logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: เกษียณ

5 แนวโน้มการเกษียณที่เปลี่ยนไป...เรามีทางเลือก (ทางรอด) อย่างไรบ้าง

โดย คุณธชธร สมใจวงษ์ นักวางแผนการเงิน CFP®

 

เมื่อคนอเมริกันประมาณ 2,000 คน ถูกตั้งคำถามว่า คุณอยากจะใช้เวลาของคุณอย่างไรแต่ละวันในช่วงหลังเกษียณ ผลการสำรวจระบุว่า พวกเขาต้องการใช้เวลาสำหรับสังสรรค์กับเพื่อนฝูง พักผ่อนตามอัธยาศัย ทำงานอดิเรก อย่างละ 2-3 ชม. การดูโทรทัศน์หรือสื่อบันเทิงทางอินเตอร์เน็ต และการออกไปทานอาหารนอกบ้านอย่างละ 1-2 ชม. และการนอน 7-8 ชม. (ที่มาจาก Provision Living: Senior Living Communities)

 

แต่ด้วยสภาพสังคมความเป็นอยู่ในปัจจุบัน ขนาดของครอบครัวเล็กลง ผู้คนแต่งงานช้าลง รวมถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทั้งในด้านการแพทย์ที่ทำให้ผู้คนอายุยืนยาว และสามารถดูแลสุขภาพของตนเองได้ดียิ่งขึ้น ส่งผลให้แนวโน้มการเกษียณในชีวิตจริงแตกต่างไปจากการเกษียณในอุดมคติที่หลายคนคิด

 

จากการศึกษาเกี่ยวกับการเกษียณในชีวิตจริงของคนอเมริกัน ที่เกิดขึ้นในปี 2019 มีแนวโน้มที่น่าสนใจ ประกอบด้วย

 

 1. การเกษียณไม่ใช่การหยุดทำงาน 

 

วอร์เรน บัฟเฟต์ ต้นแบบนักลงทุนเชิงเน้นคุณค่า มหาเศรษฐีของโลกในวัยกว่า 80 ปีได้ให้สัมภาษณ์ว่า “เขาไม่เคยมีความคิดที่จะเกษียณและหยุดทำงานเลย ตรงกันข้ามเขาให้คำแนะนำให้คนหนุ่มสาวค้นหางานที่ทำให้ตนเองมีความสุข เปรียบเหมือนกับการได้เต้นรำทุกครั้งที่เข้าที่ทำงาน”

 

ผู้เกษียณอายุไม่จำเป็นที่จะหยุดอยู่กับบ้านเฉยๆ การเกษียณเป็นเพียงการเป็นสิ้นสุดจากงานประจำ แต่เป็นจุดเริ่มต้นในการมีอิสระในการเลือกทำงานที่มีคุณค่าต่อสังคม โดยไม่มีเงินเป็นข้อจำกัด ไม่ว่าจะเป็นการทำงานช่วยเหลือภาคสังคม งานอดิเรก การทำธุรกิจ การแบ่งปันความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ทำงาน การเป็นที่ปรึกษาธุรกิจ การทำงานจะสร้างคุณค่าให้กับผู้เกษียณอายุมีความสุขในการใช้ชีวิต และหมายถึง ‘การมีรายได้’ เข้ามาอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย ลดการใช้เงินก้อนที่เตรียมไว้ ทำให้เพิ่มโอกาสการใช้เงินได้อย่างเพียงพอตลอดชีวิต นั่นหมายถึง การเตรียมพร้อมเรื่องการหาอาชีพเสริมเป็นทางเลือกเพิ่มเติมตั้งแต่ในวัยทำงาน

 

 2. วางแผนการเกษียณแบ่งเป็นช่วง 

 

เราอาจจะคุ้นชินกับการกำหนดวันเกษียณที่ตายตัว กำหนดวันทำงานวันสุดท้าย มีการจัดงานเลี้ยงอำลา และวันรุ่งขึ้นไม่ต้องมาทำงานแล้ว แต่ในความเป็นจริงหลายองค์กรอาจประสบปัญหาการสรรหาผู้สืบทอดตำแหน่งได้ไม่ทันเวลา จากปัญหา Aging Workforce จึงมีความเป็นไปได้ที่มีการยืดอายุการเกษียณออกไป รวมถึงการกำหนดแผนเกษียณเป็นช่วง อาจจะเป็นลักษณะการค่อยๆ ลดเวลาการทำงานลง จัดสรรเวลาสำหรับการถ่ายทอด มอบหมายงาน รวมถึงการให้คำปรึกษาหรือเป็นพี่เลี้ยง สิ่งดังกล่าวจะช่วยยืดระยะเวลาการหารายได้ออกไปด้วย

 

 3. การย้ายถิ่นฐานภูมิลำเนา 

 

ค่าครองชีพในแต่ละสถานที่แตกต่างกันไป มีรายงานว่าจำนวนคนอเมริกันที่ย้ายถิ่นที่อยู่ไปใช้เวลาหลังเกษียณในต่างประเทศมีจำนวนเพิ่มขึ้นสูงถึง 17% ระหว่างปี ค.ศ. 2010-2015 การย้ายภูมิลำเนาไปยังต่างประเทศที่มีค่าครองชีพต่ำกว่าช่วยให้สามารถรักษาระดับมาตรฐานการดำรงชีพให้ไม่น้อยไปกว่าเดิม สำหรับในเมืองไทยก็สามารถประยุกต์ใช้หลักการเดียวกันสำหรับการย้ายภูมิลำเนาไปจังหวัดอื่นเช่นกัน จากข้อมูลของสำนักสถิติแห่งชาติเกี่ยวกับค่าเฉลี่ยรายจ่ายต่อครัวเรือนตามจังหวัดต่างๆ ในปี 2558 พบว่า กรุงเทพมหานคร มีค่าเฉลี่ยรายจ่ายครัวเรือนต่อเดือนสูงที่สุดที่ 33,086 บาท ส่วนจังหวัดอื่นๆ มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับกรุงเทพมหานคร เช่น ประจวบคีรีขันธ์ 21, 268 บาท (ต่ำกว่าอยู่ 36%) นครราชสีมา 18,645 บาท (ต่ำกว่าอยู่ 44%) เชียงใหม่ 11, 864 บาท (ต่ำกว่าอยู่ 65%) ซึ่งหมายถึงค่าใช้จ่ายหลังเกษียณที่ประหยัดไปได้พอสมควร อย่างไรก็ตามต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการย้ายถิ่นฐานภูมิลำเนาด้วย เช่น ที่อยู่อาศัย ค่าขนส่งต่างๆ รวมถึงค่าใช้จ่ายด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในการชีวิตประจำวัน

 

 4. วางแผนค่ารักษาพยาบาล 

 

สำนักงานอัตราเบี้ยประกันวินาศภัย รายงานเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยนอกของไทยเพิ่มขึ้นทุกปี และเพิ่มในอัตราที่สูงกว่าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมาตั้งแต่ปี 2557 โดยเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 9% (โดยในปี 2559 เพิ่มขึ้นถึง 10.8%) ในขณะที่ทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเพิ่มขึ้น 7.3-7.9% อัตราเงินเฟ้อค่ารักษาพยาบาลดังกล่าว ส่งผลให้ค่ารักษาพยาบาลจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าภายในระยะเวลาประมาณ 8 ปี ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่ต้องวางแผนเตรียมค่ารักษาพยาบาลไว้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการเกษียณ ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมวางแผนเก็บสำรองเงินไว้เพื่อชำระค่ารักษาพยาบาลในอนาคตด้วยตนเอง หรือ การทำประกันสุขภาพ

 

 5. การใช้ที่อยู่อาศัยร่วมกัน 

 

การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุทำให้เกิดธุรกิจแบบใหม่ เช่นการบริการที่พักอาศัยที่ถูกออกแบบเพื่อความปลอดภัยและให้บริการสำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะ มีการจัดสรรพื้นที่พักผ่อนซึ่งเป็นส่วนตัว กับการใช้งานพื้นที่ทำกิจกรรมต่างๆ และพื้นที่ส่วนกลางร่วมกัน มีการจัดกิจกรรมสันทนาการต่างๆ และมีเจ้าหน้าที่พยาบาลประจำอยู่ตลอดเพื่อดูแลความปลอดภัยและสุขภาพ รวมถึงการที่ผู้สูงอายุที่มีความรู้จักคุ้นเคยกันรวมกลุ่มและอยู่อาศัยร่วมกันเพื่อลดค่าใช้จ่ายต่อคน

 

การวางแผนออกแบบทางเลือกชีวิตหลังเกษียณของตนเองไว้ล่วงหน้า จะเพิ่มโอกาสที่จะทำสำเร็จได้ตามแผน และได้ใช้เวลาดูแลสิ่งต่างๆ ที่สำคัญในชีวิตอย่างสมดุล เพื่อเติมเต็มความสุขในการใช้ชีวิต

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th