logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: เกษียณ

มนุษย์เงินเดือน อยากเกษียณก่อนอายุ 55 ปี ควรเตรียมตัวอย่างไรดี?

โดย คุณสกา เวชมงคลกร นักวางแผนการเงิน CFP®

 

หัวอกคนทำงานประจำ ถ้าเลือกได้ก็คงไม่มีใครอยากทำงานไปจนเกษียณถึงอายุ 60 ปี หลายๆ คน อยากเลือกที่จะ Early Retire มากกว่า บางคนทำได้แต่บางคนก็ทำไม่ได้ ถ้าเราอยากเกษียณอย่างเกษมก่อนเพื่อนๆ เราต้องเตรียมตัวกันอย่างไรดี?

 

“วางแผนให้ดี ชีวิตเปลี่ยน” ประโยคนี้ยังคงเป็นจริงเสมอ หากเราตั้งใจจะเกษียณเมื่ออายุ 55 ปี ให้วางแผนไว้เลยว่าเราจะมีชีวิตอยู่ยาวไปจนถึงอายุกี่ปี เตรียมไว้ยาวสักหน่อยถึงอายุ 85 ปี ให้อุ่นใจแบบไม่ต้องกลัวเงินหมด แล้วเลือกว่าอยากจะมีเงินใช้ต่อเดือนเท่าไหร่ เพื่อให้อยู่แบบสบายๆ เป็นคุณนายหลังเกษียณ

 

เมื่อคิดตัวเลขได้แล้ว ก็นำมาคำนวณหาเงินก้อนที่เหมาะสมเพื่อเป็นเงินตั้งต้นที่ใช้ในการลงทุน จากนั้นก็จัดพอร์ตการลงทุนให้สามารถสร้างผลตอบแทนให้เรา เพื่อให้เรามีเงินใช้จ่ายเมื่อยามที่เราเกษียณอายุ คำนวณสินทรัพย์ทั้งหมดที่จะมีหลังเกษียณให้ออกมาเป็นตัวเลขที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) กองทุนประกันสังคม และเงินชดเชยจากนายจ้าง

 

ในอีกมุมหนึ่ง อาจจะนำเอาเงินออมในปัจจุบันมาสร้างกระแสเงินสดอื่นๆ เพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็น เงินปันผลจากหุ้น บ้านหรือคอนโดให้เช่า ค่าเช่าจากที่ดิน โดยอาจเริ่มจากการออมเงินแบบมีเป้าหมายระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว แล้วนำเงินออมนั้นไปลงทุนซื้อสินทรัพย์ต่างๆ เป็นแหล่งที่มาของรายได้หลังเกษียณ เตรียมกระแสเงินสดไว้ใช้จ่ายตอนเกษียณอายุ จริงๆ แล้วเราแค่คำนวณค่าใช้จ่ายประจำหลังเกษียณของเราจะเป็นเท่าไหร่ แล้วหาแหล่งรายได้ที่สร้างกระแสเงินสดไว้ให้เพียงพอ เท่านี้ก็น่าจะวางแผนเกษียณได้อย่างมีความสุขในบั้นปลายชีวิต แบบไม่ยากเลย

 

นอกจากการคำนวณเงินใช้จ่ายหลังเกษียณแล้ว เราควรเตรียมเงินเพื่อการเกษียณไว้สองก้อน ก้อนแรก เรียกว่า “บำเหน็จ” เป็นเงินก้อน ส่วนก้อนที่สองคล้าย “บำนาญ” คือ มีกระแสเงินสดต่อเดือนไว้ใช้จ่าย แล้วก็ควรเตรียมเงินก้อนอีกส่วนหนึ่ง เป็นเงินสำหรับจ่าย “เบี้ยประกันสุขภาพ” ยามเจ็บป่วยหรือเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น จะได้ ไม่กระทบเงินออมที่เตรียมไว้ใช้เพื่อการเกษียณ อ๋อ! และอย่าลืมวางแผนการลงทุนหลังเกษียณ เพื่อเตรียมเงินมาจ่ายค่าเบี้ยประกันด้วยนะคะ

 

อย่าประมาทกับเรื่องการวางแผนการเกษียณอายุ เพราะมันเป็นเรื่องใกล้ตัว เมื่อเราคิดจะเก็บ บางทีอาจจะสายเกินไป ดังนั้น ออมเงินไว้ ลงทุนเป็น หาแหล่งรายได้ที่เป็นกระเสเงินสดจากสินทรัพย์ที่เรามี น่าจะเป็นคำตอบทำให้มนุษย์เงินเดือนอย่างเราๆ เกษียณได้แบบเร็วไว และได้มีเวลาไปใช้ชีวิตอย่างที่ตัวเองต้องการในบั้นปลายชีวิต อย่างมีความสุขและไม่เดือดร้อนใคร

 

คนเริ่มทำงานอายุ 20-30 ปี อาจคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่คนทำงานประจำอย่างเราๆ ก็ต้องวางแผนการเกษียณกันไว้นะคะ เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแบบสมบูรณ์ เริ่มเก็บออมตั้งแต่วัยหนุ่มสาว ตั้งแต่เริ่มทำงานใหม่ๆ หาเงินได้ ลงทุนเป็น วางเงินให้ถูกที่ เพื่อให้เงินโตขึ้นผ่านการจัดพอร์ตทางการลงทุนที่เหมาะสม ตามความเสี่ยงที่รับได้ในแต่ละช่วงอายุ เพียงเท่านี้เป้าหมายเพื่อการเกษียณอย่างเกษมและมีความสุข ก็เป็นจริงได้แบบง่ายๆ แล้ว

 

อ่านถึงตรงนี้แล้ว อยากชวนให้พวกเรามาลองวางแผนเกษียณกัน อาจใช้เวลาในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ อยู่บ้านหาข้อมูลเพื่อวางแผนการเกษียณฉบับย่อๆ ด้วยตัวเอง เริ่มต้นจากคิดวางแผนไว้เลยว่า ฉันอยากจะใช้เงินหลังเกษียณเดือนละเท่าไหร่? คำนวณเป็นเงินรายปีได้เท่าไหร่? แล้วจะอยู่ไปอีกกี่ปี? เมื่อคำนวณเห็นตัวเลขกลมๆ แล้ว ก็มาวางแผนกันว่าเราจะหากระแสเงินสดจากทางไหน ที่ทำให้อยู่ได้แบบเพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่เราตั้งไว้ อย่างน้อยก็ทำให้เรามีเป้าหมายแล้วว่า เราต้องเก็บเงินเพื่อสร้างสินทรัพย์ เพื่อสร้างกระแสเงินสดจำนวนเท่าไหร่? หรือตระหนักได้ว่า เราในฐานะ “มนุษย์เงินเดือน” ต้องเตรียมเงินเอาไว้เท่าไหร่จึงจะพอใช้หลังเกษียณ ตระหนัก เอาไว้ก่อนตั้งแต่วันนี้ จะได้ไม่ต้อง ตระหนก ในภายภาคหน้านะคะ

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th