บทความ: ลงทุน
ทองคำกับการจัดสรรเงินลงทุน
โดย คุณธนพงษ์ เอื้อสมิทธ์ นักวางแผนการเงิน CFP®
สถานการณ์ความไม่แน่นอนต่าง ๆ ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 ไม่ว่าจะเป็น ข้อพิพาทระหว่างสหรัฐอเมริกากับอิหร่านตามมาด้วยการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้บรรดานักลงทุนพยายามแสวงหาสินทรัพย์ปลอดภัยเพื่อลดความผันผวน รวมถึงลดผลขาดทุนจากการลงทุน พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ถือว่าเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ปลอดภัยที่ได้รับความนิยม แต่ทว่าผลจากการใช้นโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลาย การลดดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจทำให้ดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ลดต่ำลง (ณ วันที่ 6 มีนาคม 2563 10Y Bond Yield อยู่ที่ 0.8229%) นอกจากพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐแล้ว ยังมีอีกหนึ่งสินทรัพย์ที่นักลงทุนให้ความสนใจในช่วงที่มีความไม่แน่นอนเกิดขึ้น นั่นคือ ทองคำ
“ทองคำ” ซึ่งเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ประเภทโลหะมีค่า กล่าวคือทองคำนั้นมีมูลค่าและผู้คนให้ความเชื่อถือ ธนาคารกลางของแต่ละประเทศให้การยอมรับโดยใช้เป็นส่วนหนึ่งของทุนสำรองระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตามราคาทองคำในช่วงหลายปีที่ผ่านมาผันผวนไปตามปัจจัยต่างๆ เช่น ค่าเงินดอลลาร์ เงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ตัวเลขทางเศรษฐกิจ รวมถึงความไม่แน่นอนในสถานการณ์ความไม่สงบต่างๆ จะเห็นได้ว่ามีหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาทองคำ จนไม่สามารถชี้ชัดได้ว่า ราคาทองคำขึ้นอยู่กับปัจจัยใดเป็นหลัก ดังนั้น ดอลลาร์อ่อน ทองคำขึ้น หรือ เงินเฟ้อสูง ทองคำขึ้น ไม่เป็นจริงเสมอไป
ที่มา : https://www.macrotrends.net/1335/dollar-vs-gold-comparison-last-ten-years
กราฟ ความสัมพันธ์ระหว่าง ราคาทองคำ (สีฟ้า แกนซ้าย) กับค่าเงินดอลลาร์ (สีส้ม แกนขวา)
ความเชื่อที่ว่าทองคำถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในมุมมองของผลตอบแทนมีความผันผวนต่ำ หากพิจารณาราคาทองคำ หลังจากวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์คลี่คลายลง ราคาทองคำได้ปรับตัวลงอย่างมากจากราคาสูงสุดที่ 1,920 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ในปี ค.ศ. 2011 ลงมาสู่ระดับต่ำสุดที่ 1,046 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ในปี ค.ศ. 2015 (คิดเป็นการขาดทุนประมาณ 45% หรือมูลค่าเงินลงทุนหายไปเกือบครึ่งหนึ่ง) เนื่องจากความเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีนักลงทุนเข้ามาเก็งกำไรร่วมด้วย ในประเทศไทย ทาง ก.ล.ต.ได้กำหนดให้กองทุนรวมที่มีการลงทุนในทองคำเป็นกองทุนรวมที่มีความเสี่ยงสูงระดับ 8 ในฐานะเป็นการลงทุนโดยเฉพาะเจาะจงเพียงบางหมวด
นอกจากนี้สำหรับการลงทุนระยะยาวนักลงทุนบางท่านมองว่าทองคำนั้นเป็นสินทรัพย์ที่ “ไม่งอกเงย” กล่าวคือ หากมีการลงทุนในทองคำแท่ง เมื่อเวลาผ่านไปทองคำแท่งก็ยังคงมีปริมาณเท่าเดิม ไม่มีการเพิ่มจำนวน เติบโต หรือจ่ายเงินปันผล มีเพียงแค่ส่วนต่างราคาที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น การลงทุนในทองคำจึงไม่เหมาะกับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ต่ำ และต้องการผลตอบแทนสม่ำเสมอ ดังนั้นสำหรับการจัดสรรเงินลงทุนระยะยาว หากต้องการลงทุนทองเพื่อเป็นการบริหารความเสี่ยงพอร์ตการลงทุนผ่านช่วงวิกฤติ ควรมีทองคำไม่เกิน 5-10% ของมูลค่าพอร์ตการลงทุนทั้งหมด
ผู้ลงทุนสามารถเลือกลงทุนผ่านกองทุนรวมที่ลงทุนในทองคำ เนื่องจากใช้เงินลงทุนไม่มาก และมีสภาพคล่องในการซื้อขาย อย่างไรก็ตามผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลรายละเอียดของกองทุนว่ามีการลงทุนในทองคำแท่ง หรือ ลงทุนผ่านกองทุนที่มีการลงทุนในทองคำ SPDR Gold Trust ของสิงคโปร์ มีการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนหรือไม่ นอกจากนี้ผู้ลงทุนควรพิจารณาลงทุนทองคำเป็นส่วนหนึ่งของพอร์ตการลงทุนระยะยาวให้สอดคล้องกับเป้าหมายทางการเงินอีกด้วย