงินสมทบรวมทั้งผลประโยชน์ของเงินสะสมและสมทบ ไปคำนวณภาษี และมีสิทธิเลือกเสียภาษีแบบแยกยื่น โดยหักค่าใช้จ่ายได้ ดังนี้
    7,000 บาท X อายุงาน เหลือเท่าใดหักค่าใช้จ่ายอีกร้อยละ 50 แล้วนำเงินที่เหลือไปคำนวณภาษี
  • กรณี สิ้นสุดสมาชิกกองทุน แต่มีอายุงานน้อยกว่า 5 ปี จะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ต้องนำเงินสมทบรวมทั้งผลประโยชน์ของเงินสะสมและสมทบไปรวมเพื่อคำนวณภาษี (นำไปรวมกับรายได้อื่นเพื่อเสียภาษี)

การเลือกการลงทุนแบบ Employee’s Choice

คือ ทางเลือกที่เปิดโอกาสให้สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสามารถเลือกนโยบายการลงทุนได้ตามความเหมาะสมของตนเอง โดยคำนึงถึงระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ อายุตัว จำนวนเงินลงทุน จำนวนเงินเป้าหมาย ระยะเวลาการลงทุน และประมาณการผลตอบแทนที่ต้องการที่คาดหวัง เช่น หากเรารับความเสี่ยงได้ค่อนข้างต่ำ ก็สามารถเลือกแผนลงทุนในหุ้น 10 % – 20% ส่วนที่เหลือ จะลงทุนในตราสารที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น กลุ่มตราสารหนี้ ในทางกลับกัน หากรับความเสี่ยงได้เพิ่มขึ้นหรือค่อนข้างสูง เพื่อคาดหวังผลตอบแทนที่สูงขึ้นในระยะยาว (ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคนที่มีอายุน้อยหรือสามารถลงทุนในระยะยาวมากกว่า 10 ปี) ก็สามารถเลือกสัดส่วนลงทุนในตราสารทุน 50 % ขึ้นไป และสามารถปรับสัดส่วนการลงทุน และ/หรือ เปลี่ยนนโยบายการลงทุนได้ระหว่างทาง ตามภาวะการณ์เศรษฐกิจและภาวะทิศทางการลงทุน หรือ ตามสถานะการเงิน/ปัจจัยอื่นใดที่เปลี่ยนไปของเรา อีกด้วย

 

การเลือกกำหนดอัตราเงินสะสมที่จ่ายเข้ากองทุนสำรองลี้ยงชีพ

หลักการที่สำคัญของการออมเงินเพื่อการเกษียณผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คือ การกำหนดให้มีการจ่ายเงินเข้ากองทุนในอัตราเงินสะสมและสมทบตั้งแต่ 2% - 15% ของค่าจ้างภายใน 3 วันทำการนับจากวันจ่ายค่าจ้าง ดังนั้นในทุกๆ เดือนจึงมีการทยอยจ่ายเงินออมเข้ากองทุนในลักษณะถัวเฉลี่ยต้นทุน (Dollar Cost Averaging: DCA) ซึ่งจะส่งผลให้เราไม่ต้องกังวลเรื่องการจับจังหวะการลงทุนในภาวะการณ์ลงทุนที่ผันผวนมากเกินไป เนื่องจากเราได้ทยอยนำเงินมาลงทุนในทุกช่วงเวลาของภาวะการณ์ตลาดเงินตลาดทุน อีกทั้งเรายังสามารถเลือกกำหนดการจ่ายอัตราเงินสะสมตั้งแต่ 2% - 15% ของค่าจ้าง เข้ากองทุนได้ตามกำลังความสามารถในการออม ตามประมาณการเงินเป้าหมายที่ตั้งไว้ ขึ้นกับภาระและสถานะทางการเงินของเราในแต่ละช่วงชีวิต โดยในข้อบังคับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะมีการระบุเรื่องการกำหนดเงื่อนไขและช่วงระยะเวลาที่สมาชิกกองทุนสามารถแจ้งความประสงค์กำหนดและ/หรือเปลี่ยนแปลงอัตราเงินสะสมที่จ่ายเข้ากองทุน

 

การคงเงินในกองทุน และการโอนย้ายเงินกองทุน

กรณี ลาออกจากงานในบริษัทเดิม พนักงานสามารถขอคงเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่เดิมได้ไม่ต่ำกว่า 90 วัน หรือ ตามที่กำหนดในข้อบังคับกองทุน และ/หรือโอนย้ายไปกองทุนสำรองเลี้ยงชีพบริษัทใหม่ได้ นอกจากนี้ยังสามารถโอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) ที่สะสมอยู่ไปลงทุนต่อเนื่องในกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) โดยประโยชน์ที่ได้รับคือ ไม่ต้องเสียภาษีจากการนำเงินออกจาก PVD ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีต่อเนื่อง ตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยไม่ต้องลงทุนเพิ่มก็ได้ แต่ต้องถือครองเงินกองทุนจนถึงอายุ 55 ปี และนับเวลารวมกับการถือครอง PVD แล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี

 

การวางแผนเกษียณผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

เมื่อเรามีเป้าหมายที่ชัดเจนในการวางแผนการเงินเพื่อการเกษียณอายุ การเริ่มต้นการออมให้เร็วที่สุด จะช่วยลดความเสี่ยงของโอกาสที่เงินจะไม่เพียงพอใช้ในยามเกษียณให้น้อยลง รวมทั้งมีโอกาสได้ผลตอบแทนที่ดี สามารถบรรลุเป้าหมายในอนาคตได้เร็ว นอกจากนี้ เราควรจะเก็บสะสมเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในอัตราที่สูงเต็มความสามารถเต็มกำลังการออมเงิน ทั้งนี้ เมื่อรวมกับเงินสมทบของนายจ้างที่จ่ายสมทบเข้ากองทุนให้เราตามเกณฑ์ของข้อบังคับกองทุน ยิ่งจะส่งผลเพิ่มกำลังเงินออมให้บรรลุจำนวนเงินเป้าหมายเพื่อการเกษียณมากขึ้น และอาจจะใช้ระยะเวลาสั้นลงในการเก็บเงิน การออมเงินอยู่ในกองทุนให้นานที่สุดอย่างต่อเนื่องจะช่วยในเรื่องของสิทธิประโยชน์ทางภาษี อีกทั้ง เราสามารถปรับพอร์ตการลงทุนให้เหมาะสมกับช่วงอายุ และ ภาวะการณ์การลงทุนได้ จะช่วยลดความกังวลใจว่า บางจังหวะบางช่วงเวลา เงินกองทุนอาจมีผลตอบแทนที่ผันผวน แต่การลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นการลงทุนระยะยาว ดังนั้น อย่าตระหนกตกใจ เพราะหากเราลงทุนระยะยาว ความเสี่ยงความผันผวนจากการลงทุนจะยิ่งลดลง

 

เพียงเท่านี้การจะมีเงินเพียงพอเพื่อวัยเกษียณก็คงไม่ไกลเกินความสามารถและใช้ชีวิตหลังเกษียณได้อย่างมีความสุข

 

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th