logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: ประกันภัย

สถานการณ์ไวรัส COVID-19 กับการ Checklist ประกันด้วยตัวเอง

โดย คุณบุณยนุช ยุทธ์ประทุม นักวางแผนการเงิน CFP®

 

“มีประกันไหม มีความคุ้มครองเท่าไร?” มักจะเป็นคำพูดที่เราได้ยินอยู่บ่อยครั้ง และจะสำคัญมากยิ่งขึ้นเมื่อถึงเวลาเกิดเหตุการณ์เสี่ยงภัยใกล้ตัว เช่นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา มีหลายๆ ท่านได้ถามหาการทำประกันให้มีความคุ้มครองโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 และหลายท่านที่ถือกรมธรรม์เดิมก็มักจะมีคำถามว่า ประกันที่ท่านมีครอบคลุมถึงโรคนี้ด้วยหรือไม่ เพราะการทำประกันเป็นสิ่งจำเป็น แต่ไม่ใช่ของที่ใช้ทุกวันและรายละเอียดของประกันนั้นเยอะไม่น้อยเลยทีเดียว

 

ในการวางแผนการเงินนั้น การตรวจสอบและทบทวนกรมธรรม์ประกันชีวิตและสุขภาพที่มีอยู่ เป็นสิ่งที่ผู้ทำประกันควรต้องทำอย่างสม่ำเสมอเพื่อสรุปดูว่ากรมธรรม์ที่ท่านทำไว้นั้นมีความคุ้มครองเหมาะสมกับสภาวะปัจจุบันมากน้อยเพียงใด กรมธรรม์ที่ท่านทำเพื่อสะสมเงินไว้จะมีเงินคืนให้ในปีไหน และสิทธิประโยชน์กรมธรรม์ในแต่ละเล่มที่ท่านได้รับมีเรื่องใดบ้าง โดยการ Checklist กรมธรรม์ประกันชีวิตและสุขภาพด้วยตัวเอง สามารถทำได้ง่ายๆ ดังนี้

              

 Checklist แรก บัตรประกันอยู่ที่ไหน 

เมื่อท่านทำประกันแล้ว ท่านมักจะได้รับบัตรใบเล็กๆ ขนาดใกล้เคียงบัตรเครดิตหรือบัตรเอทีเอ็มที่สามารถพกไว้ในกระเป๋าสตางค์ไว้เพื่อติดต่อเรื่องประกัน โดยมีข้อมูลหลักที่สำคัญหน้าบัตรคือ ชื่อ-นามสกุลของท่านที่ตัวอักษรต้องสะกดเหมือนกับบัตรประชาชน ชื่อบริษัทประกัน เลขที่กรมธรรม์ ประเภทกรมธรรม์ บางบัตรยังเพิ่มส่วนสรุปความคุ้มครองแบบย่อ โดยเฉพาะประกันที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพที่แสดงวงเงินค่ารักษาบางรายการไว้ ประโยชน์ของบัตรใบน้อยนี้คือ ท่านสามารถยื่นบัตรให้เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องในการประสานงานเกี่ยวกับประกันของท่าน เป็นการทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้ง่ายขึ้น

 

 Checklist ข้อสอง เคยตรวจสอบข้อมูลเมื่อได้รับเล่มกรมธรรม์หรือไม่ 

อีกส่วนที่ผู้ทำประกันได้รับคือ เล่มกรมธรรม์ที่แสดงรายละเอียดของประกันที่ท่านทำไว้ โดยข้อมูลสรุปที่สำคัญของกรมธรรม์จะอยู่ที่หน้าแรก ซึ่งในที่นี้ผู้เขียนจะแบ่งเป็นสองส่วนคือ ส่วนแรกเป็นข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับชื่อ-นามสกุลของท่าน ชื่อบริษัทประกัน แบบประกัน จำนวนทุนที่ทำไว้ เลขที่กรมธรรม์ วันที่ของกรมธรรม์ วันสัญญา วันครบสัญญา และอายุที่เริ่มทำสัญญาฉบับนี้ ส่วนที่สองของหน้าแรกเป็นส่วนของชื่อแบบประกัน จำนวนเงินเอาประกัน เบี้ยประกัน และจำนวนปีที่ต้องชำระเบี้ยประกัน หากท่านมีสัญญาเพิ่มเติมต่างๆ ข้อมูลส่วนนี้ก็จะปรากฏไว้ตรงนี้ด้วย เช่น สัญญาเพิ่มเติมกรณีอุบัติเหตุ โรคร้ายแรง การยกเว้นเบี้ยประกัน ค่ารักษาพยาบาล และผลประโยชน์ผู้ชำระเบี้ยในกรณีที่ท่านชำระเบี้ยให้กับบุตร

 

 Checklist ข้อสาม วงเงินความคุ้มครองมีเท่าไร 

ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญมากส่วนหนึ่งว่าท่านมีความคุ้มครองอยู่เท่าไร ในส่วนนี้เรายังคงอยู่ที่หน้าแรกของเล่มกรมธรรม์ โดยท่านสามารถดูสรุปวงเงินความคุ้มครองได้จากจำนวนเงินเอาประกันที่แสดงถัดจากแบบประกันและสัญญาเพิ่มเติมต่างๆ ถึงตรงนี้ท่านที่มีกรมธรรม์หลายเล่มก็สามารถสร้างตารางในไฟล์ Excel “ตารางแบบประกันและความคุ้มครอง” โดยใส่ข้อมูลต่างๆ ทั้งส่วนแรกและส่วนสองของกรมธรรม์หน้าแรก เพื่อทำการสรุปและรวบรวมให้เห็นความคุ้มครองต่างๆ ทั้งหมดของทุกเล่มกรมธรรม์ที่ท่านมีได้ง่ายขึ้น

 

 Checklist ข้อสี่ มีเงินเก็บเพื่อใช้ในวันข้างหน้ามากน้อยเพียงใด 

Checklist ข้อนี้เหมาะกับประกันที่เป็นแบบออมทรัพย์และบำนาญ เนื่องจากประกันทั้งสองแบบจะมีเงินคืนและเงินบำนาญตามสัญญา ข้อมูลส่วนนี้จะอยู่ที่หน้าประมาณกลางๆ ของเล่มกรมธรรม์ในหัวข้อที่เรียกว่าข้อกำหนดการจ่ายผลประโยชน์ - ในกรณีมีชีวิตอยู่ สำหรับการจ่ายเงินคืนรายงวด เงินครบสัญญา เงินปันผลตามกรมธรรม์ หรือช่วงรับเงินบำนาญ ท่านที่มีกรมธรรม์หลายเล่มสามารถสร้างไฟล์ Excel “ตารางสรุปเงินคืนและบำนาญ” โดยเทียบอายุของท่านหรือปี พ.ศ. ตลอดสัญญากับจำนวนเงินที่จะได้รับจากกรมธรรม์แต่ละเล่ม หรือท่านอาจจะเรียกตารางนี้ว่า “ตารางกระแสเงินไหลเข้า (Cash Inflows)” ให้ชื่นใจกับเงินที่จะได้รับเพื่อใช้ในอนาคตก็ได้

 

 Checklist ข้อห้า ความคุ้มครองเวลาเจ็บป่วยมีหรือไม่ 

ข้อนี้สำหรับผู้ทำประกันที่ทำสัญญาเพิ่มเติม ข้อมูลในแต่ละหมวดมักจะอยู่กลางเล่มกรมธรรม์ ในหัวข้อที่เรียกว่าสัญญาเพิ่มเติมผลประโยชน์ ซึ่งท่านอาจจะทำไฟล์ Excel เป็นตารางรวบรวม “สรุปรายละเอียดความคุ้มครองเวลาเจ็บป่วย” จากกรมธรรม์ทุกเล่มที่ท่านมี เช่นในหมวดสัญญาเพิ่มเติมค่ารักษาพยาบาลที่แสดงค่าห้อง ค่าอาหารและบริการพยาบาลต่อวัน ค่าแพทย์ตรวจรักษาในโรงพยาบาลต่อวัน ค่าผ่าตัดต่อครั้ง ค่ารักษาพยาบาลอื่นๆ ต่อครั้ง เงินชดเชยจากการเจ็บป่วยโรคร้ายแรงต่าง และข้อยกเว้นว่าไม่คุ้มครองโรคใดบ้าง ซึ่งแน่นอนว่าโรคไวรัส COVID-19 เป็นชื่อโรคใหม่ การได้รับความคุ้มครองโรคนี้นั้นอาจอยู่ในรูปของค่ารักษาพยาบาลที่โรงพยาบาล  เงินชดเชยจากโรคร้ายในระยะรุนแรงหรือจากเสียชีวิต ตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์

 

เพียงท่านทำ Checklist ทั้ง 5 ข้อนี้ก็จะเป็นการสรุปประกันชีวิตและสุขภาพที่ท่านมีทั้งหมดและวางแผนประกันในส่วนที่ท่านจำเป็นต้องมีให้รอบคอบมากขึ้นได้ นอกจากนี้ท่านยังสามารถมีความมั่นใจในใช้ประโยชน์จากการทำประกันได้อย่างเต็มที่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเงินคืน เงินบำนาญ ทุนประกันชีวิต และสวัสดิการค่ารักษาโรคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 หรือโรคใหม่ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคตด้วย

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th