บทความ: เกษียณ
เส้นทางเกษียณรวย
โดย คุณวรัญญู เหหาสุข นักวางแผนการเงิน CFP®
เมื่อกล่าวถึงคำว่า “เกษียณรวย” ผมเชื่อว่าสิ่งนี้คือเป้าหมายของหลายๆ ท่าน ซึ่งเส้นทางที่จะบรรลุเป้าหมายนั้น แน่นอนว่าย่อมแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล เพราะแต่ละท่านก็มีต้นทุน โอกาส หรือความต้องการที่แตกต่างกัน ซึ่งในบทความนี้ ผมขอยกตัวอย่างเป็นกรณีนักศึกษาจบใหม่สักคนหนึ่งที่ไม่มีต้นทุนชีวิตใดๆ ติดตัวมา และเพิ่งเริ่มทำงานได้เงินเดือน โดยผมจะประมาณการรายรับและรายจ่ายตลอดช่วงอายุการทำงาน พร้อมทั้งนำเงินที่เหลือจากการใช้จ่ายไปลงทุนต่อเนื่อง เพื่อดูว่าในวันที่เกษียณ นักศึกษาคนนี้จะสามารถ “เกษียณรวย” ได้หรือไม่กันครับ
หากนักศึกษาจบใหม่คนนั้น เริ่มทำงานตอนอายุ 22 ปี โดยได้รับเงินเดือนประมาณ 15,000 บาท มีโบนัสประมาณ 2 เดือนต่อปี มีค่าใช้จ่ายประมาณเดือนละ 12,000 บาท สำหรับค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ โดยค่าใช้จ่ายต่างๆ มีการขึ้นราคาเฉลี่ยร้อยละ 3 ต่อปี และในทุกๆ เดือนจะนำเงินที่เหลือจากการจ่ายภาษีเงินได้ มาเก็บออมโดยนำไปลงทุนทั้งหมด ซึ่งได้ผลตอบแทนประมาณร้อยละ 6 ต่อปี ในช่วงอายุ 22-59 ปี จากที่กล่าวมาหากเป็นไปตามข้อมูลข้างต้น เมื่อเกษียณตอนอายุ 60 ปี จะมีเงินคงเหลือสำหรับเกษียณกว่า 34 ล้านบาท ถ้าใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง ก็คงเรียกได้ว่าเป็นการ “เกษียณรวย” ได้เลยครับ
แต่ในความเป็นจริง ตลอดชีวิตของเรานั้น อาจจำเป็นต้องมีรถยนต์ บ้านหรือคอนโด และอาจจะมีครอบครัว มีลูก หากผมเพิ่มปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ คือ ผ่อนรถยนต์ขนาดเล็กประมาณเดือนละ 10,000 บาท จำนวน 2 คันในชีวิต ผ่อนคอนโดเดือนละ 20,000 บาท จำนวน 1 ห้อง และในตอนอายุ 35 ปี มีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบุตรซึ่งรวมค่าเทอมแล้วเฉลี่ยเดือนละ 8,000 บาท จนบุตรศึกษาจบปริญญาตรี ในกรณีนี้พบว่า เงินที่มีตอนเกษียณจะน้อยกว่าเดิมเกินเท่าตัวครับ คือมีประมาณ 9.8 ล้านบาท ซึ่งหากนำเงินก้อนนี้ไปลงทุนในช่วงเกษียณอายุได้ผลตอบแทนร้อยละ 3 จะส่งผลให้เงินเกษียณก้อนนี้เพียงพอต่อการใช้จ่ายได้จนถึงอายุ 81 ปี แล้วเงินหมดพอดี แต่จากอายุเฉลี่ยประชากรของประเทศไทยมีค่ามากกว่า 82-85 ปี และมีแนวโน้มที่จะมีอายุยืนยาวขึ้น หากเป็นเช่นนี้จะมีเงินใช้พอจนวันสุดท้ายของชีวิตหรือไม่ หากอายุยืนกว่าที่คาดการณ์
จากตัวอย่างข้างต้น เป็นไปได้ไหมที่การใช้ชีวิตในการทำงานเกือบ 40 ปี เราจะไม่มีการซื้อของใช้ฟุ่มเฟือยใดๆ ค่าใช้จ่ายด้านสังคมที่ยังคงเดิมแม้จะมีตำแหน่งงานที่สูงขึ้น หรือมีสุขภาพที่แข็งแรงเหมือนดั่งวันแรกที่เข้าทำงานจนแทบจะไม่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเลย และที่สำคัญคือ ตลอดชีวิตในช่วงทำงานแทบจะไม่มีการท่องเที่ยวใดๆ เลย จากโจทย์เดิม หากผมเพิ่มค่าใช้จ่ายเพื่อเติมความสุขหรือความสนุกในชีวิตเพิ่มเข้าไปที่เดือนละ 2,500 บาท หรือปีละ 30,000 บาท สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ เงินคงเหลือสำหรับเกษียณจะมีประมาณ 3.7 ล้านบาท ซึ่งจะพอใช้จ่ายจนถึงอายุ 67 ปี เท่านั้น และหากมีเรื่องที่ทำให้ต้องใช้เงินเพิ่มขึ้นอีก ไม่ว่าจะเป็น มีภาระครอบครัวที่ต้องดูแล มีบุตรมากกว่า 1 คน มีค่าเทอมบุตรที่สูงกว่าที่คิดไว้ มีค่าซ่อมบำรุงบ้านที่เก่าแล้ว มีค่าประกันสุขภาพหลังการเกษียณ มีอายุที่ยืนยาวกว่าที่คาดการณ์ แล้วอย่างนี้จะ “เกษียณรวย” ได้อย่างไร
จากกรณีศึกษาข้างต้น ผมไม่ได้มีเจตนา ให้ท่านผู้อ่านมองว่าการ “เกษียณรวย” เป็นไปไม่ได้นะครับ เพราะจากการเป็นนักวางแผนการเงิน หรือที่ผมได้ศึกษาจากผู้คนรอบตัว มีคนที่อยู่บนเส้นทางของการเกษียณรวยมากมายครับ ทำไมผู้คนเหล่านั้นถึงทำได้ ซึ่งสิ่งที่ผมพบมีหลากหลายปัจจัยครับ โดยผมขอนำเสนอแก่ท่านผู้อ่านเพียง 2 ข้อ ซึ่งเราสามารถเริ่มต้นได้ด้วยตนเองทันที เพื่อเพิ่มโอกาสของการ “เกษียณรวย” กันครับ มีดังนี้
- พัฒนาตนเองอยู่เสมอ จากกรณีศึกษา หากนักศึกษาจบใหม่คนนั้น หมั่นเรียนรู้ พัฒนาตนเอง พัฒนางานของตน เค้าอาจมีความก้าวหน้าในหน้าที่การงานอย่างก้าวกระโดด การขึ้นเงินเดือนก็จะไม่เป็นอย่างในตัวอย่างที่ผมยกมาข้างต้น ซึ่งก็ยิ่งทำให้สามารถเกษียณรวยได้ง่ายขึ้นครับ และหากเรียนรู้การทำธุรกิจและประสบความสำเร็จ อาจไม่เพียง “เกษียณรวย” แต่อาจเป็น “เกษียณเร็ว” ได้อีกด้วยครับ
- เรียนรู้เรื่องการเงิน การมีความรู้ทางการเงินจะเป็นอีกเครื่องมือที่ช่วยเราในการบริหารจัดการชีวิตได้ครับ ดังตัวอย่างที่ผมกล่าวมา หากมีการวางแผนการเงิน จากเดิมเสียภาษีโดยไม่มีการลดหย่อน ก็วางแผนลดหย่อนโดยซื้อ RMF เต็มสิทธิ และเพิ่มผลตอบแทนของเงินลงทุนในช่วงทำงานเป็นร้อยละ 9 จากร้อยละ 6 ส่วนช่วงอายุ 55-85 ปี ผมประมาณผลตอบแทนของเงินลงทุนเป็นร้อยละ 5 ถ้าสามารถบริหารจัดการเรื่องการเงินแบบนี้ได้ จะส่งผลให้มีเงินคงเหลือสำหรับเกษียณอายุประมาณ 9 ล้านบาท ซึ่งจากผลตอบแทนของเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 5 จากร้อยละ 3 ส่งผลให้มีเงินพอใช้จ่ายจนถึงอายุ 85 ปี ครับ ก็สามารถเรียกได้ว่าพอจะเกษียณได้อย่างสบายใจขึ้น จากที่จะมีเงินพอใช้จ่ายจนถึงอายุ 67 ปี ครับ
สำหรับผมแล้ว หากถามว่าทำไมถึงอยาก “เกษียณรวย” ก็คงตอบได้ว่า เพราะผมอยากมีความสุขในปลายทางของชีวิตครับ แต่คงเป็นการดีกว่า หากเราสามารถใช้ชีวิตให้มีความสุขในปัจจุบันและในเส้นทางของการ “เกษียณรวย” มาเริ่มมี “ความสุข” ที่นี่เดี๋ยวนี้กันนะครับ