บทความ: ประกันภัย
เลือกประกันให้อุ่นใจเมื่อภัย COVID-19 มา
โดย คุณสรฐัช สุงาม นักวางแผนการเงิน CFP®
เคยสงสัยกันไหมว่า ทำไมช่วงที่ผ่านมา ทุกคนสนใจทำประกัน COVID-19 ทั้งแบบตรวจพบแล้วจ่าย และแบบได้ค่าชดเชยเมื่อเข้ารักษาตัว นั่นอาจเป็นเพราะโรคนี้ดูใกล้ตัวและรุนแรงเมื่อเกิดขึ้นกับเรา ประกอบกับบริษัทประกันได้ออกผลิตภัณฑ์ที่คุ้มครองเกี่ยวกับโรคนี้โดยเฉพาะ อีกทั้งเบี้ยประกันไม่แพง ทำให้หลายๆ คนสนใจและตัดสินใจซื้อประกันดังกล่าว แต่ถ้าเราลองย้อนกลับมาสำรวจตัวเอง เราอาจพบว่าไม่ใช่แค่ประกันที่คุ้มครอง COVID-19 เท่านั้น แต่ประกันสุขภาพที่คุ้มครองการรักษาเมื่อเข้าโรงพยาบาล ประกันอุบัติเหตุ หรือประกันชีวิต ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นไม่แพ้กัน
ประกันถือเป็นเครื่องมือทางการเงินชนิดหนึ่งที่สามารถบริหารความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับเรา และส่งผลให้เงินหรือทรัพย์สินของเราลดลงหรือสูญเสียไป เช่น การเจ็บป่วย เสียชีวิต ประสบอุบัติเหตุ หรือทุพพลภาพการซื้อประกันถือเป็นการบริหารความเสี่ยงในความเสียหายจากเหตุการณ์ไม่คาดฝันดังกล่าว แต่ข้อจำกัดอย่างหนึ่งในการซื้อประกันคือ อายุ และสุขภาพของผู้ทำประกัน ประกันบางแบบจำกัดการซื้อที่บางอายุ เช่น ประกันบำนาญ สามารถเริ่มสมัครทำประกันได้ไม่เกินอายุ 59 ปี หรือประกันสุขภาพ ไม่เกินอายุ 65 ปี ทำให้การเลือกซื้อประกันต้องพิจารณาอายุที่จะเริ่มทำด้วย อีกประการหนึ่งคือ สุขภาพของผู้สมัครซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดในการทำประกัน สุขภาพของเราต่างกับรถยนต์หรือสิ่งปลูกสร้างที่สามารถหาอะไหล่มาทดแทนได้เพื่อให้สามารถใช้งานได้ต่อไป แต่มนุษย์ยังมีข้อจำกัดเรื่องนี้ ทำให้การซื้อประกันสำหรับคนที่สุขภาพร่างกายไม่แข็งแรง หรือมีโรคบางอย่างก่อนสมัครทำประกัน ไม่สามารถทำประกันได้
“การซื้อประกัน โดยเฉพาะประกันสุขภาพ และโรคร้ายแรง ควรซื้อเมื่อเรายังมีสุขภาพดีเพื่อให้บริษัทประกันคุ้มครองเราได้ครอบคลุมตามเงื่อนไขทั้งหมด”
ผมขอย้อนกลับมาเรื่องกระแสการซื้อประกัน COVID-19 ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า ถ้าเราได้ซื้อประกันดังกล่าวไป และในอนาคตเราตรวจพบเชื้อ COVID-19 สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปคือ เราสามารถเคลมประกัน COVID-19 ที่ซื้อไปแล้วได้ ไม่ว่าจะได้รับเป็นเงินก้อน หรือได้ค่าชดเชย หรือค่ารักษาพยาบาลตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นถัดมาคือ ถ้าไม่เคยซื้อประกันสุขภาพอื่นมาก่อนเลย แล้วในอนาคตคิดจะซื้อ บริษัทประกันอาจยกเว้นไม่คุ้มครองโรคเกี่ยวกับปอด เนื่องจากไวรัสไปทำความเสียหายให้กับปอด ซึ่งตัวเรามีประวัติ หรือความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นอีกได้ในอนาคต บริษัทประกันย่อมพิจารณาเรื่องนี้และส่งผลถึงความคุ้มครองที่จะได้รับ
ดังนั้น เราลองสำรวจตัวเองก่อนว่าสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของเราครอบคลุมถึงความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นครบถ้วนหรือยัง ถ้ายัง เราควรพิจารณาก่อนว่าจะรับความเสี่ยงไว้เอง หรือจะซื้อประกันเพื่อโอนความเสี่ยงในส่วนนี้ออกไป การซื้อประกันสุขภาพเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากโรคหลายๆ ชนิดย่อมดีกว่าการซื้อเพื่อป้องกันโรคเพียงโรคเดียว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับงบประมาณของเราด้วยว่ามีความสามารถในการชำระเบี้ยประกันได้เท่าไรต่อปี โดยมีหลักเบื้องต้นในการชำระเบี้ยอยู่ที่ประมาณ 10% ของรายได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับรายได้และค่าใช้จ่ายของแต่ละคนด้วย
สำหรับคนที่ประกอบอาชีพอิสระ หรือฟรีแลนซ์ การทำประกันชดเชยรายได้ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ควรพิจารณา เมื่อเราไม่สามารถทำงานได้ หรือขาดรายได้ไป การมีประกันชดเชยรายได้ก็จะช่วยบรรเทาความเสียหายในด้านนี้ สุดท้ายคือประกันทุพพลภาพ ซึ่งเหมาะกับคนโสด หรือคนที่ไม่มีภาระใดๆ และผู้ประกอบอาชีพอิสระ เนื่องจากเป็นผู้หารายได้ด้วยตนเอง และไม่มีภาระ ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการไม่สามารถทำงานเพื่อหารายได้ เนื่องจากทุพพลภาพซึ่งทำให้ไม่สามารถสร้างรายได้อย่างถาวร การทำประกันทุพพลภาพก็จะช่วยลดความเสี่ยงในด้านนี้ได้ ทำให้มีเงินส่วนหนึ่งไว้ดูแลผู้ทำประกันยามขาดรายได้
การพิจารณาซื้อประกันสำหรับตัวเองควรดูจากปัจจัยหลายๆ อย่าง แต่ที่สำคัญที่สุดคือเราต้องวิเคราะห์ความเสี่ยงทางด้านชีวิตและสุขภาพของเราออกมาให้ได้เสียก่อนว่าถ้าเกิดเหตุการณ์บางอย่างขึ้น จะกระทบต่อการเงินของเรามากแค่ไหน เป็นจำนวนเงินประมาณกี่บาท แล้วเราจึงกำหนดวิธีการบริหารความเสี่ยงดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมเงินเอาไว้เอง (self insurance) หรือการซื้อประกันเพื่อลดความเสี่ยงทางการเงินที่จะเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ไม่คาดฝัน การซื้อประกันให้เหมาะสมกับความเสี่ยงเป็นสิ่งที่ควรทำ และเราควรต้องปรับให้เหมาะสมกับช่วงชีวิตของเราเสมอ เช่น หลังแต่งงาน มีลูก เราอาจจะต้องซื้อประกันชีวิตเพิ่มตามภาระที่เพิ่มขึ้น หรือซื้อประกันสุขภาพเพิ่มขึ้นเมื่อคิดว่าค่าใช้จ่ายในการรักษาตัวเมื่อเข้าโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น หรือสวัสดิการของบริษัทในด้านสุขภาพไม่เพียงพอต่อความต้องการของเรา ไม่ควรซื้อหรือทำประกันเพียงเพราะคนอื่นทำ หรือชวนให้ทำ แต่ไม่ตรงกับความต้องการ หรือความเสี่ยงที่เรามีอยู่ เพราะจะกลายเป็นการซื้อประกันเกินตัว (over insure) ส่งผลให้มีเงินเหลือเพื่อนำไปออมหรือลงทุนเพื่อเป้าหมายในอนาคตลดลงไป สุดท้าย คุณสามารถหาที่ปรึกษาหรือรับคำแนะนำเรื่องการประเมินความเสี่ยงเพื่อเลือกซื้อประกันได้จากนักวางแผนการเงินที่ได้รับการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ CFP® ได้เพื่อได้รับข้อมูล และคำแนะนำที่สามารถช่วยให้ตัดสินใจได้ดียิ่งขึ้น หวังว่าบทความนี้จะสามารถช่วยให้ทุกคนเลือกซื้อประกันได้ตามที่ตัวเองต้องการได้ดีขึ้น และเราจะผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกันครับ