logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: ประกันภัย

สร้างความมั่นคงในชีวิตด้วยประกัน

โดย คุณสุมิตรา อภิรัตน์ นักวางแผนการเงิน CFP®

 

หากพูดถึงความมั่นคงในชีวิต ทุกคนคงอยากให้ตัวเองและครอบครัวมีความมั่นคง ปลอดภัยในชีวิต มีความสุข และดำเนินชีวิตเป็นไปตามที่เราได้กำหนดและวางแผนไว้ แต่สิ่งที่เราไม่ได้คาดคิดอาจเกิดขึ้นได้เสมอ ซึ่งไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร และจะกระทบกับแผนอนาคตที่วางไว้มากน้อยเพียงใด นั่นคือความเสี่ยงที่ทำให้ชีวิตเราไม่มั่นคง ดังนั้น สิ่งที่ทุกคนควรวางแผนเผื่อไว้ในอนาคตคือ ต้องมีแผนสำรองไว้หากเกิดอะไรขึ้นในชีวิต รวมทั้งการจัดการกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น เพื่อช่วยให้เราและครอบครัวสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างที่ตั้งใจไว้ จึงเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะมาทำความรู้จักกับวิธีการตอบสนองหรือจัดการความเสี่ยงเพื่อวางแผนสำรองให้กับชีวิตของเราและครอบครัวที่เรารักกันค่ะ

 

วิธีการตอบสนองหรือจัดการความเสี่ยงที่นิยมใช้โดยทั่วไปมี 4 วิธีดังนี้

  1. การหลีกเลี่ยงความเสี่ยง เช่น กลัวเสียชีวิตจากเครื่องบินตก ก็หลีกเลี่ยงความเสี่ยงโดยไม่โดยสารเครื่องบินเลย
  2. การลดความเสี่ยง เช่น กลัวจะเป็นโรคร้ายแรง ก็ลดความเสี่ยงโดยการทำให้ร่างกายแข็งแรงเพื่อลดการเจ็บป่วย
  3. การรับความเสี่ยงไว้เอง เช่น เก็บเงินให้เพียงพอสำหรับค่ารักษาพยาบาลที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
  4. การโอนความเสี่ยง เช่น ทำประกันสุขภาพ เพื่อโอนความเสี่ยงให้บริษัทประกันจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้แทน

สำหรับการวางแผนสำรองในชีวิตนั้น แต่ละคนสามารถมีแนวทางในการเลือกการตอบสนองหรือจัดการกับความเสี่ยงแตกต่างกันไป ซึ่งต้องวางแผนให้ครอบคลุมครบทุกด้านในแต่ละเรื่องว่าเราจะใช้วิธีการใดในการจัดการกับความเสี่ยงนั้นยกตัวอย่างเช่น

 

 หมวดเรื่องสุขภาพ 

ความเสี่ยงมีตั้งแต่การเจ็บป่วยแบบเล็กน้อยไปจนถึงการเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรง ซึ่งค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลจะแตกต่างกัน ทั้งนี้ การเจ็บป่วยแบบเล็กน้อย อาจเลือกวิธีการรับความเสี่ยงไว้เอง เพราะมีความสามารถเพียงพอในการเก็บเงินจ่ายค่ารักษาพยาบาล แต่ถ้าเป็นการเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรง อาจเลือกวิธีการโอนความเสี่ยง เพราะถ้าป่วยเป็นโรคร้ายแรงแล้ว ค่ารักษาพยาบาลมักสูงมาก จนไม่สามารถเก็บเงินได้เองเพียงพอ จึงต้องทำประกันโรคร้ายแรงไว้ โดยจ่ายค่าเบี้ยประกันเพื่อแลกกับการชดเชยความเสี่ยง ซึ่งช่วยให้มั่นใจได้ว่ามีบริษัทประกันจ่ายค่ารักษาพยาบาลแทนเรา

 

 หมวดเรื่องเกษียณ 

ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น คือ เงินไม่พอใช้หลังเกษียณ ดังนั้น ลองคำนวณว่า ณ วันเกษียณ เราต้องมีเงินเตรียมไว้เท่าไรที่จะเพียงพอกับค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ เพื่อวางแผนเก็บออมเงิน หรือเลือกวิธีการโอนความเสี่ยงโดยทำประกันชีวิตแบบบำนาญ เพื่อแลกกับความมั่นใจว่าจะได้รับเงินบำนาญอย่างสม่ำเสมอ เสมือนยังมีรายได้ให้ใช้จ่ายหลังเกษียณ

 

 หมวดเรื่องเสียชีวิตก่อนวัยอันควร 

ความเสี่ยงที่ครอบครัวอาจได้รับผลกระทบจากการสูญเสียรายได้ของเสาหลักครอบครัว ค่าใช้จ่ายจัดงานศพ รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการศึกษาของบุตร โดยผู้ที่เป็นเสาหลักครอบครัวอาจเลือกวิธีการโอนความเสี่ยงด้วยการทำประกันชีวิตแบบตลอดชีพ เพื่อมั่นใจว่า หากเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นกับตัวเอง ครอบครัวหรือคนที่รักจะมีเงินใช้จ่ายเพียงพอและสามารถปรับตัวใช้ชีวิตต่อไปได้

 

จากที่ยกตัวอย่างมาในแต่ละหมวด จะทำให้เราเห็นภาพในการวางแผนชีวิตได้มากขึ้น และรู้จักวิธีการจัดการกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้ ซึ่งสิ่งสำคัญในการวางแผนเรื่องความมั่นคงในชีวิตนั้น เราสามารถวางแผนได้โดยเลือกการจัดการความเสี่ยงด้วยวิธีการโอนความเสี่ยงให้กับบริษัทประกัน เพื่อมั่นใจได้ว่าหากเกิดความเสี่ยงอะไรขึ้น อย่างน้อยก็มีเงินทุนประกันช่วยทำให้ชีวิตของเราและครอบครัวยังคงเดินต่อไปได้ ดังนั้น อยากชวนทุกคนมาเริ่มต้นวางแผนชีวิต และจัดการกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นเพื่อทำให้เรามีความมั่นคงในชีวิตกันค่ะ

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th