logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: ประกันภัย

อยากทำประกัน จัดสรรเงินมาทำเท่าไรดี

โดย คุณบุณยนุช ยุทธ์ประทุมนักวางแผนการเงิน CFP®

 

เมื่อคิดถึงว่าจะทำประกันชีวิตและสุขภาพกับเงินเก็บก้อนแรก ท่านผู้อ่านหลายๆ ท่านอาจมีข้อสงสัยว่าการทำประกันนั้น เราควรจะแบ่งสัดส่วนการชำระเบี้ยประกันอย่างไรดีไม่ให้กระทบการเงินส่วนอื่นๆ และสามารถชำระเบี้ยได้ครบตลอดสัญญา วันนี้ผู้เขียนได้มีแนวทางในการจัดสรรเงินเพื่อทำประกันมาแนะนำ โดยแบ่งท่านผู้อ่านเป็น 2 กลุ่มตามลักษณะการได้มาของรายได้ นั่นคือกลุ่มมนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้หลักจากเงินเดือน และกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจที่มีรายได้ในแต่ละเดือนไม่เท่ากัน จึงต้องคาดการณ์จากรายได้ต่อปีของท่านผู้ประกอบการธุรกิจเอง แล้วมองความสามารถในการเก็บเงินได้ในแต่ละปี

 

จากการแบ่งประเภทการรับเงินตามข้างต้นจะเห็นได้ว่ากลุ่มมนุษย์เงินเดือนนั้นสามารถวางแผนเรื่องการแบ่งสัดส่วนเงินมาทำประกันได้ง่าย เพราะมีรายได้สม่ำเสมอและแน่นอน โดยใช้หลักการง่ายๆ คือ ควรอยู่ในช่วง 10%-20% ของรายได้ ขึ้นอยู่กับสถานะ บริบทและสภาพแวดล้อมของแต่ละท่าน โดยคำนึงถึงประโยชน์ของการทำประกันที่มนุษย์เงินเดือนเลือก รวมถึงผลประโยชน์ทางด้านภาษี วงเงินความคุ้มครองให้กับครอบครัว เงินเก็บในอนาคตและรวมถึงสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลหากเกิดการเจ็บป่วยหรือเกิดอุบัติเหตุ เพื่อไม่ให้ค่ารักษามากระทบการเงินของท่านในส่วนอื่นๆ

 

ในเวลาต่อมาผู้รับเงินเดือนทั้งหลายอาจได้รับการปรับฐานเงินเดือนหรือมีรายได้ส่วนอื่นที่ทำให้รายได้มากขึ้น หากท่านยังคงรักษาสัดส่วนแบ่งเงินมาทำประกันไว้อย่างดี ท่านก็สามารถมีเงินเก็บและความคุ้มครองทางประกันที่มากขึ้นโดยที่ไม่ลำบากจนเกินไปเพราะวินัยที่ท่านได้สร้างมาตั้งแต่แรกเริ่ม ยกตัวอย่างเช่น นักศึกษาจบใหม่เริ่มทำงานได้รับเงินเดือน 15,000 บาท จัดสัดส่วนการทำประกันไว้ 10% นั่นคือ 1,500 บาทต่อเดือนหรือ 18,000 บาทต่อปี ในเวลาต่อมาเงินเดือนได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนเป็น 50,000 บาท สัดส่วนการทำประกันยังคงไว้ที่ 10% หรือ 5,000 บาทต่อเดือนหรือ 60,000 บาทต่อปี

 

สำหรับการจัดสัดส่วนเงินเพื่อการทำประกันของผู้ประกอบการธุรกิจ ควรเริ่มจากความสามารถในการแบ่งเงินเป็นก้อนออกมาในแต่ละปีโดยคำนวณจากรายได้จากการทำธุรกิจ สัดส่วนเงินที่แบ่งออกมาได้ของแต่ละท่านอาจไม่เท่ากันและแต่ละธุรกิจของแต่ละท่านก็มีอัตรากำไรที่แตกต่างกัน ดังนั้นการแบ่งสัดส่วนเงินเพื่อมาทำประกันของกลุ่มนี้ควรคำนึงถึงประโยชน์ของประกันเป็นสำคัญเพราะท่านเป็นบุคคลหลักในการดำเนินธุรกิจ ประโยชน์ของประกันรวมถึงสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลหากเจ็บป่วย เวลาที่ใช้ในการเข้าถึงสถานพยาบาล เวลารักษาตัวหรือพักฟื้น เงินก้อนที่ใช้ดูแลครอบครัว ภาระหนี้สินส่วนตัวและภาระหนี้สินกับธุรกิจ เงินก้อนที่ทำให้ธุรกิจดำเนินไปได้ไม่สะดุด การทำประกันนั้นรวมไปถึงเงินเก็บเพื่อการเกษียณและการศึกษาบุตรหลานในอนาคต หากผู้ประกอบการธุรกิจสามารถแบ่งเงินส่วนตัวแยกจากธุรกิจชัดเจนก็สามารถใช้หลัก 10%-20% คล้ายกับหลักการคิดของคนรับเงินเดือนได้ โดยหากท่านได้ปกป้องความเสี่ยง เตรียมการเพื่ออนาคตของตนเองและครอบครัวได้เป็นอย่างดีแล้ว ท่านสามารถโฟกัสการทำงานเพื่อพัฒนาธุรกิจของท่านได้อย่างดีมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

หลายๆ ท่านอาจมีคำถามว่า แล้วการวางแผนประกันสำคัญมากน้อยแค่ไหน เราไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงได้หรือไม่เพราะได้ระวังตัวเองดีอยู่แล้ว แต่เหตุการณ์ต่างๆ ที่ไม่คาดคิดนั้น มีทั้งปัจจัยที่เกิดจากตัวเราเอง เช่น พฤติกรรมการทานอาหารไม่เป็นเวลา สารอาหารที่ได้รับไม่ครบ 5 หมู่ การเอาตัวไปใกล้แหล่งเชื้อโรคหรือแหล่งสารเคมี การใช้วิถีชีวิตอย่างประมาท และปัจจัยภายนอกที่เราไม่สามารถควบคุมได้ เช่น ตั้งแต่ต้นปี 2563 มีเหตุการณ์หลายอย่างเกิดขึ้นทั้ง PM 2.5 ที่มีค่าฝุ่นเกินมาตรฐานในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เหตุการณ์ในห้างที่จังหวัดนครราชสีมา มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมากและโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ที่แพร่ระบาดอย่างรวดเร็วและกลายเป็นสถานการณ์วิกฤตทั่วโลก มีความเสี่ยงเรื่องการเข้าถึงสถานพยาบาล ค่ารักษาพยาบาล การสูญเสียชีวิตก่อนวัยอันควรโดยเฉพาะท่านที่เป็นกำลังหลักในการหาเลี้ยงครอบครัวหรือดำเนินธุรกิจและทุกชีวิตนั้นย่อมมีค่าเสมอ เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดนี้ขยายผลไปถึงวิกฤตเศรษฐกิจ การชะลอการลงทุน การหยุดการเดินทางของผู้คน การจับจ่ายใช้สอย อันส่งผลโดยตรงถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว รายได้เข้าประเทศ ผลกระทบกับธุรกิจของสายการบิน โรงแรม ห้างร้าน โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ของใช้บางรายการขาดแคลนเป็นอย่างมาก เช่น หน้ากากอนามัยและแอลกอฮอล์ที่จากเคยเป็นของจำเป็นในโรงพยาบาลใช้เฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ เพียงแค่ไม่กี่วันของใช้เหล่านี้ก็กลายเป็นของใช้ที่จำเป็นสำหรับคนทั่วไปเพื่อป้องกันการแพร่และติดเชื้อ ทั้งนี้จำนวนคนว่างงานในประเทศก็มากขึ้นเนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมเติบโตต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งการวางแผนประกันที่ดีนั้นจะเป็นการลดความเสียหายจากความเสี่ยงที่ไม่คาดคิดดังตัวอย่างเหตุการณ์ข้างต้น และปกป้องคุ้มครองตัวเอง ครอบครัวและทรัพย์สินที่เรามี ลดความสูญเสีย ไม่ให้เกิดความเสียหายที่มากจนเกินไป ในบางกรณีผู้ทำประกันยังสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้อย่างเร่งด่วนจากกรมธรรม์ของตนเองได้อย่างง่ายเพื่อนำมาใช้เวลาจำเป็นในสภาวะวิกฤตนี้ได้ วางแผนประกันยิ่งเริ่มได้เร็วยิ่งเป็นประโยชน์กับผู้ทำเอง

 

สุดท้ายนี้สำหรับท่านที่อยากทำประกันชีวิตและสุขภาพเพื่อลดความสูญเสียในรูปแบบต่างๆ ในเหตุการณ์ไม่คาดคิด และความมั่นคงของครอบครัว ไม่รู้ว่าควรจะเริ่มต้นเท่าไรดี หรือท่านที่มีประกันอยู่แล้ว ท่านอาจจะใช้หลักการง่ายๆ ข้างต้นเป็นจุดเริ่มต้น มีการทบทวนสัดส่วนเงินทำประกันและความคุ้มครองของท่านให้เหมาะสมเพื่อตัวท่านเองและคนที่ท่านห่วงใย ประกอบกับการพิจารณาความพร้อมทางการเงินในด้านอื่นๆ เพราะคนเราย่อมมีเป้าหมายทางการเงินหลายเป้าหมาย ความพร้อมของแต่ละท่านก็อาจแตกต่างกัน มีมาก ทำมาก มีน้อย ทำน้อย ดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเลย เมื่อท่านรู้หลักการแล้วลงมือทำก็สามารถทำให้ท่านมีความสามารถในการชำระเบี้ยประกันได้ตลอดสัญญา มีสวัสดิการค่ารักษาและผลประโยชน์จากการทำประกันได้อย่างสุขใจไม่ว่าจะมีเหตุการณ์ใดๆ เกิดขึ้นก็ตาม

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th